ทำไมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องใหญ่? : ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ข้อถกเถียงกันเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยซึ่งคงที่มาเป็นเวลาสี่ปีแล้วสำหรับคนทำงานระดับล่างส่วนใหญ่ของประเทศ พบว่ายังวนเวียนในประเด็นเดิมๆ เช่นว่า ค่าจ้างของคนทำงานระดับล่างไม่ควรเพิ่มมากเพราะธุรกิจจะอยู่ไม่ได้ ความสามารถแข่งขันจะลดลง เศรษฐกิจจะเสียหาย ข้อถกเถียงนี้สะท้อนแนวคิดเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ ที่เชื่อว่าค่าจ้างต่ำดีต่อเศรษฐกิจเพราะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มกำไร เพิ่มการลงทุน เป็นผลดีต่อความเติบโตของเศรษฐกิจ

แต่นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ได้พิสูจน์แล้วว่าแนวความคิดนี้ล้าสมัย และอาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยไม่อาจหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของคนหมู่มาก และลดช่องว่างรวย-จนได้เป็นที่น่าพอใจ

อธิบายได้ดังนี้ ข้อเสนอค่าจ้างต่ำนั้นใช้สำหรับคนทำงานประเภททักษะน้อยเท่านั้น ขณะที่คนงานนั่งโต๊ะระดับผู้จัดการและนักวิชาชีพสามารถต่อรองเพิ่มค่าจ้างให้ตัวเองได้พรวดๆ (เช่น กลุ่มธนาคารและธุรกิจการเงิน) จนถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าจ่ายค่าจ้างให้ตัวเองมากเกินไปเพราะว่าตัวเขาเองนั่นแหละเป็นผู้กำหนดค่าจ้างและโบนัสของตนเองทั้งสิ้น และปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่สถานภาพและแรงต่อรองของสหภาพคนงานทั่วๆ ไปถูกทำให้ลดลงหรือหมดบทบาทไปเลย

ผลลัพธ์สำคัญคือช่องว่างระหว่างคนทำงานโรงงานกับคนทำงานนั่งโต๊ะประเภทวิชาชีพทิ้งห่างจากกันจนกู่ไม่กลับ และไม่สามารถอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล นอกเสียจากเรื่องของความไม่เป็นธรรมที่โยงกับโครงสร้างอำนาจที่ลักลั่นแต่ถูกทำให้เป็นเรื่องชอบธรรม

Advertisement

นักเศรษฐศาสตร์ได้ใช้แบบจำลองของ Rehn-Meidner (เรียกตามชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนสองคนที่คิดแบบจำลองนี้) วิเคราะห์ให้เห็นผลลบของความเหลื่อมล้ำสูง ในเศรษฐกิจเหลื่อมล้ำสูงนักธุรกิจใช้เทคโนโลยีต่ำ จ้างคนงานที่ไม่ต้องมีทักษะอะไรมาก จ่ายค่าจ้างถูกกว่าคนงานทักษะสูงในโรงงานไฮเทคไปเรื่อยๆ เมื่อหาจ้างในประเทศไม่ได้ก็ขยับไปดึงคนงานอพยพจากที่อื่นที่ค่าแรงยังถูกมาใช้ต่อไป

ยิ่งทำเช่นนี้ได้นานเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ช่องว่างรายได้เพิ่มสูงขึ้นต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคืออุตสาหกรรมโลว์เทค ยังทำกำไรให้กับเจ้าของอยู่ได้ โดยไม่ต้องลงทุนในไฮเทคใหม่ๆ ที่ทันสมัย ดังนั้นผลิตภาพ (productivity) ของเศรษฐกิจจึงต่ำ มาตรฐานการครองชีพก็ต่ำไปด้วยสำหรับคนทำงานส่วนใหญ่ของประเทศ

Advertisement

จะออกจากสภาพไม่พึงประสงค์เช่นนี้ได้อย่างไร คำตอบคือหาทางบังคับให้เจ้าของโรงงานเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจให้สูงขึ้นโดยการอัพเกรดสู่เทคโนโลยีไฮเทค ลงทุนในนวัตกรรม จ้างคนทำงานมีทักษะสูงและเพิ่มรายได้ของพวกเขา กระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนี้จะลดความเหลื่อมล้ำลงได้ในที่สุด แนวทางหนึ่งที่ทำได้คือเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของคนทำงานระดับล่าง

ค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้นทำให้โรงงานที่ยังใช้โลว์เทคอยู่ไม่ได้ ต้องปิดกิจการ จึงเปิดโอกาสให้คนงานย้ายไปโรงงานอื่นที่ไฮเทคกว่า ถ้าหากรัฐบาลลงทุนฝึกอบรมเพิ่มทักษะคนทำงานเหล่านี้พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนสร้างสาธารณูปโภค ระบบโลจิสติกต่างๆ และระบบการประกันสังคมและสวัสดิการที่จำเป็นรวมทั้งเงินชดเชยการว่างงาน โครงการเหล่านี้จะเพิ่มดีมานด์ในระบบเศรษฐกิจโดยรวม เจ้าของบริษัทที่ใช้ไฮเทคทำกำไรได้สูง จึงสามารถขยายกิจการ เพิ่มการลงทุน และจ้างคนทำงานที่ขณะนี้มีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นจากโครงการปรับทักษะ ทำให้ระดับผลิตภาพของประเทศโดยรวมเพิ่มขึ้นได้ ส่งผลยกมาตรฐานการครองชีพของผู้คนในท้ายที่สุด ในระบบเศรษฐกิจเปิด โรงงานไฮเทคสามารถขยายการส่งออกไปต่างประเทศ

ส่งผลให้รายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้นต่อไป

นักเศรษฐศาสตร์บางคนโต้แย้งว่า รัฐบาลควรมุ่งไปที่เพิ่มผลิตภาพโดยไม่ต้องเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แต่นโยบายเช่นนั้นมักไม่ได้ผล นักธุรกิจจะต้องถูกบังคับให้อัพเกรดโดยลงทุนในเทคโนโลยีที่ดีกว่า และใช้คนงานทักษะสูงกว่า

โดยสรุปค่าจ้างขั้นต่ำสูงในสถาณการณ์ที่เหมาะสมด้านนโยบายที่เกี่ยวโยง สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้แก่คนหมู่มากและลดความเหลื่อมล้ำลงได้ แต่ต้องมีนโยบายอื่นประกอบด้วยเป็นแพคเกจไปพร้อมกันได้แก่ นโยบายเพิ่มทักษะ ระบบเครดิตที่เหมาะสมสำหรับนักธุรกิจที่ประสงค์จะลงทุนเพื่ออัพเกรดสู่ไฮเทค รัฐต้องลงทุนด้านสาธารณูปโภค การประกันสังคมและสวัสดิดาร สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก

นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนต้นคิดแบบจำลอง Rehn-Meidner เสนอทฤษฎีของเขาต่อรัฐบาลสวีเดนเมื่อทศวรรษ 2490 ซึ่งรัฐบาลก็ได้รับไปปฏิบัติ เมื่อถึงทศวรรษ 2530 สวีเดนประสบความสำเร็จเป็นประเทศที่มีรายได้และมาตรฐานการครองชีพสูง และมีความเสมอหน้าสูงแห่งหนึ่งของโลก สิงคโปร์เป็นอีกแห่งที่ใช้ยุทธศาสตร์นี้อัพเกรดตนเองให้เป็นเศรษฐกิจไฮเทค ในช่วงปี 2522-27 และประสบความสำเร็จอย่างงาม
หัวใจของยุทธศาสตร์นี้คือ รัฐบาลผลักดันให้เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเท่าเทียม โดยมุ่งใช้ทรัพยาการมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มศักยภาพของบุคคล เป็นวิธีเพิ่มขีดแข่งขัน ส่งผลให้เศรษฐกิจปลดปล่อยตนเองจากกับดักเทคโนโลยีต่ำและและรายได้ต่ำ

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในแนวที่กล่าวมาจะเป็นไปได้ เมื่อรัฐบาลพร้อมที่จะรับยุทธศาสตร์ใหม่นี้อย่างจริงจัง นอกจากจะต้องลดภาษีให้กับบริษัทที่ลงทุนไฮเทค ยังต้องต้องกัดฟันปฏิรูประบบภาษีทรัพย์สินเพื่อหารายได้มาใช้ในนโยบายฝึกอบรมเพิ่มทักษะคนงาน สร้างสาธารณูปโภค และระบบประกันสังคมที่เหมาะสม รวมทั้งอุดหนุนธุรกิจขนาดย่อมทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรที่ต้องใช้เวลาเพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์นี้จะไม่สำเร็จหากดำเนินนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแบบโดดๆ โดยไม่ทำอย่างอื่นที่เกื้อกูลกันดังที่กล่าวมา

นักธุรกิจที่ต่อต้านการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ คิดแต่เพียงความอยู่รอดของตัวเองในระยะสั้น เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่บางคนต่อต้านเพราะเชื่อในทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ที่ให้ตลาดเสรีเท่านั้นเป็นกลไกที่กำหนดค่าจ้าง ขอย้ำว่าความเชื่อนี้ล้าสมัยแล้ว เศรษฐกิจโลกและเทคโนโลยีอยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลงแบบขนานใหญ่และเร็วมาก เศรษฐกิจไทยได้พัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ถูกแช่แข็งและอยู่ในสภาพโกลาหล ปัจจุบันมีการตั้งเป้าให้ไทยเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้สโลแกน ไทยแลนด์ 4.0 แต่ในเรื่องค่าจ้างคนทำงานส่วนใหญ่ของประเทศอาจจะยังอยู่ที่ 0.4 จึงต้องการความคิดใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ที่ท้าทาย การยึดติดกับความเป็นเศรษฐกิจค่าจ้างต่ำเพื่อเพิ่มขีดแข่งขันไม่น่าจะใช้ได้ผลอีกต่อไป

ประสบการณ์ของไทยเองในช่วงปี 2555-56 ก็เป็นบทเรียน เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นจาก 177 เป็น 300 บาท มีเสียงต่อต้านมากและพยากรณ์ว่าเงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลออก เศรษฐกิจไทยจะหยุดชะงัก แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

อนึ่งการศึกษาดูประสบการณ์ของประเทศอื่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องเอาอย่างแบบเดียวกันเสมอไป แต่มีประโยชน์ เนื่องจากช่วยเปิดมิติมุมมองให้เห็นความเป็นไปได้ของทางเลือกนโยบายต่างๆ ได้กว้างขวางขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image