ประเทศไทยก็มี Asperitas เมฆหายาก! : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ภาพที่ 1 : แอสเพริแทสที่จันทบุรี 3 มกราคม 2555 8:55น. ใกล้เขาสอยดาวเหนือ ภาพ : บุญเอก ทรงเนติเชาวลิต
บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้เปิดตัว International Cloud Atlas ปรับปรุงใหม่หลังจากที่แหล่งข้อมูลอ้างอิงระดับโลกนี้อยู่ในภาวะจำศีลมานานกว่า 30 ปี การปรับปรุงครั้งล่าสุดนี้มีแง่มุมสนุกๆ เช่น ใช้เว็บ ภาพคมชัด ข้อมูลแน่นปึ้ก ระบบสืบค้นยอดเยี่ยม และมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับเมฆและปรากฏการณ์ต่างๆ ในบรรยากาศ

ลักษณะของเมฆที่ขอกล่าวถึงครั้ง คือ แอสเพริแทส (asperitas) เพราะแม้ว่าจะหายาก แต่ตอนนี้ในบ้านเราพบแล้วหลายกรณี ดูภาพทั้งหมดที่นำมาฝากสิครับ

เมฆแบบนี้ดูคล้ายผิวน้ำปั่นป่วน กินพื้นที่กว้างบนฟ้า คำว่า asperitas เป็นภาษาละตินแปลว่า “ขรุขระ” ลักษณะแอสเพริแทสจัดเป็นลักษณะเสริม (supplementary feature) หรือ “อ๊อปชั่นเสริม” ของเมฆ 2 สกุล ได้แก่ สเตรโตคิวมูลัส และแอลโตคิวมูลัส

ภาพที่ 2 : แอสเพริแทสที่กรุงเทพ
5 มิถุนายน 2556 6:38น. บางกะปิ
ภาพ : My name’s TaRay
ภาพที่ 3 : แอสเพริแทสที่โคราช
10 มกราคม 2561 11:00น.
ภาพ : กัมปนาท สมัครการ

จริงๆ เคยมีผู้พบเมฆแอสเพริแทสมานานกว่า 30 ปีแล้ว เช่น Margaret Anne LeMone ผู้เชี่ยวชาญด้านเมฆซึ่งทำงานที่ ศูนย์วิจัยแห่งชาติเพื่อการวิจัยสภาพบรรยากาศ (National Center for Atmospheric Research) และเธอก็คิดว่าน่าจะเป็นเมฆรูปแบบใหม่

Advertisement

ก่อนหน้าที่ WMO จะยอมรับอย่างเป็นทางการนั้น นักดูเมฆก็รู้จักเมฆนี้ในนาม “แอสเพอเรตัส (asperatus)” อยู่แต่เดิมแล้ว ชื่อเดิม asperatus มาจากคำกริยาในภาษาละตินคือ aspero แปลว่า ทำให้ขรุขระ และคำว่า asperatus นี้เองที่กวีชาวโรมันใช้บรรยายผิวน้ำทะเลซึ่งปั่นป่วนเนื่องจากลมหนาวที่พัดมาจากทิศเหนือ

แต่กระแสความตื่นตัวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ Jane Wiggins ถ่ายภาพเมฆแบบนี้ได้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.2006 และส่งภาพนี้ไปให้ The Cloud Appreciation Society หลังจากนั้น ภาพคล้ายๆ กันก็ทยอยเข้ามายังสมาคมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

พอถึงเดือนธันวาคม ค.ศ.2008 นาย Gavin Pretor-Pinney ผู้ก่อตั้ง The Cloud Appreciation Society ก็ได้รวมรวมภาพและข้อมูลไปนำเสนอต่อราชสมาคมด้านอุตุนิยมวิทยา (Royal Meteorological Society) ของอังกฤษ ประเด็นสำคัญคือ ลักษณะคล้ายคลื่นปั่นป่วนนี้ไม่อาจจัดให้อยู่ในรูปแบบใดๆ ของเมฆที่ทาง WMO ระบุไว้ใน International Cloud Atlas ขณะนั้น ดังนั้น เมฆนี้น่าเป็นรูปแบบใหม่

Advertisement

ราชสมาคมฯ คล้อยตามและสนับสนุนโดยรวบรวมข้อมูลสภาวะลมฟ้าอากาศประกอบภาพ แล้วส่งข้อมูลและข้อคิดเห็นไปให้ WMO พิจารณา ผลลัพธ์ก็คือ WMO ยอมรับในสาระสำคัญ โดยจัดให้เป็นลักษณะเสริม แต่ปรับชื่อจาก asparatus เป็น asperitas

ภาพเมฆแอสเพริแทสของ Jane Wiggins เคยขึ้นหน้าเว็บของ National Geographic เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2009 แถมในปีนั้น Time Magazine ยังเลือกเมฆรูปแบบนี้ให้เป็นหนึ่งใน 50 สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดในปี 2009 อีกต่างหาก นอกจากนี้ยังมีวิทยานิพนธ์ชื่อ Asperatus : the Application of Cloud Classification to a Suggested New Cloud Type ในปี ค.ศ.2010 ซึ่งศึกษากลไกการเกิดเมฆรูปแบบนี้ด้วย (สังเกตว่าชื่อเมฆในวิทยานิพนธ์ยังเป็น Asperatus)

ย้อนกลับไปดูภาพที่ 1 อีกครั้ง คุณบุญเอก บอกว่า “สภาพอากาศครึ้มๆ เหมือนฝนจะตก ภาพนี้ถ่ายที่บริเวณร้านกาแฟภูตะวัน (ใกล้เขาสอยดาวเหนือ)” แต่น่ารู้ด้วยว่า ตามปกติเมฆแอสเพริแทสมักไม่มีฝนตก และเมฆนี้มักจะสลายตัวไปในเวลาไม่นานนัก (เช่น 15 นาที)

ภาพที่ 2 คุณ My name’s TaRay ได้แสดงหลักฐานว่าเมฆแอสเพริแทสอาจเกิดในกรุงเทพได้ด้วยเช่นกัน

ภาพที่ 3 คุณกัมปนาท บอกว่า “ถ่ายรูปได้ใกล้ๆ ถนนมิตรภาพ เลยแยกบ้านโพธิ์ก่อนเข้าโคราช แถวนั้นเรียกบ้านตลาด-บ้านโพธิ์ อากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิของรถจับได้ราว 22 องศาเซลเซียส (เมื่อวานยังร้อน 29 องศาเซลเซียส) ผมเห็นเมฆนี้ระหว่างขับรถมาทำงาน อยู่บนถนนมิตรภาพ ตั้งแต่แยกโนนสูง (นครราชสีมา) แล้วขับต่อเนื่องมาประมาน 20 นาที จึงจอดรถเพื่อถ่ายภาพ (เวลา 11น.) แต่หลังจากนั้นไปทำงาน ไม่ได้สังเกต แต่ช่วงประมาณ 13 น. ขับรถกลับไม่เห็นแล้วครับ”

ทั้ง 3 ภาพนี้ยืนยันว่าในบ้านเราก็มีโอกาสพบเมฆหายากอย่างแอสเพริแทสได้ เพียงแค่หมั่นมองท้องฟ้าให้บ่อยขึ้น….เท่านั้นเองครับ! 😀


ขุมทรัพย์ทางปัญญา
สนใจภาพและข้อมูลเพิ่มเติม ขอแนะนำข้อมูลใน International Cloud Atlas ที่ https://cloudatlas.wmo.int/cloudssupplementary-
features-asperitas.html


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image