ทางออกของวิกฤตการศึกษาไทย ภายใต้การใช้อำนาจตาม ม.44 ของ คสช. โดยดิเรก พรสีมา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมเสวนาทางวิชาการของสภาครูแห่งประเทศไทยโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเสวนาประมาณ 100 คนเศษ ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียนและครูสังกัด สพฐ. เป็นส่วนใหญ่ หลายท่านเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่เกินกว่าครึ่งยังอยู่ระหว่างการรับราชการ บางคนเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการการศึกษาระดับจังหวัด หลายคนเป็น อกศจ. และบางคนเป็นอนุกรรมการ กคศ. ระดับประเทศ

ผู้เข้าร่วมเสวนาหลายคนได้เสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจและสอดคล้องกับหลักวิชา และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศจึงขอนำบางประเด็นมาแลกเปลี่ยนกับหลายท่านที่ไม่ได้เข้าร่วมเสวนาดังนี้

ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็น อกศจ.ด้วย กล่าวว่า การบริหารการศึกษาระดับจังหวัดวันนี้เปรียบเหมือนเป็นเวทีมวยซึ่งมีทั้งมุมแดงและมุมน้ำเงิน ศึกษาธิการจังหวัดทำหน้าที่เสมือนเป็นนักมวยมุมแดง ส่วนกลุ่ม ผอ.เขตพื้นที่ทั้งหลายทำตัวเสมือนเป็นนักมวยมุมน้ำเงิน ส่วนข้าราชการในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ทำหน้าที่เป็นกองเชียร์และพี่เลี้ยงให้แก่นักมวยของตน นอกจากนั้นทั้งศึกษาธิการจังหวัดและ
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังไปดึงเอาผู้บริหารโรงเรียนและครูมาร่วมเป็นพี่เลี้ยงและกองเชียร์เพิ่มขึ้นมาอีก แต่ละฝ่ายจึงมีกองเชียร์เพิ่มขึ้นๆ และพยายามที่จะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือมวยคู่นี้จะชกกันต่อไปอีกกี่ยก จะเพิ่มความแตกแยกระหว่างสองมุมไปมากกว่าเดิมหรือไม่ก็ไม่รู้

ก่อนการประกาศใช้คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 และคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ศึกษาธิการจังหวัดและ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาต่างเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กัน เพราะต่างคนต่างก็เคยเป็น ผอ.เขตพื้นที่การศึกษามาด้วยกัน ไปประชุมสัมนา ดูงาน ประชุมปฏิบัติการมาด้วยกัน รับประทานอาหารมาด้วยกัน นั่งรถไปไหนมาด้วยกัน มีอะไรก็พึ่งพาอาศัยกัน บุคลากรทางการศึกษาที่ทำงานในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดต่างก็เคยทำงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามาเป็นส่วนใหญ่ แต่วันนี้ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19/2560 ได้ส่งผลให้เกิดความแตกแยกในหน่วยงานทางการศึกษาในภูมิภาคขึ้นแล้ว

Advertisement

ที่สำคัญ ความแตกแยกไม่ได้จำกัดอยู่ที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเพียงน้อยยนิด อกคศ.วิสามัญเกี่ยวกับการติดตามการบริหารงานบุคคลของ กคศ.ท่านหนึ่งกล่าวว่า ท่านได้ไปติดตามการบริหารงานบุคคลใน 38 จังหวัด มีเพียง 1 จังหวัดเท่านั้น ที่ไม่ความแตกแยกรุนแรง

อกศจ.ท่านหนึ่งกล่าวว่า นับแต่มีการประกาศตั้ง อกศจ.ในจังหวัดขึ้นมา 3 คณะ คือ 1) อกศจ.ด้านการบริหารงานบุคคล 2) อกศจ.ด้านการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ และ 3) อกศจ.เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ปรากฏว่า อกศจ.ที่มีการประชุมไปแล้วมีเพียง อกศจ.เดียว คือ อกศจ.ด้านการบริหารงานบุคคล ส่วน อกศจ.อีก 2 คณะยังไม่มีการประชุมเลย แล้วการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แถมเวลาประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน อกศจ.ก็จะอยู่ในที่ประชุมได้เพียงไม่กี่นาทีแล้วก็ต้องไปปฏิบัติภารกิจด้านอื่นๆ ของจังหวัด ฟังแล้วก็ยิ่งวังเวงครับ

ยังมีข้อเท็จจริงอีกเป็นจำนวนมากที่ก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อระบบการบริหารและคุณภาพการศึกษาของเยาวชนไทย แต่คงไม่สามารถนำมาถ่ายทอดได้หมดบนพื้นที่ที่จำกัดในวันนี้

Advertisement

ผู้เขียนขอนำเสนอข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ได้จากการวิจัยโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ของธนาคารโลกที่ทำวิจัยไปเมื่อปี พ.ศ.2554 และของยูเนสโกที่รวบรวมข้อมูลไปเมื่อปี พ.ศ.2558 พบข้อเท็จจริงที่ตรงกันทั้งสองหน่วยงานว่าคุณภาพการศึกษา (คุณภาพของนักเรียน) ของประเทศใดประเทศหนึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรที่สำคัญอยู่ 2 ตัวแปรคือ ครูและผู้บริหารโรงเรียนซึ่งแยกเป็นตัวแปรย่อยๆ ต่อไปได้อีกเป็น 8 ตัวแปรคือ (1) การกำหนดความคาดหวังเกี่ยวกับสิ่งที่โรงเรียนต้องการให้ครูปฏิบัติให้ชัดเจน (2) เลือกเอาคนดีที่สุด เก่งที่สุดของประเทศมาเป็นครู (3) ให้ความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่แก่นักศึกษาครู (4) ให้ครูสอนตรงตามวิชาเอกที่เขาถนัด (5) สรรหา แต่งตั้งและพัฒนาผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำสูงให้แก่โรงเรียน (6) ติดตามและประเมินการทำหน้าที่ของครูและการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นระยะ (7) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูสามารถยกระดับคุณภาพการสอนของตนให้สูงขึ้นอยู่เสมอ และ (8) จูงใจให้ครูทุ่มเท อุทิศตนและเสียสละให้กับการเรียนการสอน ประเทศที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาสูงๆ เช่น ฟินแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เชี่ยงไฮ้ ออนทาริโอ ล้วนแต่ดำเนินการเกี่ยวกับตัวแปรทั้ง 8 ตัวได้ในระดับสูง ส่วนประเทศที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาต่ำก็จะเป็นประเทศที่ดำเนินการตามตัวแปรทั้ง 8 ตัวข้างต้นได้ในระดับต่ำเป็นส่วนใหญ่

ทำอย่างไรจึงจะหาคนดีที่สุด เก่งที่สุดมาเป็นนักศึกษาครู ประสบการณ์ของฟินแลนด์ และประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงเหล่านี้ กระจายอำนาจการจัดการเรียนการสอนให้แก่ครูอย่างแท้จริง กระทรวงศึกษาธิการจะไม่ไปสั่งครู่ให้ทำอย่างโน้น ให้สอนอย่างนี้ ให้นำโครงการนั้นมาปฏิบัติที่ห้องเรียนหรือที่โรงเรียนของคุณสิ โครงการทั้งหลายที่ครูนำมาปฏิบัติที่โรงเรียนหรือในห้องเรียนล้วนแต่เป็นโครงการที่ครูคิดขึ้น เขากระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้แก่ครู และเมื่อไปถามนักเรียน ม.6 ของฟินแลนด์ว่าทำไมเลือกเรียนครู ไม่ไปเลือกเรียนแพทย์ ก็จะได้คำตอบคล้ายๆ กันว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีอิสระ เขาสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของเขาได้ด้วยตนเอง เป็นอาชีพที่มีเกียรติ คนฟินแลนด์เคารพ
ยกย่อง

เมื่อไปถามผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา ก็จะได้ข้อมูลว่าเขาจะไม่คัดเลือกคนที่ไม่มีประสบการณ์ในการสอนมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน ยิ่งไปกว่านั้น นับแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา เขาจะไม่ยอมให้คนที่ไม่มีประสบการณ์ในการสอนในโรงเรียนมา
บริหารหน่วยงานทางการศึกษาระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศโดยเด็ดขาด ผู้บริหารโรงเรียนของเขาจึงเก่ง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียน และโดยเฉพาะการทำงานของครู และการที่คนที่ทำงานในหน่วยงานทางการศึกษาระดับต่างๆ เคยผ่านการทำงานที่โรงเรียนมาแล้ว คนเหล่านี้จึงเข้าใจหัวอกครู มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นอย่างดี เขาจะไม่คิดโครงการโน่นนี่ให้ครูทำ

หันกลับมาดูประเทศไทย จากการสำรวจออนไลน์ของ สพฐ.กับครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์กว่า 78,000 คน เมื่อปี พ.ศ.2558 พบว่า ครูไทยประมาณ 65.56% ใช้เวลาไปกับการทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนโดยตรง เป็นต้นว่าไปอบรมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการที่ส่วนกลางเป็นคนคิดขึ้น เมื่อเข้าใจแล้ว ก็นำมาวางแผน นำไปสู่การปฏิบัติ ต้อนรับคนที่มาติดตามโครงการ ทำรายงานสรุปผลประจำปีส่งไปยังส่วนกลาง ถ้าปีหนึ่งมีโครงการที่ส่วนกลางคิดให้โรงเรียนปฏิบัติเพียง 9 หรือ 10 โครงการก็คงไม่เป็นอะไรมาก แต่ปรากฏว่าในปี พ.ศ.2558 มีโครงการที่โรงเรียนต้องปฏิบัติตามที่ส่วนกลางมอบหมายมามากถึง 76 โครงการ เป็นต้นว่า โรงเรียนสีขาว โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนอาเซียน โรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนสะเต็มศึกษา ห้องเรียนอัจฉริยะ โรงเรียนปลอดแม่วัยใส โครงการ BBL โรงเรียนปลอดสารเสพติด โรงเรียนดีประจำอำเภอ โรงรียนดีประจำตำบล โรงเรียนในฝัน โรงเรียน ERIC ฯลฯ บางครั้งโรงเรียนยังจำไม่ได้ว่าตนเองมีโครงการที่ต้องดำเนินการอะไรบ้าง บางโครงการมารู้เรื่องก็ตอนที่ถูกทวงถามให้ส่งรายงานประจำปี ผู้อำนวยการโรงเรียนบางคนถึงกับลงทุนจ้างครูอัตราจ้างเพื่อให้ไปอบรมและรับรู้เกี่ยวกับโครงการใหม่ๆ ที่ส่วนกลางคิดขึ้นโดยเฉพาะ ไม่เช่นนั้นครูจริงก็จะไม่มีเวลาทำการสอนเด็ก การที่ครูส่วนใหญ่ตอบว่าเขาใช้เวลากว่า 65.56% ไปทำภารกิจอย่างอื่นที่ไม่ใช่ภารกิจด้านการสอนโดยตรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ความสามารถในการแข่งขันทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็น ONET, PISA, or TIMSS ของเด็กไทยจะต่ำกว่าเด็กจากประเทศอื่น ยกเว้นว่าเราจะไปบังคับให้ สสวท.ไปสุ่มเอาเด็กจากโรงเรียนยอดนิยมมาสอบแทนเด็กทั่วไปคงจะเป็นไปได้

จากข้อมูล โดยเฉพาะข้อเสนอแนะที่ได้จากการเสวนา ผู้เขียนจึงใคร่ขอของขวัญเนื่องในงานวันครูปีนี้ให้แก่ครู สัก 3-4 ข้อดังนี้

1.ให้กระจายอำนาจทั้ง 4 ด้านคือด้านวิชาการ บริหารงานบุคคล งบประมาณ และบริหารทั่วไปให้สถานศึกษาอย่างแท้จริง ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ให้ครูมีอิสระในการสอน ให้ครูและโรงเรียนคิดโครงการเอง สอนเอง อย่าให้รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง เลขาธิการ ผอ. สำนัก ศึกษานิเทศก์ หรือบุคคลอื่นๆ จากส่วนกลาง สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือเขตพื้นที่การศึกษาคิดโครงการให้ ซึ่งการที่จะทำอย่างนี้ได้ ต้องให้สถานศึกษามี อกคศ.ของสถานศึกษาเอง ส่วนสถานศึกษาขนาดเล็ก และไม่สามารถยุบรวมได้ ก็กำหนดหลักเกณฑ์ให้สถานศึกษาเหล่านั้นใช้ อกคศ.สถานศึกษาร่วมกันได้ สำคัญที่สุด การที่จะทำอย่างนี้ได้ แน่นอน หัวหน้า คสช.ต้องประกาศยกเลิก คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19/2560 เพื่อขจัดนักมวยมุมแดงมุมน้ำเงินและกองเชียร์ได้ ปล่อยทิ้งไว้ จนให้เลือกตั้งเสร็จ มีรัฐบาลใหม่ จะยกเลิกคำสั่ง คสช. ต้องใช้อำนาจสภาผู้แทนนะครับ เพราะคำสั่ง คสช. เป็นกฎหมายระดับสูงครับ

2.รัฐบาลต้องหาครูดี ครูเก่งให้โรงเรียน ต้องทำให้นักศึกษาครูและครูมีคุณภาพสูง มีกระบวนการผลิตครูที่มีมาตรฐานสูง ใช้เวลาในการผลิตเทียบเคียงได้กับเวลาที่ใช้ในการผลิตแพทย์ เพราะนักศึกษาที่ดีๆ และเก่งๆ ของประเทศชั้นนำทั้งหลายเลือกเรียนครูเพราะเขาเห็นว่าเป็นวิชาที่ใช้เวลายาวนานในการศึกษา เวลาที่ใช้ในการเรียนครูเทียบเคียงได้กับการเรียนแพทย์ ช่วยให้เขาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง (professional) ได้ ส่วนการทำให้ครูในปัจจุบันเก่ง ก็อาจใช้วิธีการที่มหานครเชี่ยงไฮ้ใช้ได้ผลมาแล้วมาใช้กับการพัฒนา
ครูของไทย

3.ให้ครูมีอิสระในการจัดการเรียนการสอน อย่าให้ส่วนกลางคิดโครงการแทนครู

4.รัฐบาลต้องหาผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำสูงให้โรงเรียน ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการสอนในโรงเรียนและประสบความสำเร็จทางการสอนมาก่อน ก่อนให้บริหารโรงเรียน ต้องอบรมภาวะผู้นำและกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารงานโรงเรียยนทั้ง 4 ด้านจนเกิดความเชี่ยวชาญ ต้องไม่ให้คนที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานที่โรงเรียนมาบริหารโรงเรียน หน่วยงานทางการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการครับ เหมือนอย่างที่ฟินแลนด์และประเทศชั้นนำทั้งหลายทำสำเร็จมาแล้ว

5.ดำเนินการให้โรงเรียนบริหารโดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาล ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางไกลที่ประเทศใช้อยู่ปัจจุบัน เราไม่ต้องไปตามจับทุจริตเอง ให้ทุกโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษาเปิดเผยข้อมูลการบริหารทั้ง 4 ด้าน ให้ใครๆ ก็เข้าถึงข้อมูลของโรงเรียนได้ (เป็น public access) ให้คนในองค์กรและประชาชนทั่วไปทุกคนตรวจสอบได้ ย่อมได้ผลดีกว่าให้รัฐมนตรีไปตามจับทุจริตรายวัน

ขอแค่นี้ก่อนครับ ผู้เขียนเชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะมอบของขวัญเหล่านี้ให้แก่ครูในงานวันครูปีนี้ได้ และผู้เขียน เชื่อว่าถ้าท่านนายกให้ของขวัญเหล่านี้แก่ครูได้ เลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ส.ส.คนใด หรือพรรคการเมืองพรรคใดสนับสนุนให้ ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ครูเขาจะเลือก ส.ส.คนนั้น หรือสังกัดพรรคนั้นแหละครับ

ดิเรก พรสีมา
อดีตประธานกรรมการคุรุสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image