ปัญหาของการเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในประเทศไทย : โดย วิษณุ วรัญญู

หมายเหตุ – บทความ “ปัญหาของการเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเทศไทย” นี้ นำมาจากหนังสือ “รวมบทความวิชาการในโอกาสอายุครบ 60 ปี วิษณุ วรัญญู”

ความนำ

ในปัจจุบันนี้ วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นวิชาสำคัญในหลักสูตรคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในทุกประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและเป็นนิติรัฐ ด้วยเหตุนี้ คณะนิติศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัยจึงมักจะกำหนดให้วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกไปเป็นนักกฎหมายประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับกฎหมายได้ผ่านการศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมาแล้ว

การเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญใช่ว่าจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนหรือมีความสำคัญอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเสมอไป มีข้อสังเกตว่า หากการปกครองของประเทศเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะมีความสำคัญและได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างเต็มที่ แต่หากเป็นช่วงที่การปกครองของประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะถูกละเลยหรือไม่ได้รับการสนับสนุนรวมทั้งอาจถูกปิดกั้นห้ามปรามไปเลยก็มี Professeur Louis Favoreu ได้บรรยายไว้อย่างน่าสนใจถึงสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ของการจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฝรั่งเศส ในบางยุคบางสมัยที่ระบอบการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย อันเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญกับสภาพการเมืองการปกครองของรัฐเป็นอย่างดี

Advertisement

ผมได้รับมอบหมายให้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ (กฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ สิทธิเสรีภาพ ประวัติศาสตร์กฎหมายมหาชนฯลฯ) มาตั้งแต่สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสกลับมาทำงานที่คณะนิติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2530 แม้ว่าปัจจุบันจะวางมือจากการสอนไปบ้าง (เนื่องจากภารกิจหน้าที่การงานมากขึ้นและอยากให้คนรุ่นหลังได้รับภาระการสอนวิชานี้สืบต่อไป) แต่ก็ติดตามการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญต่อเนื่องเสมอมาด้วยความรู้สึกผูกพันกับวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ และด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่าหากการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

อย่างน้อยนักกฎหมายไทยที่ผ่านการเรียนวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยน่าจะมีส่วนช่วยจรรโลงให้ระบอบการปกครองแบบนิติรัฐบนพื้นฐานของประชาธิปไตยมีความยั่งยืนสถาพรมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจจะกล่าวได้ว่า ในภาพรวมแล้ว การเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในประเทศไทยไม่ค่อยจะบรรลุวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายนัก

ในเรื่องของการเรียนการสอนนั้น มีด้านที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้สอน” และด้านที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้เรียน” บทความนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อ “ทดลอง” ประเมินดูว่าอะไรเป็นปัญหาและอุปสรรคของการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในทางด้านของ “ผู้เรียน” ขอละไว้ไม่พูดถึงปัญหาของด้าน “ผู้สอน” เพราะผมไม่อยากเปิดวิวาทะกับเพื่อนร่วมอาชีพ ทั้งนี้ โดยคำนึงว่าผู้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยต้องตระหนักถึงการมีหน้าที่ต้องติดตามค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ๆ แนวความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งมีพัฒนาการในต่างประเทศจากการประสบกับปัญหาใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง อยู่แล้ว
ปัญหาของการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากทางด้านผู้เรียนนั้น จากประสบการณ์การสอนวิชานี้มาเกือบสามสิบปี ผมพบว่ามีหลายประการและต้องยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้ที่อยู่ในฐานะผู้สอน วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะกลายเป็นว่าวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นวิชาที่สอนยาก ผู้สอนต้องแสวงหากลวิธีที่จะทำให้นักศึกษาสนใจติดตามเข้าเรียนมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้น ผู้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมักจะไม่เป็นที่ “ปลาบปลื้ม” ในหมู่นักศึกษานักเพราะจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่สอน “วิชาโหด” หรือ “วิชาน่าเบื่อ” ที่นักศึกษาไม่ค่อยอยากเรียน

Advertisement

ข้อความที่จะปรากฏข้างล่างนี้ จึงเป็นเสมือนคำตอบหรือคำชี้แจงของอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญคนหนึ่งต่อ “คำบ่น” หรือ “คำต่อว่า” หรือ “ข้อข้องใจ” ที่นักศึกษาเขียนมาในแบบประเมินการสอนที่มหาวิทยาลัยส่งมาให้อาจารย์ผู้สอนได้ทราบในแต่ละภาคการศึกษา อันสะท้อนให้เห็นปัญหาที่นักศึกษาประสบในการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญได้ทางหนึ่ง

1.ปัญหาประการแรกอันเป็นอุปสรรคต่อการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็คือทัศนคติด้านลบของนักศึกษาต่อวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ

นักศึกษากฎหมายไทยแตกต่างจากนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ผมได้มีโอกาสพบ ตรงที่นักศึกษากฎหมายในต่างประเทศส่วนใหญ่จะชอบเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและจะเรียนวิชานี้กันอย่างสนใจและสนุกสนาน ส่วนนักศึกษาไทยนั้นมักจะไม่ค่อยสนุกกับวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญกันนัก ที่ลงเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญกันส่วนใหญ่ก็เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากเป็นวิชาบังคับในหลักสูตร ถ้าไม่ผ่านวิชานี้ก็จะไม่สามารถจบการศึกษาการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญจึงเหมือนเป็นการฝืนใจหรือจำใจต้องเรียนเพราะถูกบังคับ

เมื่อลองพิจารณาประเมินว่าอะไรบ้างเป็นข้ออ้างที่ว่าทำไมนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ รู้สึกเป็นไม้เบื่อไม้เมากับวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็พอจะได้คำตอบที่ต่างๆ กันออกไป บ้างก็ว่าเหตุที่ไม่ชอบเพราะเป็นวิชาที่ต้องท่องจำ ไม่ค่อยมีหลักอะไรมากนัก บ้างก็ว่าเป็นวิชาที่ไกลตัวไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน บ้างก็ว่าเป็นวิชาที่มีเนื้อหาเยอะหาขอบเขตไม่ได้ (ต่างจากวิชาอื่นๆ ที่นักศึกษารู้สึกว่าเนื้อหามีขอบเขตเท่าที่มีตัวบทในประมวลกฎหมาย) ฯลฯ

ต่อประเด็นที่ว่าวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นวิชาที่ต้องท่องจำ ไม่ค่อยมีหลักอะไรมากนักนั้น ผมคิดว่าวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ต่างจากวิชากฎหมายอื่นที่มีส่วนที่เป็นพื้นฐานที่ต้องจำ กฎหมายลักษณะอื่นบางวิชามีสิ่งที่นักศึกษาต้องท่องจำมากกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเสียอีก ตัวอย่างเช่น กฎหมายอาญา ซึ่งนักศึกษาจะต้องจดจำองค์ประกอบของความผิดอย่างแม่นยำให้ครบทุกองค์ประกอบ และถ้อยคำแต่ละถ้อยคำก็ต้องแยกแยะออกจากกันอย่างชัดเจน เช่น “ละเว้น” “งดเว้น” จะใช้ปะปนกันไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนั้น วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญก็มีหลักที่นักศึกษาต้องทำความเข้าใจจะอาศัยแต่ความจำอย่างเดียวไม่ได้เช่นกัน

สมัยที่ผมเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยนั้น ในการสอบไล่วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญผมมักอนุญาตให้นักศึกษานำตัวบทรัฐธรรมนูญและเอกสารบันทึกคำบรรยายทุกอย่างเข้าไปใช้ค้นคว้าประกอบการทำคำตอบเพื่อที่จะได้ไม่ต้องท่องจำ และพบว่าหากนักศึกษา “ไม่เข้าใจ” เนื้อหาของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้แล้ว เอกสารที่ผมอนุญาตให้นำเข้าไปในห้องสอบไม่ได้ช่วยให้ตอบคำถามได้เลย กลับจะเป็นภาระให้เสียเวลาในการเปิดค้นอีกต่างหาก

ส่วนในประเด็นที่ว่า วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นวิชาที่ไกลตัวไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของนักศึกษา ผมคิดว่านักศึกษาเกี่ยวข้องคุ้นเคยกับเรื่องและถ้อยคำของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมาโดยไม่รู้ตัวมาตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ แต่อาจจะไม่ได้ตระหนักเอง เช่น นักศึกษาย่อมได้เห็น ได้อ่าน ได้ฟัง เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร การยุบสภาการเลือกตั้ง ฯลฯ มาบ้างอย่างแน่นอน ดังนั้น ข้อความคิดต่างๆ ที่นักศึกษาได้เรียนเกี่ยวกับวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงเป็นข้อความคิดที่นักศึกษาได้ประสบพบเห็น “ตัวเป็นๆ” ของข้อความคิดเหล่านั้นมาแล้วทั้งสิ้น

ตรงกันข้าม ในวิชากฎหมายหลายๆ วิชา (ที่นักศึกษาไม่บ่นว่าไกลตัว) ผมกลับเห็นว่านักศึกษาเรียนวิชาเหล่านั้นโดยไม่เคยเห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้นๆ ในชีวิตประจำวันของนักศึกษาเลย เช่น นักศึกษาเรียนวิชากฎหมายลักษณะตั๋วเงินไปโดยผมคิดว่านักศึกษายังไม่เคยเห็น “ตั๋วแลกเงิน” “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” หรือแม้กระทั่ง “เช็ค” โดยยังไม่ต้องพูดถึง “การอาวัลตั๋ว” ว่าเขาทำกันอย่างไร หรือวิชากฎหมายลักษณะประกันภัย

ผมคิดว่านักศึกษาน้อยคนมากเรียนวิชานี้โดยเคยเห็นกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือกรมธรรม์ประกันภัยมาก่อน ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นวิชาที่ไกลตัว จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงนัก

อย่างไรก็ดี คำกล่าวเช่นว่านั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีประเด็นเสียทีเดียวนัก ผมคิดว่าคำกล่าวอ้างที่ว่าวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไกลตัว สะท้อนข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ว่านักศึกษาได้รับการปลูกฝังมาว่าอย่าไปสนใจยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การที่นักศึกษามีความรู้สึกว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทำให้นักศึกษารู้สึกว่าวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องจำเป็นต้องรู้ เพราะคงจะไม่ได้ใช้วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องการเมืองนั่นเอง อันเป็นทัศนคติด้านลบต่อวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ

2.ปัญหาถัดไปของการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในประเทศไทย คือนักศึกษาไทยขาดเครื่องมือในการคิดวิเคราะห์ที่จะช่วยในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ในทางวิชาการนิติศาสตร์

อะไร คือ “เครื่องมือในการคิดวิเคราะห์” ที่ผมคิดว่าจำเป็นในการเรียนวิชานิติศาสตร์

วิชานิติศาสตร์เป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่งในสังคมศาสตร์ (Sciences sociales) ซึ่งมีวิธีการศึกษาวิเคราะห์ (Méthodologie) เป็นของตนเองแตกต่างไปจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อนึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าวิชานิติศาสตร์มีนิติวิธี (การหาบ่อเกิดของกฎหมาย การใช้กฎหมาย การตีความกฎหมาย) เป็นของตนเอง แต่ในฐานะที่เป็นศาสตร์หนึ่งของสังคมศาสตร์ วิชานิติศาสตร์ก็ต้องใช้ Méthodologie ของสังคมศาสตร์โดยรวมด้วย

เรื่องนี้ในต่างประเทศ เช่น ในยุโรป เขาไม่มีปัญหาเหมือนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของไทยเรา เพราะในหลักสูตรการศึกษาในระดับก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เขาเน้นให้นักศึกษาผ่านการเรียนวิชาปรัชญา ซึ่งมีเนื้อหาของเรื่อง Méthodologie แทรกอยู่แล้ว จึงทำให้เมื่อเข้าเรียนในระดับสูงขึ้นในมหาวิทยาลัย นักศึกษาของเขาส่วนใหญ่คิดเป็นเพราะมีเครื่องมือในการคิดวิเคราะห์ติดตัวมาอย่างแน่นแฟ้นแล้วนั่นเอง

เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้น ผมขอยกตัวอย่างปัญหาที่ผมประสบในการสอนนักศึกษาในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ

ในเนื้อหาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ผมสอนมีข้อความคิดหลายประการที่เป็นพื้นฐานที่นักศึกษาควรต้องรู้ เช่น ในหัวข้อ “ความหมายของรัฐธรรมนูญ” ผู้แต่งตำราส่วนใหญ่จะแบ่งการให้ความหมายของรัฐธรรมนูญเป็นสองสำนัก สำนักแรกคือสำนักที่ให้ความหมายรัฐธรรมนูญโดยเน้นที่แบบพิธี (Critère formel de la constitution) ส่วนอีกสำนักหนึ่งนั้นให้ความหมายรัฐธรรมนูญโดยเน้นที่เนื้อหา Critère matériel de la constitution ถ้านักศึกษามีพื้นฐานที่เข้าใจว่าอะไรคือ Formalisme อะไรคือ Matérialisme นักศึกษาก็จะเข้าใจประเด็นการศึกษาหัวข้อนี้ทันทีโดยแทบไม่ต้องอ่านรายละเอียด และอาจจะยังเข้าใจลึกซึ้งไปถึงเหตุผลเบื้องหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญของไทยเราด้วยว่าเหตุที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมักจะร่างรัฐธรรมนูญออกมามีเนื้อหาเยอะและยืดยาวมาก ทั้งที่เนื้อหาเหล่านั้นหลายเรื่องไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ (เพราะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจสูงสุดในรัฐ-หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า materially แล้วเนื้อหานั้นไม่ใช่รัฐธรรมนูญ) ก็เพราะเขาอยากให้เรื่องเหล่านั้นได้ประโยชน์จาก Formalisme ของรัฐธรรมนูญ คือกลายเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก (ต้องใช้วิธีเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ซึ่งหากเอาไปเขียนไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ก็เกรงกันว่ารัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจะถือโอกาสแก้ไขเรื่องนั้นได้อย่างง่ายๆ ดังนี้เป็นต้น

นอกจากนั้น ในหัวข้ออื่นๆ ของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ยังมีข้อความคิดในทำนองนี้อีกหลายประการ เช่น Critère organique, critère formel, critère matétriel, critère fonctionnel, Analyse objective, analyse subjective เป็นต้น

หากนักศึกษาไทยเปิดดูตำราพื้นฐานที่ใช้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในระดับปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยฝรั่งเศสอย่างแพร่หลาย เช่น Droit constitutionnel ของ Francis Hamon และ Michel Troper กับตำราของ Louis Favoreu และคณะ ซึ่งทุกท่านถ่อมเนื้อถ่อมตัวว่าเป็นเพียง “คู่มือ” (Manuel) หรือ “บันทึกย่อ” (Précis) ก็จะพบข้อความคิดเหล่านี้มากมาย ซึ่งหากไม่มีพื้นฐานในทาง Méthodologie ของสังคมศาสตร์มาก่อน ก็ยากจะเข้าใจ เช่น La constitution formelle, la constitution matérielle เป็นต้น

ปัญหาที่กล่าวข้างต้นไม่ใช่ปัญหาของนักศึกษาโดยตรงเพราะเป็นปัญหาอันเกิดจากระบบการศึกษาของประเทศไทยมากกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัญหาที่ทำให้นักศึกษาเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญโดยไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

3.อุปสรรคประการที่สามต่อการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของนักศึกษาไทย คือ นักศึกษาไทยขาดความรู้และไม่สนใจประวัติศาสตร์ (ทั้งประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล) วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมีลักษณะแตกต่างจากวิชากฎหมายอื่นๆ

ประการหนึ่ง คือ เป็นวิชากฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองและประวัติศาสตร์การเมือง ดังนั้น ในการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญจะสอนแบบอธิบายแต่ตัวบทรัฐธรรมนูญล้วนๆ ไม่ได้ (ที่เรียกกันในทางวิชาการว่า Méthode exégétique หรือ Exégèse du texte) แต่จะต้องนำเอาข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์หรือข้อเท็จจริงในทางการเมืองมาเป็นเนื้อหาของการวิเคราะห์ด้วย ตัวอย่างเช่น ในคำอธิบายเกี่ยวกับรูปแบบของรัฐสภา ซึ่งในทางตำราหรือในทางทฤษฎีอาจจะอธิบายรูปแบบของรัฐสภา (สภาเดี่ยว monocamérisme / สภาคู่ bicamérisme / ระบบหลายสภา multicamérisme) รวมทั้งข้อสนับสนุนหรือข้อคัดค้านรูปแบบสภารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดแล้ว การที่ประเทศใดจะเลือกรูปแบบของรัฐสภาแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพการเมืองและประวัติศาสตร์ความเป็นมาทางการเมืองของตนเป็นสำคัญ

ในช่วงก่อนการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสซึ่งดำเนินการระหว่างปี ค.ศ.1993-1997 นั้น ชื่ออย่างเป็นทางการของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่สอนในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฝรั่งเศส จึงใช้คำว่า Droit constitutionnel et Institutions politiques (กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นที่ชัดเจนว่าในการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น จะละเลยการหยิบยกประวัติศาสตร์ (โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมือง) และรัฐศาสตร์ขึ้นมาประกอบการศึกษาไม่ได้ จริงอยู่ที่ในช่วงหลังการปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมายได้ทำให้วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญได้กลับไปใช้คำว่า Droit constitutionnel (กฎหมายรัฐธรรมนูญ) อันเป็นผลมาจากการที่ Conseil constitutionnel (คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ) มีคำวินิจฉัยตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้มีสภาพบังคับมากยิ่งขึ้นและแนวทางการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญเอนเอียงมาเน้น “ความเป็นกฎหมาย (Normativisme)” ของรัฐธรรมนูญมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นวัตถุแห่งการศึกษา (Objet d’étude) ของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นเรื่องของการเมืองและประวัติศาสตร์การเมืองอยู่นั่นเอง หลักฐานที่ยืนยันความข้อนี้ก็คือตำราเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ผมเห็นว่าเป็นตำราที่ดีที่สุดในยุคนี้ที่นักศึกษา (ที่อ่านภาษาฝรั่งเศสออก) ควรอ่านเป็นอย่างยิ่งคือ ตำราของ Professeur ElisabethZoller ที่ชื่อว่า Introduction au droit public ซึ่งแม้ชื่อจะบอกว่าเป็น “ความรู้เบื้องต้นทางกฎหมายมหาชน” ก็ตาม แต่เป็นตำราที่อธิบายข้อความคิดหลักๆ ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐอำนาจอธิปไตย การแบ่งแยกอำนาจ ฯลฯ ของระบบการเมืองหลัก 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐฝรั่งเศส และเยอรมนี อย่างละเอียดโดยอาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเมืองและรัฐศาสตร์ มาอธิบาย

เป็นที่น่าเสียดายว่านักศึกษาไทยมีความรู้และสนใจประวัติศาสตร์และการเมืองน้อยมากไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์และการเมืองในทางสากลหรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์และการเมืองของไทย จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเท่าที่ควร

4.ปัญหาและอุปสรรคของการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในประการถัดมา คือ การที่นักศึกษาของเราขาดความรู้ในทางภาษาต่างประเทศในระดับที่สามารถค้นคว้าอ่านตำรากฎหมายในภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยได้

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาร่วมกันของการเรียนวิชากฎหมายในสาขาอื่นๆ ด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าตำราทางด้านกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเป็นภาษาไทยมีปริมาณน้อยมาก หนทางเดียวที่นักศึกษาจะพัฒนาความรู้ในสาขานี้ได้ก็คือต้องค้นคว้าอ่านจากตำราในภาษาต่างประเทศ แต่อาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนก็คงประสบปัญหาเดียวกับผม คือมอบรายชื่อตำราในภาษาต่างประเทศที่ “จำเป็นต้องอ่าน” ให้นักศึกษาไปแล้ว นักศึกษาไม่สามารถอ่านได้

ยิ่งในการศึกษาระดับปริญญาโทหรือในการทำวิทยานิพนธ์ในทางกฎหมายมหาชน ด้วยแล้ว อาจารย์ผู้สอนแทบทุกคนก็จะประสบปัญหาเดียวกันคือนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลภาษาต่างประเทศได้ทำให้ไม่สามารถมอบหัวข้อให้ไปศึกษาได้อย่างกว้างขวางและหลากหลายเท่าที่ควร

ทำไมนักศึกษากฎหมายของเราจึง “อ่อน” ในเรื่องของภาษาต่างประเทศ

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พูดถกเถียงกันมาตั้งแต่สมัยผมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในช่วงปี 2518 แม้จนปัจจุบันก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ สาเหตุของปัญหาการ “อ่อนภาษาต่างประเทศ” ของนักศึกษากฎหมายนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น หลักสูตรนิติศาสตร์กำหนดวิชากฎหมายที่นักศึกษาต้องเรียนไว้เยอะมากจนไม่มีเวลาหรือโอกาสไปเรียนภาษาต่างประเทศหรือวิชาอื่นๆ นักศึกษาบางส่วนเห็นว่าเป็นนักกฎหมายรู้กฎหมายอย่างเดียวก็เอาตัวรอดได้ สอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการได้แล้วก็ไม่เห็นต้องใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น

ผมไม่ขอฟันธงว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาการอ่อนภาษาต่างประเทศของนักศึกษากฎหมายและไม่เสนอแนะว่าควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร แต่ขอเน้นให้นักศึกษากฎหมายลองสำรวจตนเองดูว่ามีปัญหานี้อยู่หรือไม่ และไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ควรแก้ปัญหานั้นด้วยตนเอง

ขอปิดท้ายข้อเขียนชิ้นนี้ด้วยการสารภาพว่า สมัยที่ผมเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่วิชาโปรดของผมนักแม้ว่าในช่วงนั้นจะมีบรรยากาศของประชาธิปไตยอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ตาม ตอนที่ผมสอบเข้าเรียนระดับปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็เลือกสาขากฎหมายระหว่างประเทศ (แม้ว่าจะมีวิชาบังคับที่จะต้องเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย) ท่านผู้ที่ทำให้ผมต้องมาเกี่ยวข้องกับวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและผูกพันกับวิชานี้มาจนทุกวันนี้ก็คือท่านศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม

กล่าวคือ เมื่อตอนที่ผมได้รับทุนรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อไปเรียนปริญญาเอกทางกฎหมายที่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2523 นั้น ท่านอาจารย์ไพโรจน์เรียกผมไปพบและสอบถามว่าผมจะไปเรียนสาขาอะไร ผมก็เรียนท่านแบบลังเลว่าอาจจะเรียนกฎหมายระหว่างประเทศ (เพราะตอนนั้นก็ยังมีความคิดอยากไปทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศอยู่เหมือนกัน) ท่านอาจารย์ไพโรจน์บอกผมว่า คุณไปเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญเถอะ ที่ฝรั่งเศสมีการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้นและก้าวหน้ามาก และสำหรับเมืองไทย เชื่อเถอะว่ามันยังจะต้องร่างรัฐธรรมนูญกันอีกหลายครั้ง เหตุการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าท่านอาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม พูดไว้อย่างถูกต้องตั้งแต่เมื่อปี 2523!!!

ข้อเขียนชิ้นนี้จึงเป็นเรื่องบ่นๆ ของคนที่รับหน้าที่สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญต่อเนื่องกันมาเกือบ 30 ปี และอยากจะเห็นการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประสิทธิภาพการเรียนการสอนนั้นนอกจากการพัฒนาด้านผู้สอนแล้ว การพัฒนาทางด้านผู้เรียนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ข้อเขียนจึงนี้เป็นเพียงข้อเสนอปัญหาในทางด้านผู้เรียน หากการวิเคราะห์ของผมมีส่วนถูกต้องอยู่บ้าง หวังว่าคงจุดประกายให้มีการแก้ปัญหากันต่อไป

วิษณุ วรัญญู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image