‘นาฬิกา’ โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

ต้องยอมรับว่ากระแสข่าวเรื่อง “นาฬิกาหลายเรือน” ที่เคยปรากฏอยู่บนข้อมือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นั้นยังไม่เงียบหายไปจากสังคม

ระยะหลังๆ ประเด็นที่ตั้งต้นจากการตั้งข้อสังเกตเชิง “ทีเล่นทีจริง” เรื่องนี้ ถึงกับแพร่ลามไปยังต่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอสกู๊ปของบางสำนักข่าว หรือการนำไปกล่าวถึงเชิงเสียดสีโดยอดีตเอกอัครราชทูต ผู้เคยประจำอยู่ในประเทศไทย

ในไทยเอง ไม่มีสื่อมวลชนรายใดกล้าปฏิเสธว่าข่าว “นาฬิกา” บนข้อมือรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ยังคงขายได้

Advertisement

เพราะเป็นข่าวการเมืองที่มวลชนมหาศาลให้ความสนใจ กล่าวคือ มีทั้งเสียงสะท้อนแง่ลบจากคนฝั่งที่ไม่ชอบรัฐบาลอยู่เป็นทุนเดิม และเสียงผิดหวังจากคนฝั่งที่เคยเชียร์รัฐบาลทหาร รวมถึงสนับสนุน คสช. ให้เข้ามาควบคุมอำนาจ

ไม่ว่านี่จะเกิดจากกระบวนการเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลอันมี “เบื้องหลัง” หรือเป็นกระแสข่าวที่ถูกจุดประเด็นขึ้นมาโดยบังเอิญในโลกของสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต

กระแสข่าวดังกล่าวก็จุดติดไปแล้วเรียบร้อย และสามารถสร้างปฏิกิริยาต่อเนื่องได้รุนแรงเกินกว่าใครๆ จะคาดคิด จากเมื่อครั้งที่มีข่าว “นาฬิกาเรือนแรก” ปรากฏขึ้นมา

Advertisement

นั่นคือเรื่องราวว่าด้วย “นาฬิกา” ของ พล.อ.ประวิตร และเพื่อน

อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของข้อโจมตีอันมีต่อนาฬิกาข้อมือ ซึ่งเป็นของใช้ส่วนตัว/ของใช้ที่แชร์ร่วมกันได้ระหว่างรองนายกฯ และเพื่อนสนิท

นาฬิกาของ คสช. ก็ยังคงเดินหน้าไปไม่มีหยุดยั้งเช่นกัน

แม้จะมีแนวโน้มของความพยายามที่จะชะลอ-ฉุดรั้งกาลเวลา เช่น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกมาหยั่งเชิงว่าจะเสนอให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา

จนอาจส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนไปถึงต้นปี 2562

แต่อีกด้าน เวลาในนาฬิกานับถอยหลังเรือนนี้ก็เหลือไม่เยอะนัก หากพิจารณาจากผลโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งบ่งชี้ว่าคะแนนความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นั้นลดลง

ยิ่งกว่านั้น ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังอยากได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้ นาฬิกาหลากหลายเรือนที่เคยถูกสวมใส่อยู่บนข้อมือของ พล.อ.ประวิตร และนาฬิกานับถอยหลังของ คสช. จึงเกี่ยวพันลึกซึ้งกับนาฬิกาทางการเมือง และนาฬิกาของสังคมไทย

ไม่ว่าจะหาหนทางยืดเวลาออกไปสักเท่าไหร่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คสช. เหลือเวลาอีกไม่มาก เพราะยิ่งอยู่นาน ความนิยมก็ยิ่งเสื่อมทรุดลงตามธรรมชาติ

นี่เป็น “สัจจะ” ที่รัฐบาล/ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการยึดอำนาจ จำต้องเผชิญหน้าอย่างมิอาจเลี่ยงพ้น

ที่สำคัญ ดันมีปัจจัยอื่นๆ (ซึ่งควรเป็นแค่ “เรื่องไม่เป็นเรื่อง”) เข้ามาช่วยเร่งเร้าให้เวลาของนาฬิกานับถอยหลังเดินเร็วขึ้นไปอีก

……………….

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image