เมฆโปร่งแสง vs เมฆทึบแสง : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

คุณผู้อ่านเคยเห็นเมฆที่แผ่คลุมบดบังดวงอาทิตย์ (หรือดวงจันทร์) แต่ยังคงยอมให้
แสงอาทิตย์ (หรือแสงจันทร์) ทะลุผ่านไหมครับ ลักษณะแบบนี้แสดงว่าเมฆยังไม่หนามากนักจึงโปร่งแสง จัดว่าเป็นพันธุ์ที่เรียกว่าแทรนส์ลูซิดัส (translucidus)
คำว่า translucidus เป็นภาษาละติน แปลว่า “โปร่งแสง” มาจากคำว่า trans หมายถึง ทะลุผ่าน และ lucidus หมายถึง ส่องแสง ในภาษาอังกฤษมีคำว่า translucent แปลว่า โปร่งแสง ซึ่งหมายถึงยอมให้แสงผ่านแบบกระจกฝ้า คือไม่เห็นรายละเอียดชัดเจน ต่างจาก transparent ซึ่งแปลว่า โปรงใส เหมือนกระจกใสไร้รอยขีดข่วน
“เมฆโปร่งแสง” เกิดได้ในเมฆ 4 สกุล แบ่งเป็น 2 ระดับอย่างนี้ครับ

☐เมฆระดับกลาง 2 สกุล ได้แก่ แอลโตคิวมูลัส แทรนส์ลูซิดัส (Altocumulus translucidus) และแอลโตสเตรตัส แทรนส์ลูซิดัส (Altostratus translucidus) ดูภาพที่ 1 และ 2 ครับ

☐เมฆระดับต่ำ 2 สกุล ได้แก่ สเตรโตคิวมูลัส แทรนส์ลูซิดัส (Stratocumulus translucidus) และสเตรตัส แทรนส์ลูซิดัส (Stratus translucidus) ดูภาพที่ 3 และ 4 ครับ

ภาพที่ 1 : Altocumulus translucidus
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ
ภาพที่ 2 : Altostratus translucidus
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ
ภาพที่ 3 : Stratocumulus translucidus
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ
ภาพที่ 4 : Stratus translucidus
ที่มา : http://lowcyburz.pl/2015/10/21/kilka-slow-o-jesiennym-zachmurzeniu/

แง่มุมหนึ่งที่น่ารู้ก็คือ เนื่องจากเมฆพันธุ์แทรนส์ลูซิดัสยอมให้แสงทะลุผ่านได้ ดังนั้น บางครั้งหากเงื่อนไขทางกายภาพเหมาะสม ก็อาจเกิดปรากฏการณ์ทางแสงเป็นของแถมมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นออรีโอล (aureole) โคโรนา (corona) หรือเมฆสีรุ้ง (iridescent clouds)
เมื่อมีเมฆโปร่งแสงได้ ก็ย่อมมี “เมฆทึบแสง” ด้วยเช่นกัน ลักษณะทึบแสงจัดเป็นอีกพันธุ์หนึ่ง เรียกว่าโอเพคัส (opacus) คำว่า opacus เป็นภาษาละติน แปลว่า “มืดครึ้ม” ลองนึกถึงคำภาษาอังกฤษคือ opaque ที่แปลว่าทึบแสง ก็ได้ครับ
“เมฆทึบแสง” เกิดได้ในเมฆ 4 สกุล แบ่งเป็น 2 ระดับเหมือนกัน “เมฆโปร่งแสง” เป๊ะ นั่นคือแอลโตคิวมูลัส โอเพคัส (Altocumulus) แอลโตสเตรตัส โอเพคัส (Altostratus opacus) สเตรโตคิวมูลัส โอเพคัส (Stratocumulus opacus) และสเตรตัส โอเพคัส (Stratus opacus) ดูตัวอย่างเมฆทึบแสงแต่ละสกุลได้ในภาพที่ 5 ครับ

Advertisement
ภาพที่ 5 : เมฆพันธุ์โอเพคัส
ซ้ายบน : Altocumulus opacus ขวาบน : Altostratus opacus
ซ้ายล่า : Stratocumulus opacus ขวาล่าง : Stratus opacus

ได้รู้จักชื่อเมฆอย่างเป็นระบบมากขึ้นแล้ว เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะอยากทยอยเก็บเมฆเข้าคอลเล็กชั่นส่วนตัวกันบ้าง ถ้ายังไม่มี เริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลยครับ!


ขุมทรัพย์ทางปัญญา

ขอแนะนำคลังภาพเมฆ Clouds Online
ที่ http://www.clouds-online.com/


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image