บาดแผลการต่อสู้ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

แฟ้มภาพ

อันที่จริงการชุมนุมประท้วงของประชาชนเพราะทนไม่ไหวกับปัญหาความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม ต้องลุกฮือออกมาบนท้องถนน ไม่ควรลงเอยด้วยการถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงจากรัฐ อย่างเช่นเสื้อแดง 99 ศพ หรือไม่ควรโดนดำเนินคดีทางกฎหมายมากมายอ่วมอรทัย

อย่างในช่วงระยะนี้ มีการยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส.หลายข้อหา ทั้งกบฏ ก่อการร้าย ก่อนหน้านี้แกนนำเสื้อเหลือง ก็เพิ่งโดนฟ้องร้องคดีบุกยึดสนามบิน โดนเรียกเงินชดใช้ 522 ล้านบาท ถึงขั้นหมดตัว โดนยึดทรัพย์ หรือถูกฟ้องล้มละลายเป็นแน่

กระนั้นก็ตาม ปัญหาที่น่าสนใจก็คือ ในกระบวนการต่อสู้ในแต่ละครั้งนั้น แกนนำซึ่งเป็นผู้กำหนดแผนขั้นตอนต่างๆ ประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้องหรือไม่ ประเภทประกาศยกระดับการต่อสู้ นำผู้ชุมนุมบุกไปนั่นบุกไปนี่ ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหาตามมาในภายหลัง ถูกฟ้องร้องทั้งอาญาทั้งแพ่งหนักหนาสาหัส

รวมทั้งแกนนำที่เป้าหมายแอบแฝง ไปสมคบกับกลุ่มอำนาจนอกระบบ กำหนดขั้นตอนการเคลื่อนไหวเอาไว้แล้ว อย่างไม่เป็นธรรมชาติ

Advertisement

ถ้าย้อนไปดูการต่อสู้ของประชาชนที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เช่น 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีนักศึกษาเป็นผู้นำการประท้วง แล้วประชาชนทั่วประเทศลุกฮือออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ขณะที่แกนนำคือนักศึกษา ก็ทำไปตามจิตวิญญาณเพื่อประชาธิปไตยอันบริสุทธิ์ ไม่มีเป้าหมายซ่อนเร้น

อีกทั้งความรุนแรงทำให้ลุกลามบานปลาย เกิดจากฝ่ายรัฐใช้อาวุธเข้าปราบปรามจนนองเลือด เลยยิ่งไปกันใหญ่

สุดท้ายการต่อสู้ของ 14 ตุลาฯ ได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง ปิดฉากกลุ่มอำนาจขณะนั้นอย่างสิ้นเชิง ก็เลยไม่มีคดีความเกิดขึ้นกับแกนนำการต่อสู้หรือกับผู้ร่วมการชุมนุมตามมา

Advertisement

ในช่วงปี 2516-2519 ที่ขบวนการนักศึกษาเข้มแข็งยิ่งใหญ่ ต่อสู้เคลื่อนไหวในแทบทุกปัญหาทางการเมืองและความเป็นธรรม มีการชุมนุมประท้วงบ่อยๆ

แต่จะพบว่าแค่ชุมนุมสนามหลวง หรือในธรรมศาสตร์ ก็กลายเป็นแรงกดดันมากพอ จนบรรลุเป้าหมายบ่อยๆ

ยุคนั้นศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ ไม่เคยประกาศยกระดับ เอามวลชนไปยึดทำเนียบ เอามวลชนไปยึดสภา ไม่เคยพาม็อบบุกไปคุกคามสื่อมวลชนเพื่อให้เสนอข่าวเข้าข้างการชุมนุม

มีแต่พลังที่เป็นจริง ไม่มีเรื่องก้าวร้าวเกินงาม หรือกระทำการผิดกฎหมายจนเป็นคดีความตามมามากมาย

จนเกิดม็อบเสื้อเหลืองในช่วงปี 2548-2549 ซึ่งเป้าหมายก็ตรงกันข้าม คือ เรียกร้องอำนาจนอกระบบเข้ามาหยุดรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้วยเหตุผลว่าเป็นทุนสามานย์

จะพบว่ามีการนำมวลชนไปยึดสถานที่ราชการต่างๆ คุกคามสื่อมวลชน โดยไม่เคยเคารพหลักเสรีภาพข่าวสาร

หนักหนาสุดคือการยึดสนามบิน ซึ่งเป็นคดีที่นานาชาติเฝ้าจับตามอง กระทบต่อความเชื่อมั่นในระดับโลก ในด้านความปลอดภัยของธุรกิจการบิน ความรับผิดชอบทางอาญาและแพ่งจึงปฏิเสธไม่ได้

มาถึงม็อบ กปปส.ในปี 2556-2557 ท่วงทำนองก็ไม่ต่างกัน เป้าหมายการต่อสู้ก็คล้ายกัน คือ ต่อต้านนักการเมืองชั่ว แต่พอเขายุบสภากลับไม่เลือกทางออกเพื่อรักษาประชาธิปไตยเอาไว้

ขณะเดียวกันด้วยกระบวนการประท้วง ที่ต้องนำมวลชนสุ่มเสี่ยงไปบุกยึดสถานที่ต่างๆ ทำกระทั่งบุกเข้าไปในสถานีโทรทัศน์เพื่อบังคับให้เสนอข่าวเข้าข้างและบังคับให้คนนั้นคนนี้เป่านกหวีด

ลงเอยกระบวนการประท้วงที่มีเป้าหมายบางอย่างและกำหนดท่วงทำนองดุเดือดเกินจากสถานการณ์ที่เป็นจริง ด้วยรัฐบาลขณะนั้นยังมีมวลชนที่ให้การสนับสนุนอยู่เช่นกัน และมีทางออกที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลเองอยู่แล้ว คือ แนวทางประชาธิปไตย

ก็เลยต้องไปพึ่งการรัฐประหารและกระบวนการทางกฎหมายก็ต้องเดินหน้าไม่อาจหยุดยั้งได้

………………..

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image