“พรรค”กับ”ไทยนิยม” โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แม้จะเชื่อกันว่ากติกาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับกฎหมายสูงสุดอย่าง “รัฐธรรมนูญ” หรือระดับปฏิบัติการอย่างกฎหมายประกอบ หรือกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งหมด จะเขียนขึ้นมาเพื่อปิดกั้น “ผู้นำพรรคการเมือง” และสร้างโอกาสเต็มที่ให้ “คนนอก” เข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” หลังการเลือกตั้ง

แต่ไม่ใช่จะง่ายจนไม่เป็นอื่นเสียทีเดียว หนทางของ “คนนอก” ยังมีอุปสรรคอยู่หลายเรื่องราว

ที่จะเป็นตัวขวางมากที่สุดคือ หากผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคการเมืองใหญ่ยังกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรได้ ไม่เป็นเบี้ยหัวแตกที่ทำให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กแย่งชิงเก้าอี้ไปได้มากพอ

ปัญหาย่อมเกิดขึ้นได้

Advertisement

วันนี้พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ที่ก่อนหน้านั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่าจะร่วมมือกันต่อสู้ด้วยเป้าหมายเดียวกันได้ แต่วันนี้ท่าทีของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนไปแล้ว

มีการสงวนการแสดงออกว่าจะร่วมกันได้หรือไม่ไว้ สำหรับดูข้อเท็จจริงทางการเมืองในอนาคต

แน่นอน มีความเป็นไปได้ที่จะต่อต้าน “นายกรัฐมนตรีคนนอก”

Advertisement

และถ้าสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นเท่ากับรัฐประหารที่ผ่านมา “เสียของ” อีกครั้ง

เพราะแม้จะถูลู่ถูกังจนจัดตั้งรัฐบาลที่มี “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ได้ ด้วยการสนับสนุนของกลุ่มการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง แต่การทำงานจะทุกลักทุเลอย่างยิ่งเนื่องจากการตรวจสอบทำได้เข้มข้นขึ้นของพรรคการเมือง

“รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ” ย่อมก่อปัญหาให้การพัฒนาประเทศไม่ยั่งยืน

หนทางเดียวที่จะก้าวผ่านอุปสรรคนี้คือ “พรรคที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอกจะต้องชนะการเลือกตั้ง หรืออย่างน้อยได้รับเลือกเข้ามาด้วยจำนวน ส.ส.ที่ใกล้เคียงกับพรรคการเมืองใหญ่”

ถ้าจะทำให้แน่ใจว่า “ไม่เสียของ” ต้องมีอะไรที่ทำให้เชื่อมั่นว่า “พรรคการเมืองหนุนคนนอก” ต้องช่วงชิงคะแนนในพื้นที่ได้

ที่ได้ยินมาคือ มีการเสนอว่าไม่ใช่แค่ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อรองรับแผนนายกรัฐมนตรีคนนอกเท่านั้น

แต่ต้องทำให้พรรคการเมืองที่ว่ามีศักยภาพพอจะนำพาภารกิจนั้นไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้

โดยศักยภาพนั้นจะเกิดจาก 2 ส่วนคือ

1.โครงสร้างพรรคอันหมายถึงบุคลากร ระบบริหารจัดการ และการสนับสนุนที่แข็งแกร่ง แน่นอน

2.มีฐานเสียงในพื้นทื่ที่สร้างไว้ในระดับที่เชื่อใจได้ว่าจะทำให้ภารกิจลุล่วงอย่างแท้จริง

ซึ่งทั้งสองเงื่อนไขนี้จะต้องใช้เวลาในการจัดการ และต้องประเมินให้เชื่อได้ว่าไม่ผิดพลาดจากความสำเร็จที่ตั้งไว้

ในเงื่อนไขเพื่อสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมั่นคง ยั่งยืน

โปรเจ็กต์ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” จึงเกิดขึ้น

ขณะที่ “การเลือกตั้ง” ถูกเลื่อนเวลาของโรดแมปออกไป

พร้อมๆ กับการจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม” ขึ้นมา เป็นคณะกรรมการชุดมหึมามี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในพื้นที่ทั้งหมดเข้าร่วม พร้อมกับกลไกปฏิบัติการในพื้นที่ทุกสาขา และทุกระดับ ที่หากลงมือเมื่อไรจะครอบคลุมทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับปราะชาชน

แม้ว่าผู้มีอำนาจทุกคนจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ใช่ตั้งกลไกขึ้นมาทำงานการเมืองในพื้นที่ ไม่ใช่การวางหัวคะแนนเพื่อหาเสียง

และการเลื่อนเลือกตั้งเป็นเรื่องของ สนช.ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายขยายเวลาสร้างความเข้มแข็งให้โอกาสของนายกรัฐมนตรีคนนอก

แต่นักการเมืองจากทุกพรรคต่างเห็นไปในทางเดียวกัน

การต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้นขึ้นแล้ว

แม้ว่าเสียงเรียกร้องขอให้ปลดล็อกพรรคการเมือง จะเป็นเสียงร้องที่ไม่มีพลังพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่การต่อสู้ที่เป็นธรรมตามที่เรียกหา

……………….

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image