รากฐาน ความคิด ประชาธิปไตย ไทยนิยม กับ “อาจารย์เสริฐ”

การโหมกระแส “ประชาธิปไตยไทยนิยม” จากวันเด็กแห่งชาติที่ทำเนียบรัฐบาล ไปยังการลงพื้นที่พบชนเผ่าที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เป้าหมายเพื่อให้ “ติดตลาด”

หากสังเกตการเน้นย้ำรูปประโยคระหว่าง “ประชาธิปไตยไทยนิยม” อย่างใกล้เคียงกับรูปคำแห่ง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

คล้ายจะเป็นการต่อยอดจากยุค “พรรคสหประชาไทย”

Advertisement

กระนั้น หากโยงสายยาวไปยังคำปราศรัยของ สี จิ้นผิง ว่าด้วย ประชาธิปไตยอันมี “เอกลักษณ์จีน” ก็สามารถมอง

เห็นฐานที่มาแห่ง “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ได้

ยิ่งเมื่อคำนึงถึงสร้อย “ประชาธิปไตย” ว่าคือ “ไทยนิยม”

Advertisement

ยิ่งไม่เพียงแต่มองเห็นอาคาร “ไทยนิยม” ริมถนนราชดำเนินอันก่อเกิดขึ้นในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม หากแต่ยังมีกลิ่นอายอันมาจาก “พรรคเสรีมนังคศิลา”

เท่ากับ 3 ประสาน 3 แหล่งที่มา

คําว่า “ไทยนิยม” อาจสัมพันธ์กับค่านิยม 12 ประการในยุค “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย”

ขณะที่ “เอกลักษณ์จีน” โยงไปยังการผงาดขึ้นของ “จีนใหม่”

กลิ่นอายของความสัมพันธ์อันผ่านมาจาก นายวิษณุ เครืองาม ระคนเคล้ากับที่ผ่านมาจากนักการตลาดระดับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ประชาธิปไตยไทยนิยมจึงสมาสเข้ากับ “ประชารัฐ”

แต่เอาเข้าจริงๆ การผสมพันธุ์ของพรรคทหารจากยุคพรรคเสรีมนังคศิลา ผ่านยุค

พรรคสหประชาไทย กระทั่งยุคพรรคสามัคคี

ธรรม ก็ลอยเด่นขึ้นมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ประชาธิปไตยแบบไทย”

หากศึกษารากที่มาของคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างคึกคักผ่านสถานีวิทยุ 20 ในห้วงก่อนประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ก็จะเข้าใจ

ภาพของ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ก็จะลอยเด่น เป็นสง่า

ต้องยอมรับว่าบทความ “ลัทธิประชาธิปไตย” อันเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุ 20 ยุคที่ พ.อ.สนอง ถมังรักษ์สัตว์ เป็นนายสถานีนั้นมีความเป็นมาอันสลับซับซ้อน

หากอ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพ พล.อ.แสวง เสนาณรงค์ ก็จะจับร่องรอยได้

พ.อ.สนอง ถมังรักษ์สัตว์ ระบุว่า พล.ท.แสวง เสนาณรงค์ (ยศขณะนั้น) ได้นำบทความอันเกี่ยวกับประชาธิปไตยมาให้และบอกให้เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุ 20

โดยมิได้บอกว่าใครเป็นคนเขียนบทความนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดตั้งพรรคสหประชาไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2511 ตรงหลักนำและอุดมการณ์พรรคระบุอย่างเด่นชัด

เด่นชัดความเชื่อถือใน “ลัทธิประชาธิปไตย”

สะท้อนให้เห็นว่าคนที่เขียนระเบียบการพรรคสหประชาไทย กับ คนที่เขียนบทความ “ลัทธิประชาธิปไตย” อันพรรณนาถึง ประชาธิปไตย “แบบไทย” นั้นเป็นคนเดียวกัน

ต่อมา นายญวง เอี่ยมศิริ ก็ระบุว่า คือ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร

เป็นการระบุตรงกันในวงการทหารยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ว่า นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร มีส่วนอย่างสำคัญในการเสนอลัทธิประชาธิปไตยรวมถึง “การเมืองนำการทหาร”

การที่ระบบคิด “ลัทธิประชาธิปไตย” และแนวทาง “ประชาธิปไตยแบบไทย” ได้ต่อยอดและกลายมาเป็น “ประชาธิปไตยไทยนิยม”

จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ

ไม่เพียงต้องทำความเข้าใจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร และรวมไปถึงความคิดของ สี จิ้นผิง แห่งประเทศจีน

หากจำเป็นต้องทำความเข้าใจความคิดของ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image