นาฬิกาและความสัมพันธ์เชิงระบบ โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมให้สงสัยอย่างยิ่งว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งรับตำแหน่งนายกฯ กำลังสับสนระหว่างการเป็นหัวหน้า คสช.กับหัวหน้ารัฐบาล

เริ่มจากมีบางคนเสนอมานานแล้วว่า หัวหน้าคณะรัฐประหารควรใช้ ม.44 ในการปลดรองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลออกเสีย หรืออย่างน้อยก็พักงานระหว่างที่มีการสอบสวนเรื่องนาฬิกาข้อมืออันอื้อฉาว

ทำไมถึงต้องใช้ ม.44 ผมก็ไม่เข้าใจ เพราะในฐานะนายกรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจและความชอบธรรมจะเชิญรัฐมนตรีคนใดออกจากตำแหน่งก็ได้ ก็คนเป็นนายกฯคือผู้ตั้งคนเหล่านั้นเป็นรัฐมนตรีมากับมือเองทั้งนั้น

คนนอกแสดงความประสงค์ให้ปลดหรือระงับการทำงานของรัฐมนตรี นี่เป็นความประสงค์หลัก ส่วนรายละเอียดวิธีการอาจผิดหลักการไปบ้าง ก็พอเข้าใจได้

Advertisement

แต่ที่ไม่เข้าใจเลยก็คือ ตัวนายกรัฐมนตรีเองตอบนักข่าวว่า ยังไม่ใช้ ม.44 ปลดรัฐมนตรีผู้อื้อฉาวออกไป ปล่อยให้ระบบกฎหมายคือ ป.ป.ช.ทำงานของมันต่อไปก่อน

นายกฯก็สับสนระหว่างอำนาจของนายกรัฐมนตรีกับอำนาจของหัวหน้าคณะรัฐประหาร เพราะสองอย่างมันทับซ้อนกันจนแยกไม่ออก

ในประเพณีการปกครองของไทย ทั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หรือธรรมนูญการปกครองของคณะเผด็จการ ถือว่านายกรัฐมนตรีได้รับความไว้วางใจจากสภา (ซึ่งมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก็ตาม) ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงต้องรับผิดชอบต่อสภา (ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยคือตัวแทนที่พิสูจน์ได้ของประชาชน ในระบอบเผด็จการอ้างความเป็นตัวแทนโดยไม่ต้องพิสูจน์) นายกฯเป็นผู้ไปเลือกคนที่เป็นรัฐมนตรีเอง จะเลือกโดยแบ่งโควต้าระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล หรือเลือกตามแต่ตัวจะได้ผลประโยชน์มาก หรือเลือกตามความสามารถของบุคคลก็ตาม นายกฯก็ยังต้องรับผิดชอบต่อสภาอยู่นั่นเอง

Advertisement

ดังนั้น ประเพณีการปกครองจึงให้อำนาจนายกฯไว้ที่จะเอาบุคคลใดออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีก็ได้ สลับตำแหน่งก็ได้ ให้หยุดงานชั่วคราวก็ได้ เพราะตัวนายกฯคือผู้รับผิดชอบหลักต่อสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าสภาแต่งตั้งย่อมไม่ทำงานตามหน้าที่ อย่างเรื่องนาฬิกาอันอื้อฉาวนี้ สภาที่มาจากการเลือกตั้งจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว จะเป็นองค์กรแรกด้วยซ้ำที่ซักฟอกรัฐมนตรี (และนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรือโดยนัยยะ) เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นสาธารณะ คือให้รู้ทั่วกันทั้งสังคม หากรัฐมนตรีอธิบายได้น่าเชื่อถือก็แล้วไป หากอธิบายได้ไม่กระจ่างหรือน่าเชื่อถือพอ นายกฯ ก็จำเป็นต้องเอารัฐมนตรีคนนั้นออกไป เพื่อประคองรัฐบาลให้ได้รับความไว้วางใจทั้งจากสภาและประชาชนต่อไป

ในบางประเทศ หากรัฐมนตรีไม่อาจอธิบายให้เข้าใจได้ แม้แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเคยยกมือไว้วางใจรัฐบาลมาแล้ว ก็อาจงดออกเสียง (ซึ่งคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยทำในกรณี พ.ร.บ.เหมาเข่งมาแล้ว อันเป็นการกระทำที่งดงาม น่าเสียดายที่ ส.ส.เพื่อไทยคนอื่นไม่ทำตามให้มาก)

แต่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร ซึ่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้แต่งตั้งสภาขึ้นเอง จะหวังให้นายกฯต้องรับผิดชอบต่อสภาจึงเป็นไปไม่ได้

แล้วนายกฯต้องรับผิดชอบต่อใคร? ว่ากันตามความเป็นจริง คือต้องรับผิดชอบต่อ “อำนาจ” ของกลุ่มต่างๆ ที่ทำให้ตนได้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรี กลุ่มหลักเลยก็คือกองทัพ, นายทุน, ชนชั้นนำตามประเพณี, คนบางกลุ่มในระบบราชการพลเรือน, พรรคการเมืองฝ่ายค้านและนักการเมืองในวุฒิสภา, และแกนนำของ กปปส.ซึ่งสามารถระดมคนชั้นกลางในเมืองออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นกลุ่มก้อนได้

แต่เป็นความรับผิดชอบที่ไม่เหมือนความรับผิดชอบของผู้นำการเมืองในระบอบที่มีการเลือกตั้งทีเดียวนัก เพราะกลุ่ม “อำนาจ” เหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ความรับผิดชอบจึงจำกัดอยู่เพียงการตอบแทนด้วยผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายต้องการ ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของมหาชนทั่วไป ส่วนบางกลุ่มที่เรียกร้องผลประโยชน์มากเกินไป จนอาจเป็นภัยต่อคณะรัฐประหารได้ ก็ต้องกำราบให้ไปบวชเสียให้นานพอจนเป็นที่วางใจได้

ดังนั้น เมื่อหันกลับมาดูกลุ่ม “อำนาจ” ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ก็จะพบว่าผู้มาก “บารมี” จริงคือใคร มาก “บารมี” พอที่จะเชื่อมโยงกลุ่ม “อำนาจ” ต่างๆ ให้เข้ามาสนับสนุนการรัฐประหาร ตลอดจนสนับสนุนการคงอยู่ของคณะรัฐประหารสืบมาจนทุกวันนี้ เขาเป็นผู้มาก “บารมี” ในกองทัพ, กับเหล่าทุนขนาดใหญ่, กับนักการเมืองฝ่ายค้าน, กับข้าราชการพลเรือนบางกลุ่ม ฯลฯ (อาจไม่มากนักกับชนชั้นนำตามประเพณี เช่น ผู้มีอิทธิพลเหนือกรรมการขององค์กรอิสระและกลุ่มประชาสังคมส่วนใหญ่, นักวิชาการบางคน, ศิลปินและนักเขียนบางคน, ฯลฯ แม้กระนั้น ชนชั้นนำตามประเพณีก็เป็นกลุ่มที่ต้องการยุติพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ด้วยการรัฐประหารหรือวิธีอื่นก็ได้)

และคนคนนั้นคือผู้ที่ได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม

จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจในฐานะผู้นำรัฐบาล หรือหัวหน้า คสช.ก็ตาม จะปลดบุคคลผู้นี้ออกจากตำแหน่ง หรือแม้แต่ทำอะไรที่อาจกระทบชื่อเสียงเกียรติยศของเขา

คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจเคยชินที่จะมองเรื่องนี้จากความสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่ด้วยแน่ แต่ที่สำคัญกว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวคือความสัมพันธ์เชิงระบบ ซึ่งประกันให้โครงสร้างอำนาจดำรงอยู่อย่างมั่นคงกว่าบุญคุณ, ความรัก, ความศรัทธา ฯลฯ ใดๆ ที่มนุษย์ให้แก่กัน

เพราะความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างไม่อาจปรับเปลี่ยนโดยฉับพลันได้ และด้วยเหตุดังนั้น แม้แต่นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังต้องรักษารัฐมนตรีซึ่งถูกสังคมตั้งข้อระแวงสงสัยอย่างอื้อฉาวไว้ จนบางครั้งทำให้รัฐบาลล้มลง

เช่น คงจำกรณี ส.ป.ก.4-01 ได้ นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย จะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับรัฐมนตรีว่าการเกษตรฯสมัยนั้นมาสักเพียงไรก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวก็คือรัฐมนตรีมีสายสัมพันธ์เชิงควบคุมกับ ส.ส.ภาคใต้จำนวนหนึ่งซึ่งไม่น้อยเลย นอกจากการปลดรัฐมนตรีเกษตรฯจะเป็นการยอมรับข้อกล่าวหาโดยปริยายแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความปั่นป่วนในพรรคแกนนำรัฐบาลได้

นายกฯชวนในขณะนั้นเป็นผู้นำรัฐบาลผสม พรรคร่วมรัฐบาลย่อมต้องกดดันให้ปลดรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลที่จะล้มรัฐบาลเพื่อตนจะได้ขึ้นมานำรัฐบาลเอง หรือด้วยเหตุที่พรรคต้องรับผิดชอบต่อประชาชนก็ตาม ทำให้ในที่สุดนายกฯชวนต้องตัดสินใจยุบสภา

นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งแม้เป็นผู้นำรัฐบาลผสมเหมือนกัน แต่ด้วยเสียงของพรรคตนเองที่ท่วมท้น อีกทั้งตัวนายกฯเองก็เป็นแม่เหล็กดูดดึงคะแนนเสียงจากประชาชนได้สูงมากด้วย ทำให้ตัวนายกฯมีอำนาจต่อรองเหนือความสัมพันธ์เชิงระบบได้มากกว่านายกฯ คนใดเคยมีมาก่อน แม้กระนั้นก็ไม่อาจทนเฉยต่อความอื้อฉาวกรณีเครื่อง CTX ที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ ในที่สุดก็ต้องปรับตำแหน่งของเลขาธิการพรรคของตนเองออกจากรัฐมนตรีว่าการคมนาคม แต่นั่นก็หลังการอภิปรายของฝ่ายค้านในสภา และการกดดันอย่างหนักของสังคมอยู่นาน

นั่นคือพลังของความสัมพันธ์เชิงระบบ ซึ่งไม่อาจถูกปรับเปลี่ยนได้ง่ายๆ

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การปรับความสัมพันธ์เชิงระบบทำได้หรือเกิดขึ้นได้ โดยความสงบ แต่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร ความสัมพันธ์เชิงระบบจะถูกปรับได้อย่างไร โอกาสที่จะเป็นไปโดยสงบมีน้อย ในขณะที่โอกาสของความปั่นป่วนวุ่นวายจนถึงความรุนแรงมีมาก

ความสงบภายใต้อำนาจเผด็จการ เป็นภาพลวงตาเสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image