ซิมโฟนีหมายเลข1ของรัคมานินอฟ : ผลงานที่ต้องคำสาป : อาศรมมิวสิกโดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ในสมัยที่ผู้เขียนยังจัดรายการดนตรีคลาสสิกทางสถานีวิทยุอยู่นั้น มีความรู้สึกสุขใจและภาคภูมิใจมากในยามที่ได้เปิดแผ่นเสียงคลาสสิกประเภท “เพลงดีแต่ไม่เป็นที่รู้จัก” (ความจริงความรู้สึกนี้มักเกิดกับนักจัดรายการเพลงทุกประเภทเพราะเบื่อที่จะต้องเปิดแต่เพลงดังๆ ซ้ำไป-ซ้ำมาตามคำขอ ทั้งๆ ที่มีเพลงดีๆ แต่ไม่เป็นที่รู้จักให้เลือกฟังอีกมากมาย)

สำหรับในวรรณกรรมเพลงคลาสสิกแล้ว เพลงดีๆ ที่ถูกโลกลืมเหล่านี้ มีทั้งผลงานของนักประพันธ์ดนตรีในกระแสรองๆ ที่ผลงานยังไม่สามารถฝ่าด่านกำแพงเหล็กของบรรดานักประพันธ์ยอดนิยมในกระแสหลักได้ ซึ่งนี่ก็ยังพอเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ไม่ยาก ผลงานของศิลปินกระแสรองขายยากกว่าอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่ทว่ายังมีผลงานดนตรีอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งทั้งๆ ที่เป็นผลงานระดับ “Masterpiece” (ผลงานชิ้นเอก) ของนักประพันธ์ดนตรีที่ยิ่งใหญ่อยู่แล้ว แต่ก็กลับถูกโลกลืมไปได้อย่างยากที่จะเข้าใจ

และเมื่อกล่าวถึงในประเด็นนี้แล้ว ซิมโฟนีหมายเลข 1 ของ เซอร์เกย์ รัคมานินอฟ (Sergey Rachmaninov) ก็คือหนึ่งในกรณีตัวอย่างที่ว่านี้ และทุกครั้งที่ได้มีโอกาสหยิบผลงานชิ้นนี้เปิดออกอากาศเมื่อใดก็มักจะกล่าวว่า พวกเราโชคดีกว่ารัคมานินอฟเหลือเกินที่ได้มีโอกาสฟังผลงานชิ้นนี้ ในมาตรฐานการบรรเลงที่สูงพอที่จะสามารถแสดงศักยภาพ, แนวความคิดทางดนตรีต่างๆ ของตัวบทเพลงออกมาได้อย่างหมดจด ในขณะที่เจ้าตัวรัคมานินอฟผู้ประพันธ์เองที่ตั้งใจและให้กำเนิดมันขึ้นมาอย่างแสนจะยากเย็น กลับต้องจากโลกนี้ไปด้วยความทรงจำอันเลวร้ายจากผลงานชิ้นเอกนี้

ความจริงแล้วเรื่องราวของรัคมานินอฟในช่วงวัยเด็กจนถึงช่วงเวลาของการประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 1 นั้น มีความน่าสนใจมากในอันที่เราจะเข้าใจได้ถึงความสำเร็จ, ความล้มเหลว และการหวนย้อนกลับมายืนหยัดได้อย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิมของศิลปินระดับตำนานแห่งยุคสมัยผู้นี้

Advertisement

รัคมานินอฟเกิดมาในครอบครัวที่มีเชื้อสายผู้ดีเก่าแก่ บิดาเป็นนายทหารด้วยความมือใหญ่ใจเติบของเขาได้ล้างผลาญทรัพย์สมบัติจนแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว พาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก(St.Petersberg) และพ่อ-แม่เขาก็มาแยกทางกันในช่วงนี้ หนูน้อยรัคมานินอฟเริ่มมีแนวโน้มว่าจะใช้ชีวิตนอกลู่นอกทางแบบบิดา แม้จะเป็นเด็กหัวดีสูงด้วยพรสวรรค์จนได้รับทุนการศึกษาที่สถาบันดนตรี (Conservatory) แห่งเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่รัคมานินอฟ
ก็เป็นเด็กที่ขาดระเบียบวินัยอย่างมาก หนีเรียน แต่กลับเชื่อมั่นในพรสวรรค์โดยกำเนิดของตัวเอง

มาถึงตอนนี้แม่ของเขาจึงไปปรึกษากับญาติผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งที่เป็นนักเปียโนคนสำคัญในขณะนั้นนามว่า “อเล็กซานเดอร์ ซิโลติ” (Alexander Siloti) ว่า หากปล่อยทิ้งไว้แบบนี้รัคมานินอฟ เสียผู้เสียคนอย่างแน่นอน..

คิดไม่ผิดทีเดียว ซิโลติแนะนำให้ย้ายรัคมานินอฟวัย 12 ปี มาเรียนต่อที่สถาบันดนตรีแห่งมอสโก (Moscow Conservatory) สถาบันดนตรีอันเป็นคู่แข่งและคู่ปรับสำคัญกับสถาบันดนตรีแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ด้วยเหตุผลที่ว่า ณ สถาบันดนตรีแห่งนี้ มีครูเปียโนมือปราบขมังเวทย์ผู้หนึ่งนามว่า “นิโคไล ซเวอเรฟ” (Nikolai Sverev) เขาเป็นทั้งนักเปียโนและครูเปียโนฝีมือเยี่ยม มีปฏิปทาและวัตรปฏิบัตรเยี่ยง “ครูโบราณ” (ที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน) ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความดุร้าย, เคร่งครัด ปราบบรรดาลูกศิษย์ “หัวดี-หัวดื้อ” ที่เย่อหยิ่งในพรสวรรค์ได้อยู่หมัด นิโคไล ซเวอเรฟ จะเลี้ยงดูบรรดา “ลูกเสือ-ลูกตะเข้” เหล่านี้อยู่ในบ้าน เด็กๆ จะถูกบังคับให้ตื่นขึ้นมา ฝึกเปียโนกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า และถ้าได้ยินว่าเล่นผิด เขาจะเดินออกมาจัดการดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรง และขึ้นชื่อว่าลงไม้ลงมือ ทุบตีเด็กๆ เหล่านี้อยู่เป็นประจำ

Advertisement

หลังจากนั้นในเวลาว่างถ้ามีการจัดการแสดงดนตรีดีๆ เกิดขึ้นเขาจะพาเด็กๆ ออกไปเปิดหู-เปิดตา ชมคอนเสิร์ตดีๆ เป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้นในวันอาทิตย์เขาก็จะพาเด็กๆ ไปออกงานสังคมพบปะกับบุคคลชั้นนำ และบรรดาศิลปินดนตรีรุ่นใหญ่แห่งยุคสมัยทั้งหลาย เรียกได้ว่า ซเวอเรฟเป็นครูโบราณที่เปี่ยมด้วยพระเดชและพระคุณอย่างครบถ้วน บรรดาเด็กๆ ลูกเสือ-ลูกตะเข้พรสวรรค์สูงทั้งหลายถูกปราบอยู่หมัดด้วย “ยาแรง” อย่างครูนิโคไล ซเวอเรฟ ผู้นี้ รวมถึงรัคมานินอฟในวัย 12 ปี

ในช่วงเวลาที่เรียนอยู่ ณ สถาบันดนตรีแห่งมอสโกนี้เอง รัคมานินอฟเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกฝ่ามือ, เขากลายเป็นเด็กมีพรสวรรค์ที่สูงด้วยระเบียบวินัยมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เขาหันมาสนใจด้านการประพันธ์ดนตรีเป็นอย่างมาก อายุได้เพียง 12-13 ปี เขาเริ่มประพันธ์ดนตรีสำหรับวงออเคสตราอย่างบทเพลง “สแกร์โซ” (Scherzo for Orchestra) ในวัยเพียง 13 ปี เขานำเอาบทเพลง “มันเฟรดซิมโฟนี” (Manfred Symphony) ของไชคอฟสกี (P.Tchaikovsky) ที่เพิ่งแต่งเสร็จมาเรียบเรียงให้บรรเลงด้วยเปียโน 2 หลัง ไปมอบให้ไชคอฟสกี สร้างความประหลาดใจให้กับดุริยกวีใหญ่อย่างไชคอฟสกีเป็นอันมาก

ผลงานการประพันธ์ดนตรียังคงหลั่งไหลออกมาอย่างไม่หยุดยั้งในช่วงเวลาที่สถาบันดนตรีแห่งมอสโกนี้ รัคมานินอฟตั้งความหวังไว้ว่าเขาจะต้องคว้ารางวัลผลการเรียนดีเยี่ยมมาให้จงได้ และเขาก็ทำสำเร็จ ด้วยผลงานปริญญานิพนธ์อุปรากรแบบองก์เดียวจบเรื่อง “อะเลโก” (Aleko) อุปรากรที่สร้างขึ้นจากเรื่องราวของชุมชนยิปซีเร่ร่อน การฆ่าล้างแค้นนางเอกยิปซีสาวพราวเสน่ห์ ที่หักหลังอะเลโกพระเอกของเรื่องไปแต่งงานกับหนุ่มยิปซีด้วยกัน

ดุริยกวีใหญ่อย่างไชคอฟสกีได้ไปร่วมชมการแสดงในรอบปฐมทัศน์และชื่นชมผลงานนี้มาก รัคมานินอฟใช้เวลาประพันธ์อย่างรวดเร็วเพียง 17 วัน นี่เป็นผลงานที่ทำให้รัคมานินอฟได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทอง และเริ่มเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีกับไชคอฟสกี มิตรภาพรุ่นพ่อที่ก่อตัวขึ้น ไชคอฟสกีเองชื่นชอบ-ยอมรับในอัจฉริยภาพทางดนตรีของรัคมานินอฟเป็นอย่างมาก เขาตั้งใจนำผลงานดนตรีหลายชิ้นของรัคมานินอฟมาแสดงประกบร่วมกับผลงานดนตรีของเขา รวมถึงอุปรากร “Aleko” เรื่องนี้ด้วย

แต่แล้วก็เสมือนสายฟ้าฟาดเมื่อไชคอฟสกีมาด่วนเสียชีวิตจากไป ในปี ค.ศ.1893 ความหวังที่จะพึ่งพาเกาะชายผ้าเหลืองไชคอฟสกีโด่งดังเคียงคู่กันไปต้องมามีอันจบสิ้นลง..

แม้จะสิ้นผู้ใหญ่อุปถัมภ์อย่างไชคอฟสกีไปแล้วรัคมานินอฟยังคงปรารถนาจะเป็นดุริยกวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งสำนักรัสเซีย เขามุ่งมั่นทะเยอทะยานถึงขั้นที่ว่า ซิมโฟนีบทแรกที่เขาจะประพันธ์ขึ้นนี้จะต้องเป็นผลงานที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การแต่งเพลงซิมโฟนีของประเทศรัสเซียขึ้นมาใหม่ ในเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1895 รัคมานินอฟ ในวัยหนุ่ม 22 ปี ที่กำลังเต็มไปด้วยพลังความสามารถอย่าง “สด” และสมบูรณ์ ทุ่มเทเขียนซิมโฟนีบทแรกจนสำเร็จ ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเปี่ยมล้นว่า มันจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของการแต่งเพลงซิมโฟนีในแนวทางของรัสเซียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เขานำไปเสนอทดลองเล่นด้วยเปียโนให้ เซอร์เกย์ ทานิเยฟ (Sergei Taneyev) ดุริยกวีและอดีตอาจารย์ของเขาฟัง ซึ่งถูกวิจารณ์, ไม่เห็นด้วย และเสนอให้ปรับปรุงแก้ไข รัคมานินอฟผู้เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวตัดสินใจเด็ดขาดนำผลงานชิ้นสำคัญในชีวิตนี้ไปเสนอส่งมอบให้กับสำนักคู่ปรับสำคัญที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนำออกแสดง เค้ารางไม่ดีเริ่มมีขึ้นในระหว่างการซ้อม เจ้าสำนักสำคัญอย่าง ริมสกี-คอร์ซาคอฟ (Nikolai Rimsky-Korsakov) ออกปากไม่ชื่นชมกับผลงานชิ้นนี้ รวมไปถึงอเล็กซานเดอร์ กลาซูนอฟ (Alexander Glazunov) ดุริยกวีและปรมาจารย์คนสำคัญที่ทำหน้าที่วาทยกรก็เสนอให้แก้ไขบทเพลงหลายตอน รัคมานินอฟยังยืนกรานความคิดทางดนตรีดั้งเดิมของเขาทั้งหมด

วันพิพากษา (รอบปฐมทัศน์) มาถึงในเดือนมีนาคม ค.ศ.1897 กลาซูนอฟรับหน้าที่วาทยกรที่ไม่ได้ซาบซึ้งกับผลงานชิ้นนี้ (จากสำนักมอสโกคู่ปฏิปักษ์สำคัญ) ทำผลงานชิ้นนี้แตกย่อยยับ ซิมโฟนีที่เขียนไว้ด้วยชั้นเชิงทางดนตรีอย่างสูงส่ง ได้รับการบรรเลงอย่างสุกเอาเผากิน เละเทะ

รัคมานินอฟเล่าเหตุการณ์ย้อนหลังในอีกหลายๆ ปีต่อมาว่าเขาทนฟังอยู่ไม่ได้ ต้องเดินออกมานั่งแอบอยู่ที่บันไดหนีไฟ งอตัวคุดคู้ เอานิ้วมือทั้งสองอุดรูหูทั้งสองข้าง เพื่อมิให้ได้ยินเสียงซิมโฟนีแห่งความหวังนั้น กำลังย่อยยับแตกสลาย ต่อหน้าต่อตาเขา
เขาเดินออกจากโรงคอนเสิร์ตสู่ท้องถนนอันมืดมิดเปล่าเปลี่ยวยามราตรีแห่งเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อย่างโดดเดี่ยวพร้อมลมหายใจแห่งความปวดร้าวจนเจ็บปวดไปทั่วสรรพางค์ (หลายคนในคอนเสิร์ตยืนยันว่ากลาซูนอฟกำลังเมาเหล้าแปร๋ในขณะอำนวยเพลง!)

ไม่กี่วันต่อมา “เซซาร์ ควี” (Cesar Cui) ดุริยกวีและนักวิจารณ์ดนตรีคนสำคัญห่งสำนักเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเขียนบทวิจารณ์เหยียบซ้ำอีกในทำนองที่ว่านี่คือ “ซิมโฟนีชั้นยอดในนรกภูมิ”

รัคมานินอฟกลับสู่มอสโกในสภาพนกปีกหัก จิตหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงจนแต่งเพลงไม่ได้ถึง 3 ปี และเรื่องราวก็เป็นแบบที่หลายๆ คนรู้กันว่า รัคมานินอฟได้จิตแพทย์ นิโคไล ดาห์ล (Nikolai Dahl) ช่วย “สะกดจิต” รักษาจนจิตใจกลับคืนสู่สภาวะปกติ และกลายเป็นนักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต …

ตลอดชีวิต รัคมานินอฟไม่ยินยอมให้มีการรื้อฟื้นนำผลงานชิ้นนี้ออกมาบรรเลงใหม่หรือตีพิมพ์เผยแพร่ใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากเขาลี้ภัยออกนอกรัสเซียในปี ค.ศ.1917 เชื่อกันว่าสกอร์ดนตรีบทนี้สาบสูญไปแล้ว จวบจนกระทั่ง 2 ปี หลังมรณกรรมของรัคมานินอฟ จึงมีการค้นพบโน้ตแนวการบรรเลงของเครื่องดนตรีต่างๆ ในวงออเคสตรา (Part) ณ หอสมุดของสถาบันดนตรีแห่งเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และโน้ตฉบับย่อสำหรับบรรเลงด้วยเปียโนสองหลังที่รัคมานินอฟเรียบเรียงไว้ด้วยตนเอง (ในปี ค.ศ.1898)

ด้วยวัตถุดิบเหล่านี้ “อเล็กซานเดอร์ เกาค์” (Alexander Gauk) วาทยกรคนสำคัญได้ทำการชำระรวบรวมขึ้นมาใหม่และนำออกแสดงรอบที่สอง ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1945 โดยเขาอำนวยเพลงด้วยตนเองที่กรุงมอสโก นับเป็นการชุบชีวิตใหม่ให้กับบทเพลงที่ต้องชะตากรรมอันร้ายกาจเช่นนี้

ทุกวันนี้แม้บทเพลงจะได้รับการบรรเลงอย่างพิถีพิถัน ถึงพร้อมด้วยมาตรฐานแล้วแต่เราจะพบว่ามันยังคงหลบอยู่ในเงามืด เมื่อเทียบกับซิมโฟนีหมายเลข 2 ของเขาที่ฟังกันซ้ำแล้ว-ซ้ำอีกทั้งในการบันทึกเสียงและการแสดงสด หรือแม้แต่หมายเลข 3 ของเขา ก็ยังคงได้รับการนำออกแสดงบ่อยกว่า

สำหรับในเมืองไทยเรามีการบรรเลงสดเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือเมื่อครั้งที่วง “USSR State Symphony Orchestra” จากอดีตสหภาพโซเวียต มาแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ.2532 ภายใต้การอำนวยเพลงโดยวาทยกรผู้เป็นตำนานอย่าง “เยฟเกนี สเว็ตลานอฟ” (Evgeny Svetlanov) หลังจากนั้นไม่มีวงออเคสตราใดๆ อีกเลย (ทั้งวงในเมืองไทยหรือวงอาคันตุกะจากต่างแดน) ที่จะนำผลงานชิ้นนี้ออกมาบรรเลงให้ฟังสดๆ กันอีกทั้งๆ ที่เป็นผลงานชั้นยอดเยี่ยมด้วยประการทั้งปวง ลองไปดูรายการเพลงของวงออเคสตราชั้นนำทั้งหลายในการออกทัวร์คอนเสิร์ต เราก็แทบจะไม่พบการนำผลงานนี้ออกมาบรรจุในรายการกันอีกแม้ในปัจจุบัน (แม้ว่าผลงานบันทึกเสียงในแผ่นซีดีจะมีอยู่มากพอสมควร)

นักประพันธ์ดนตรีเอกของโลกชาวอังกฤษแห่งศตวรรษที่ 20 “โรเบิร์ต ซิมป์สัน” (Robert Simpson) ดูจะอึดอัดกับปรากฏการณ์นี้ไม่น้อย เขายืนยันว่านี่เป็นซิมโฟนีที่ยิ่งใหญ่และสร้างสรรค์มาก หากรัคมานินอฟได้เดินตามแนวทางการเขียนเพลงซิมโฟนี ตามที่ได้เริ่มต้นไว้กับบทนี้ จะกลายเป็นแนวทางใหม่ที่ท้าทายและน่าสนใจที่สุด และหากเขาเป็นรัคมานินอฟเองแล้ว หากต้องให้เลือกว่าจะต้องนำซิมโฟนีที่เขียนไว้ 1 ใน 3 บท ออกมาทำลายเซ่นสังเวยใดๆ แล้ว เขาจะไม่เลือกซิมโฟนีหมายเลข 1 บทนี้เป็นอันขาด!

ผู้เขียนเองอ่านแล้วตื่นเต้นเห็นด้วยเป็นที่สุด ไม่จำเป็นว่าจะต้องวิเคราะห์สกอร์ดนตรีในเชิงลึกในเชิงทฤษฎีใดๆ ทั้งสิ้น ขอเพียงใช้แค่การ “เปิดหู” และ “เปิดใจ” รับฟัง ก็จะพึงซาบซึ้งได้เป็นอย่างดีด้วยใจตนเอง

ทั้งหมดนี้ก็เขียนขึ้นด้วยแรงบันดาลใจอันแรงกล้า และความใฝ่ฝันว่าอีกว่าเมื่อใดหนอที่เราจะได้ยินซิมโฟนีบทนี้ดังอย่างก้องกังวานในโรงคอนเสิร์ตจริงๆ อีกสักครั้ง เกือบ 30 ปีล่วงมาแล้ว ที่เราไม่เคยได้ยินมันอีกเลย แต่หมายเลข 2 ยอดฮิตที่เปี่ยมล้นด้วยพลังอารมณ์อันฟูมฟายนั้น ได้ฟังสดๆ อีกหลายรอบทีเดียว

เรื่องเป็นแบบนี้แล้วจะไม่ให้เรียกว่า “ซิมโฟนีต้องคำสาป” ได้อย่างไร..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image