วิกฤตกับโอกาสของพม่า ในระหว่างสงครามโลก : โดย ลลิตา หาญวงษ์

การยึดครองของญี่ปุ่นที่กินระยะเวลาตั้งแต่ปลายปี 1941 ถึง 1945 (พ.ศ.2484-2488) มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์กับทั้งกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรและพม่าเป็นอย่างยิ่ง นักวิชาการบางคนมองว่าการยึดครองของญี่ปุ่นสำคัญทัดเทียมกับการเข้ามาของระบอบอาณานิคมอังกฤษในพม่าเลยทีเดียว

สมรภูมิทางตอนเหนือในแถบชายแดนพม่า-อินเดียและถนนพม่า (Burma Road) กลายเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร การถอยทัพของกองทัพสหราชอาณาจักรจากที่มั่นในพม่าตอนล่างไปจนจรดชายแดนอินเดียยังสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับพม่า ที่ผ่านมาเรามักเข้าใจสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพม่าว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างกองทัพอันทรงพลังของญี่ปุ่นและของฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษและสหรัฐอเมริกา) ดังนั้น ความเสียหายจึงตกอยู่กับกองทัพของทั้งสองฝ่าย

แต่ในอันที่จริงแล้ว เรามองข้ามพม่าไป เพราะพม่ามักจะถูกมองว่าเป็นเพียง “สมรภูมิ” หนึ่งในสงคราม ในช่วง 3 ปีเศษที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่านี้ มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างที่จะเปลี่ยนชะตากรรมของพม่ายุคหลังเอกราช ที่ขอกล่าวถึงในสัปดาห์นี้มีอยู่ 2 เหตุการณ์

เหตุการณ์แรก คือ การที่ชาวอินเดียหลายแสนคนหนีตายจากภัยสงครามและอพยพกลับเข้าไปในอินเดีย เมื่อถึงต้นทศวรรษ 1930 ย่างกุ้งถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองแขก” เพราะมีประชากรที่เป็นชาวอินเดียมากกว่าชาวพม่า ในปี 1931 ย่างกุ้งมีประชากรทั้งหมดราว 4 แสนคน เป็นชาวอินเดีย 181,707 เทียบกับชาวพม่า 121,998 คน และชาวจีน 30,626 คน (ข้อมูลจากหนังสือ Cities in Motion: Urban Life and Cosmopolitanism in Southeast Asia, 1920-1940 ของ Su Lin Lewis) และมีชาวอินเดียกว่า 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในพม่า เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรป

Advertisement

ผู้คนในพม่าทั้งชาวพม่า ชาวอินเดีย และชาวตะวันตกน้อยมากที่เชื่อว่าสงครามโลกจะแพร่เข้ามายังเอเชีย และพวกเขาต้องกลายเป็นเหยื่อของสงครามไปด้วย แต่เมื่อญี่ปุ่นบุกพม่าจริง ความตื่นตระหนกตกใจจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวอินเดียหลายแสนเริ่มอพยพจากพม่าตอนล่างสู่ทางเหนือ มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่อินเดีย

แผ่นดินที่ชาวอินเดียในพม่าหลายคนไม่เคยรู้จักเลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

อมิตาภ โฆษ (Amitav Ghosh) นักเขียนนามอุโฆษชาวอินเดียวิเคราะห์เหตุผลที่ชาวอินเดียในพม่าจำนวนมากหลั่งไหลออกจากพม่าในช่วงนี้ว่าพวกเขาเริ่มไม่มั่นใจในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองอยู่แล้ว เพราะตลอดทศวรรษ 1930 เกิดการจลาจลทางเชื้อชาติระหว่างชาวอินเดียกับชาวพม่าอยู่บ่อยครั้ง เมื่อสงครามเกิดขึ้น และรัฐบาลสหราชอาณาจักรมีนโยบาย “สละ” พม่า และไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่สิมลาทางตอนเหนือของอินเดีย ยิ่งสร้างความไม่มั่นใจให้ชาวอินเดียในพม่า

Advertisement

พวกเขาเกรงว่าหากรัฐบาลสหราชอาณาจักรออกไปแล้ว พวกเขาก็จะยิ่งถูกชาวพม่าปราบปรามและกลั่นแกล้ง

อย่างไรก็ดี การอพยพออกของชาวอินเดียส่งผลร้ายมากกว่าผลดีต่อเมืองท่าขนาดใหญ่อย่างย่างกุ้ง เพราะหน่วยงานราชการ อุตสาหกรรม และห้างร้านเกือบทั้งหมดในย่างกุ้งมีชาวอินเดียเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก การสูญเสียชาวอินเดียนับแสนไปแม้จะเป็นเพียงชั่วคราวจึงกระทบกับเศรษฐกิจอาณานิคมในพม่าที่เติบโตสุดขีดตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20

การหลั่งไหลสู่อินเดียของชาวอินเดียในพม่ามีเกร็ดที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ผู้เขียนจะหยิบมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆ ไป

นอกจากการอพยพระลอกใหญ่ของชาวอินเดีย ซึ่งอาจถือว่าเป็น “วิกฤต” ที่เปลี่ยนโฉมหน้าทางเศรษฐกิจของพม่ายุคหลังสงครามไปอย่างสิ้นเชิง สำหรับชาวพม่าห้วงเวลาของสงครามยังพอจะเห็น “โอกาส” อยู่บ้าง เพราะตลอดช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่ายังเป็นยุคที่ขบวนการชาตินิยมในพม่าเฟื่องฟูสุดขีด

ในช่วงแรกๆ นักชาตินิยมพม่ามองว่าญี่ปุ่นเป็นเสมือนผู้ปลดปล่อย และมองว่าชัยชนะของญี่ปุ่นจะช่วยให้พม่าได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรได้ในเร็ววัน

ด้วยความคิดนี้ ผู้นำชาตินิยมพม่าที่นำโดยออง ซาน จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่นตั้งแต่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่วิคตอเรียพอยท์ทางตอนใต้สุดของพม่า (ปัจจุบันคือเกาะสอง)

เมื่อญี่ปุ่นมอบปืนไรเฟิลให้กับผู้นำ BIA หลายร้อยกระบอก และต่อมาส่งตัวแทนนักชาตินิยมพม่า 30 คน เข้าไปฝึกด้านการทหารบนเกาะไหหลำ ออง ซาน, โบ เลต ยา (ต่อมาเป็นผู้นำระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์พม่า) และโบ เน วิน (ต่อมาเป็นผู้นำเผด็จการที่ปกครองพม่ายาวนานถึง 26 ปี) เป็นส่วนหนึ่งของ “สหายสามสิบ” (Thirty Comrades) ที่ถูกส่งไปไหหลำภายใต้การดูแลของพันเอกซูซุกิ

สหายสามสิบเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งกองทัพเพื่อเอกสารของพม่า (BIA) ที่ต่อมาจะเป็นกองทัพปลดแอกเรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 1941 เรียกสหายทั้ง 30 คนว่า “ตะขิ่น”

ผู้นำ BIA สามารถรวบรวมกำลังพลได้ราว 10,000 นาย ในบางช่วงมีผู้คนเข้าร่วมกับ BIA ถึง 30,000 คน และ BIA เป็นแนวร่วมของญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรในพม่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป BIA และกองทัพญี่ปุ่นเริ่มแตกคอกัน โดยผู้นำ BIA มองว่าญี่ปุ่นมิได้จริงใจที่จะมอบเอกราชให้กับพม่าดังที่ได้สัญญาไว้ และ BIA เองก็อ่อนแอลงเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น

ผู้นำใน BIA นี่เองที่ญี่ปุ่นจะแต่งตั้งให้เป็นหูเป็นตาให้กับตน และรับเป็นรัฐบาลรักษาการหลังรัฐบาลสหราชอาณาจักรหนีญี่ปุ่นและสละเมืองย่างกุ้งตั้งแต่มีนาคม 1942 (พ.ศ.2485) แต่เมื่อญี่ปุ่นรุกขึ้นไปถึงภาคเหนือและตั้งฐานที่มั่นของตนได้ที่เมเมี้ยว (ใกล้มัณฑะเลย์) ประกอบกับคนใน BIA มีประวัติที่ไม่ค่อยดีนัก บางส่วนเป็นอดีตอาชญากร และทหารใน BIA จำนวนมากใช้ช่วงเวลาที่วุ่นวายนี้ออกปล้นสะดมมากกว่าจะเป็นหูเป็นตาให้ญี่ปุ่นจริงๆ ฝ่ายหลังจึงออกคำสั่งให้ BIA ระงับบทบาทด้านการบริหารทุกอย่าง สร้างความไม่พอใจให้นักชาตินิยมพม่า ซึ่งเริ่มเล็งเห็นแล้วว่าญี่ปุ่นไม่ได้มาเพื่อปลดปล่อยพม่า

และประชาชนพม่าเองก็ไม่ชื่นชอบทหารญี่ปุ่น มองว่าทหารญี่ปุ่นเลวร้ายกว่าอาณานิคมแบบสหราชอาณาจักร เช่น ทหารญี่ปุ่นตบหน้าผู้ใหญ่บ้านที่เป็นที่เคารพในหมู่บ้านเพื่อแสดงให้เห็นความเหนือกว่าของกองทัพญี่ปุ่น หรือการใช้วัดเป็นที่เชือดสัตว์ หรือใช้ฐานประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นราวตากผ้า

แต่ภายใต้วิกฤตก็ยังมีโอกาส การแตกคอระหว่าง BIA กับญี่ปุ่นเปิดช่องให้ญี่ปุ่นแต่งตั้งคนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าให้ขึ้นมาบัญชาการรบ ญี่ปุ่นแต่งตั้งให้ออง ซาน เป็นผู้บัญชาการรบในกองทัพป้องกันพม่า หรือ Burma Defence Army (BDA) ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ และให้ ดร.บา มอ (Dr. Ba Maw) ขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร บา มอโปรญี่ปุ่นอย่างมาก แต่ไม่น่าแปลกใจว่าในช่วงที่เขาปกครองพม่าช่วงสั้นๆ เขาจะเป็นประหนึ่งผู้นำเผด็จการที่มีวิสัยทัศน์คับแคบ คนในรัฐบาลของบา มอเต็มไปด้วยผู้อาวุโสที่ไม่ทันต่อโลก และอนุรักษนิยมจัด แต่ในขณะเดียวกันก็รวมกลุ่มตะขิ่นบางส่วนให้มาขับเคลื่อนพม่าในช่วงสงครามร่วมกัน

ในช่วงสุญญากาศทางอำนาจที่ญี่ปุ่นง่วนกับการรบเพื่อพิชิตศึกในสมรภูมิพม่านี่เองที่ขบวนการชาตินิยมภายใต้ขบวนการตะขิ่นจะพัฒนาต่อไป และกลายเป็นหัวเรือหลักในการเรียกร้องเอกราชให้พม่า ซึ่งจะประสบความสำเร็จในอีกไม่กี่ปีต่อมา

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image