‘มหาวิทยาลัยไทย’ ทำอย่างไร? จึงจะอยู่‘รอด’… (โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์)

 

“มหาวิทยาลัยไทย” ทำอย่างไร? จึงจะอยู่รอด…ถือเป็น “โจทย์ปัญหา” ที่ท้าทายวงการอุดมศึกษาไทยในวงกว้าง ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเอกชน แม้แต่มหาวิทยาลัยรัฐบาลที่ว่าแน่ๆ…!! หากไม่รู้จักปรับตัวแล้ว เชื่อว่าการจะ “อยู่รอด” คงเป็นไปได้ยาก…หรือหาก “อยู่รอดได้” คงต้องอยู่รอดได้ในระยะสั้นๆ แบบทุลักทุเล

การที่มหาวิทยาลัยไทยอยู่ยาก มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น “อัตราการเกิดของเด็กลดลง” ทำให้มีจำนวนผู้เรียนลดลง จากในอดีตมีอัตราเด็กเกิด 1,000,000 คนต่อปี แต่ปัจจุบันมีอัตราเด็กเกิดใหม่เพียง 600,000-700,000 คนต่อปีเท่านั้น

“สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน” ไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่รองรับตลาดแรงงานปัจจุบันและอนาคต สาขาวิชาต่างๆ ที่จัดการเรียนการสอนปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของอาชีพต่างๆ ตลอดจนการมีช่องว่างระหว่างวัยของอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษาที่เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันมาก ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารหรือถ่ายทอดองค์ความรู้

Advertisement

“ช่องทางในการจัดการเรียนการสอนเปิดกว้างมากขึ้น” ปัจจุบันการเรียนการสอนไม่ได้จำกัดแค่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น แต่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนสอนได้จากหลายช่องทาง เช่น การอบรมระยะสั้น การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต (Self-directed Course) หรือแม้แต่การเรียนการสอนผ่านระบบ MOOCs (Massive Open Online Courses) โดยทั่วไปหมายถึงระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชน ซึ่งมีลักษณะให้เข้าเรียนได้ไม่จำกัดจำนวนคน เป็นระบบ “เปิด” ที่ทุกคนที่อยากเรียนจะต้องได้เรียน ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเรียน และใช้เทคโนโลยีออนไลน์เป็นเครื่องมือแบบ “One Stop Learning” หรือ “เรียนรู้ได้ทุกทิศทาง ณ จุดเดียว”

โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงดีกรีการศึกษา เพราะปัจจุบันตลาดแรงงานไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ใบปริญญาบัตรแต่ยังพิจารณาจากทักษะและความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานด้วย ที่สำคัญอาจารย์ผู้สอนเองก็ต้องไม่พลาดกับการเรียนรู้ผ่าน MOOCs เช่นกัน มหาวิทยาลัยดังๆ ในต่างประเทศล้วนนำบทเรียนหรือวิชาใหม่ๆ มาบรรจุไว้ครบทุกศาสตร์

“สื่อที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว” ในอดีตเมื่อพูดถึงสื่อการเรียนการสอนหลายคนอาจจะนึกถึงหนังสือ ตำรา ฟิล์มภาพยนตร์ แผ่นสไลด์ หรือแม้แต่อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ แต่ในยุคปัจจุบันมีนวัตกรรมของสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เกิดขึ้น จำนวนมาก อาทิ

Advertisement

“โปรแกรมค้นหา” (Search engine) คือ โปรแกรมที่ช่วยสืบค้นหาข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต โดยค้นหาครอบคลุมทั้งข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เพลง ซอฟต์แวร์ แผนที่ ข้อมูลบุคคล กลุ่มข่าว และอื่นๆ

“บล็อก” (Blog) เป็นรูปแบบเว็บไซต์ประเภทหนึ่ง โดยปกติจะประกอบด้วย ข้อความ ภาพ ลิงก์ ซึ่งบางครั้งจะรวมสื่อต่างๆ ไม่ว่าเพลง หรือวิดีโอในหลายรูปแบบ จุดที่แตกต่างของบล็อกกับเว็บไซต์โดยปกติคือ บล็อกจะเปิดให้ผู้เข้ามาอ่านข้อมูลสามารถแสดงความคิดเห็นต่อท้ายข้อความที่เจ้าของบล็อกเป็นคนเขียน
ขณะที่ “ห้องเรียนออนไลน์” เช่น Google Classroom เปิดให้บริการสำหรับทุกคนที่ใช้ Google Apps for Education ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ให้บริการฟรี ประกอบด้วย Gmail, เอกสาร และไดรฟ์ Google Classroom ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้ครูสามารถสร้างและเก็บงานได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองกระดาษ ตลอดจนติดตามการทำงานของนักเรียนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแสดงความคิดเห็นและให้คะแนนได้แบบเรียลไทม์

ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาไทยจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงจาก “นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” (Disruptive Technology) ซึ่งจากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากนักวิชาการต่างๆ ทำให้พบแนวทางการปรับตัว เพื่อความอยู่รอดของสถาบันอุดมศึกษาที่หลากหลาย ซึ่งน่าจะเป็น “ทางเลือกเพื่อทางรอด” ได้อีกหนึ่งมิติ

“การสำรวจความต้องการของผู้เรียน” ไม่เพียงจะทำให้รับรู้ความต้องการเท่านั้น แต่ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน หรือใช้การสำรวจเพื่อรับรู้ความพึงพอใจ หรือแม้แต่แรงจูงใจที่ทำให้ผู้เรียนต้องการเข้าเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลสัมฤทธิ์ในเชิงบวกทั้งสิ้น การสำรวจความคิดเห็น เปรียบเสมือนเป็นการทำวิจัยตลาด (Marketing Research) ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งอาจารย์ บุคลากร หลักสูตร และมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษา (Data-driven Management) จนส่งผลปลายทางสู่การจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการและสร้างผู้เรียนที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของการตลาดแรงงานในที่สุด

“ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีความทันสมัย” ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอน คือ เส้นทางการสร้างโอกาสงานยุคใหม่ โดยแต่ละสาขาวิชาต้องสอดคล้องตามความต้องการของตลาดแรงงานและโลกในยุคอนาคต เช่น หลักสูตร Fintech หรือพัฒนาหลักสูตรที่สร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการในรูปแบบของหลักสูตรที่เน้นการบูรณาการระหว่างการเรียนรู้และการทำงานเข้าด้วยกัน (Work-lntegrated Leaning : WiL) โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

ขณะที่ “การปรับอุปกรณ์การเรียนให้ทันสมัยและมากพอ” จะช่วยให้นักศึกษาฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างชำนาญ เพื่อเตรียมความพร้อมและฝึกความชำนาญก่อนที่จะลงมือปฏิบัติงานจริง ส่วน “การเปลี่ยนการสอนเป็นการเรียนรู้” ควรใช้การพูดคุยระดมความคิด ถกเถียงเชิงวิพากษ์โดยเปลี่ยนให้คณาจารย์ทำหน้าที่ “โค้ช” ชี้นำนักศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ สิ่งใหม่ (Active Learning) จนทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ได้ นอกจากนั้นจำเป็นต้อง “สร้างโอกาสและเครือข่ายงาน” โดยเน้นการเรียนผ่านการลงมือทำตั้งแต่เข้ามาเรียนปี 1 ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องมีการสร้างพันธมิตรทางการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อมีส่วนสร้างเครือข่ายงาน สถานที่ฝึก และที่ทำงานจริงให้นักศึกษา

บทสรุปของ “มหาวิทยาลัยไทย” ทำอย่างไร? จึงจะอยู่ “รอด” คงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องคิดหากลยุทธ์ในการบริหารเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะใช้กลยุทธ์ใด? แต่บทสรุปสุดท้ายหากวัดที่ความสำเร็จของผู้เรียนเป็นสำคัญ ก็ย่อมเป็นภาพสะท้อนที่อธิบายถึงโอกาสในการ “อยู่รอด” ของ “มหาวิทยาลัยนั้นๆ” ซึ่งเป็นรูปธรรมและชัดเจนที่สุด

ส่วนกรณีวิวาทะระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยกับ สกอ.ที่กำลังโต้กันไปกันมาถึงเรื่องมาตรฐานหลักสูตร…ก้าวให้ข้ามเถอะครับปัญหานี้ ยังมีปัญหาหนักกว่านี้ที่รออยู่ นี่แค่บทพิสูจน์เล็กๆ พิสูจน์ให้สังคมได้เห็นกันว่า…มหาวิทยาลัยไทยจะไป “รอด” หรือ “ไม่รอด”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image