“ประชาธิปไตย”นิยามใหม่ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการนำเสนอชุดความคิด “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ออกมาให้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอเอง

จับความได้ว่า ในเชิงแนวคิด “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทุกคนทุกฝ่ายเข้าใจ มีอุดมการณ์เดียวกันที่ทำให้ประเทศชาติมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ในเชิงรูปแบบ “ไม่ทิ้งกลไกของประชาธิปไตยสากล ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส และเป็นธรรม”

Advertisement

โดยมีรูปธรรมเบื้องต้นว่า “ขับเคลื่อนในแกนวายลงมา จากบนลงล่าง ระดับล่างมีประชารัฐอยู่ในระดับพื้นที่”

แม้จะไม่ชัดเจนนัก แต่นั่นก็พอมองเห็นแนวคิดและโครงสร้างการจัดการได้พอสมควร

ซึ่งถ้าจะขยายความเพิ่มเติมว่า “ไทยนิยม” คือการแบ่งคนไทยเป็น 2 กลุ่ม ระดับบน กับ ระดับล่าง

Advertisement

แล้วจัดวางโครงสร้างให้อำนาจการบริหารกำหนดและควบคุมโดยระดับบน บัญชาการให้ระดับล่างทำตาม โดยมีกลไกที่เรียกว่า “ประชารัฐ” เป็นตัวเข้าถึง สอดส่อง และจัดการให้เป็นไปตามบัญชาการนั้นอย่างราบรื่น

ผ่านเลย “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องแตกขยายความเป็นจริงและความเข้าใจกันใหญ่โตไปก่อน เพื่อมาหาคำตอบกันในเบื้องต้นว่า “ทำไมต้องประชาธิปไตยไทยนิยม” กันก่อน

น่าจะเป็นเพราะ ทั้งที่โดยหลักแล้วทุกประเทศมี “อธิปไตย” จะปกครองด้วยระบบอะไรก็ได้ แต่ในความเป็นจริงคือ ประเทศไทยเราเป็นประเทศเล็ก และด้อยพัฒนา ที่ถูกนานาประเทศกดดัน บีบคั้นให้ต้องใช้กติกาเดียวกันกับโลก คือกติกาประชาธิปไตย

ด้วยความเชื่อที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นกลไกที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกันมากที่สุด และกลไกที่เอื้อต่อสิทธิและเสรีภาพในวงกว้างเช่นนี้จะสร้างกติกาการอยู่ร่วมกันที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ดีกว่า โดยที่กติกานั้นจะส่งความเป็นธรรมต่อนานาชาติที่มาติดต่อสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในทางการค้าหรือเรื่องอื่นๆ ได้ดีกว่า

ที่เราต้องเลือก “ประชาธิปไตย” เป็นระบบการปกครองของประเทศก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า “สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะได้รับการพัฒนาไปสู่ความเท่าเทียม” และทำให้นานาชาติเต็มอกเต็มใจที่จะคบหาสมาคมไปมาหาสู่มากกว่า

แต่ “ประชาธิปไตยสากล” พัฒนาไม่ได้ในประเทศไทยเราเพราะ “คนระดับบน” หงุดหงิด รำคาญ ทนไม่ไหวกับการพัฒนาอย่างเชื่องช้าของคนระดับล่าง

ความหงุดหงิด พาไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวังที่จะพัฒนา เลยไปสู่การดูหมิ่นดูแคลน กระทั่งเห็นว่าจะต้องจำกัดสิทธิคนระดับล่างในทางการเมืองไว้ระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้ความด้อยพัฒนานั้นมาสร้างความเดือดร้อนให้กับการเมืองการปกครองของประเทศ

ความคิดเช่นนี้ทำให้ไม่เชื่อว่า ประชาธิปไตยพัฒนาได้เพียงแต่ต้องใช้เวลา และทุ่มเทการให้ความรู้ความคิดอย่างจริงจัง

ความไม่เชื่อนี้นำสู่การ “ยึดอำนาจ” มาให้คนกลุ่มหนึ่งที่คนระดับบนเชื่อว่า “ฉลาดกว่า” บริหารจัดการประเทศ ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก

แต่วิธีการเช่นนี้อยู่ไม่ได้ เพราะประเทศไทยเราเล็กและยังต้องการความช่วยเหลือในการพัฒนาเกินกว่าที่จะยืดอกท้าทายแรงกดดันของนานาชาติ

“ประชาธิปไตยไทยนิยม” ที่มีโครงสร้างความคิดว่าจะเป็น “ประชาธิปไตยที่สร้างกลไกให้ระดับบนมีอำนาจในการจัดการควบคุมบัญชาการคนระดับล่าง โดยมีประชารัฐเข้าไปช่วยสอดส่องและจัดการให้เป็นไปตามเป้าหมาย”

ด้วยความคิดว่า “ประชาธิปไตยแบบนี้” จะอยู่ได้ยาว เพราะ “คนระดับบนจะให้การยอมรับไม่ล้มล้าง เนื่องจากยังสามารถควบคุมบัญชาการได้ ขณะที่แรงกดดันบีบคั้นจากนานาชาติจะลดลงเพราะมีรูปแบบบางอย่าง เช่น มีการเลือกตั้งเป็นข้ออ้างเชื่อมโยงกับความหมายของประชาธิปไตยสากล”

ส่วนคนระดับล่างนั้น มี “ประชารัฐคอยดูแลเยียวยา ไม่ให้เดือดร้อนจนอยู่ไม่ได้” ว่ากันแบบตรงไปคือ แจกกันไปเหมือนที่ทำอยู่ใน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่ขยายการให้ไปเรื่อยๆ

“ประชาธิปไตยที่มั่นคง” ที่มีนิยามใหม่ว่า “ประชาธิปไตยไทยนิยม” น่าจะเป็นแบบนั้น

เพียงแต่คำถามที่ควรจะต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจนคือ “การบริหารในระบอบประชาธิปไตยไทยนิยมนี้ ใครคือผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศมากกว่า และความเหลื่อมล้ำที่โฆษณากันนักหนาว่าจะต้องทำให้น้อยลงนั้น เกิดขึ้นได้จริงหรือในระบบการปกครองแบบนี้”

ด้วยคำตอบดังกล่าว น่าจะเป็นประเด็นหลักของการต่อสู้กันใน “สนามการเลือกตั้ง” ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ประชาชนจะตัดสินว่า “ประชาธิปไตยแบบไหน” ที่คนส่วนใหญ่ต้องการ

…………..

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image