ทำลายความสุข โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ภาพภายในสนามบินนานาชาติซาเวนเต็มในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่มีการส่งต่อในกลุ่มพนักงานสายการบินไทย

เครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) แห่งสหประชาชาติ เผยรายงานดัชนีความสุขของโลกประจำปี 2559

ดัชนีความสุขดังกล่าวนี้เริ่มจัดอันดับเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2555 ประเมินจากข้อมูลที่เก็บในช่วง 3 ปี อย่างดัชนีล่าสุดนี้เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2556-2558

เกณฑ์การวัดค่าความสุขของประชากรในแต่ละประเทศ จาก 6 ปัจจัย คือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี การสนับสนุนทางสังคม อายุเฉลี่ยของประชากร เสรีภาพทางสังคม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น

ปีนี้ เดนมาร์กขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก สวิตเซอร์แลนด์ แชมป์เก่าขยับลงมาที่ 2 ส่วนอันดับ 3 คือไอซ์แลนด์ อันดับ 4 นอร์เวย์ และอันดับ 5 ฟินแลนด์

Advertisement

เกือบทั้งหมดอยู่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เป็นฝั่งยุโรปเหนือติดมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนสวิตเซอร์แลนด์อยู่ตอนกลาง ทั้งยังเป็นประเทศเป็นกลาง

มาแต่ไหนแต่ไร

กลุ่มประเทศมีความสุขท็อปไฟว์เหล่านี้ล้วนเป็นประเทศประชาธิปไตย ฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาสลับกันเป็นรัฐบาล มีแนวทางชัดเจนในเรื่องสิทธิเสรีภาพ

Advertisement

แต่ในจำนวนนี้ก็ใช่ว่าจะสงบเงียบเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเหตุก่อการร้ายอันสะเทือนขวัญ

นอร์เวย์เคยเกิดเหตุสังหารหมู่ 77 ศพ ที่ไม่คาดคิด 2554 โดยผู้ก่อการคนเดียวที่มีแนวคิดขวาสุดขั้ว สภาพจิตใจไม่ปกติ คือไม่มีความรู้สึกถึงการทำลายล้างที่ตนเองก่อขึ้น ถ้าเทียบง่ายๆ กับวัฒนธรรมบ้านเรา คือไม่มีความละอายหรือสำนึกในบาปที่ก่อขึ้น

ส่วนเดนมาร์ก ประเทศที่ขึ้นแท่นมีความสุขที่สุด เมื่อปีที่แล้ว หลังจากกรุงปารีสของฝรั่งเศสเพิ่งเกิดเหตุสังหารหมู่ที่กองบรรณาธิการชาร์ลี เอบโด ได้ไม่นาน ในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. มีคนร้ายกราดยิงใส่ร้านกาแฟที่กรุงโคเปนเฮเกน ขณะจัดเสวนาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการดูหมิ่นศาสนา

ในเหตุการณ์นี้มีเหยื่อเสียชีวิต 2 ราย ส่วนคนร้ายถูกวิสามัญฯ แม้ความสูญเสียไม่มากเท่าที่ปารีส แต่ก็บ่งบอกว่าความรุนแรงเกิดขึ้นได้แม้แต่ในประเทศสงบสุข

กรณีของเบลเยียม ประเทศที่มีความสุขอันดับที่ 17 ของโลก เพิ่งเกิดเหตุก่อการร้ายสะเทือนขวัญที่สนามบินและสถานีรถไฟในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันอังคารที่ 22 มี.ค.

หลังจากมีสัญญาณบ่งบอกมาพักใหญ่ นับตั้งแต่เกิดเหตุสังหารหมู่ 130 ศพ ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เมื่อปลายปีก่อน เมื่อคนร้ายส่วนหนึ่งหนีเข้ามาในเบลเยียม

ทางการใช้เวลาล่าตัวมานานกระทั่งเพิ่งจับกุมสมาชิกคนสำคัญได้เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งเพิ่มระดับระวังภัยการก่อการร้ายแล้ว แต่ก็ไม่พ้นจนได้

เบลเยียมเป็นประเทศเล็กๆ ในยุโรป แต่มีความใหญ่ตรงที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป หรืออียู ฉะนั้น การปองร้ายเบลเยียมจึงอาจเป็นสัญลักษณ์ของการทำร้ายยุโรปโดยรวม

ผู้นำชาติสมาชิกบางประเทศระบุเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่การต่อต้านยุโรปที่เป็นประเทศเท่านั้น แต่หมายรวมถึงประชาธิปไตยของยุโรปด้วย

เหตุการณ์ก่อการร้ายที่ชาติยุโรปประสบพบมาทั้งหมดนี้จึงดูเหมือนจะพุ่งเข้าเป้าหมายที่ต้องการทำลายความสุขที่ยุโรปมีอยู่

แต่ถึงอย่างไรยุโรปคงไม่ทิ้งประชาธิปไตยเพราะต้องการมีความสุข หรือความสงบสุขอย่างปลอมๆ แน่นอน เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่านั่นไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image