ไขสาเหตุปัจจัยของปัญหา ระดับฝุ่นที่สูงมากในกรุงเทพฯที่ผ่านมา

เว็บไซต์ http://aqmthai.com/index.php ของกรมควบคุมมลพิษ (ซ้าย) และเว็บไซต์ http://aqicn.org/ (ขวา)


 

เมื่อเช้า (พฤหัสบดี 25 มกราคม 2561) ผมได้รับข่าวจากหลายทางเกี่ยวกับระดับฝุ่นละอองแขวนลอยในพื้นที่กรุงเทพฯที่ตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษว่ามีค่าขึ้นสูงมากต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน โดยภาครัฐก็ได้ให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องด้วยผมเป็นอาจารย์สอนและทำวิจัยทางด้านบรรยากาศ-มลภาวะอากาศ-ภูมิอากาศมายาวนานหลายปี จึงได้ลองวิเคราะห์เบื้องต้นว่าอะไรเป็นสาเหตุปัจจัยที่ทำให้ค่าฝุ่นขึ้นสูง โดยอาศัยข้อมูลต่างๆ เท่าที่รวบรวมได้ (สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ สถานีอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลดาวเทียม และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์) และขอเขียนสรุปเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจไว้ข้างล่างนี้

Advertisement

ก.ฝุ่นขนาดเล็กในเมืองเกิดจากอะไร
เกิดจากการปล่อยจากแหล่งกำเนิด ได้แก่ การเผาไหม้ (เช่น รถยนต์ การเผาในที่โล่ง และโรงงานหรือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง) และกิจกรรมบางประเภท (เช่น โรงโม่หิน และการก่อสร้าง) นอกจากนั้นยังเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีในบรรยากาศได้อีกด้วย โดยทั่วไปฝุ่นขนาดเล็กจะมีอนุภาคที่เล็กเกินกว่าที่มนุษย์จะเห็นได้ ถ้ามีสารเคมีที่เป็นพิษปนเปื้อนก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างมาก สำหรับอนุภาคฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากๆ เมื่อสูดดมเข้าไปสามารถเข้าผ่านไปถึงภายในปอดได้ ในทางวิชาการเรียกฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ว่า PM10 และ PM2.5

นอกจากนั้น อนุภาคฝุ่นยังสามารถลดทัศนวิสัยในการมองเห็นให้น้อยด้วยการกระเจิงแสง

ข. เกิดอะไรขึ้นเมื่อหลายวันที่ผ่านมา
ระดับฝุ่นขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีค่าสูงในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันต่อเนื่องหลายวัน (16-24 มกราคม) แม้ว่ามีค่าขึ้นลงตามชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายบรรเทาลง
ค.สาเหตุปัจจัยที่ทำให้ค่าฝุ่นสูงขึ้นมาก
จากการวิเคราะห์ พบว่ามีหลายปัจจัยผนวกร่วมกันในช่วงเวลาดังกล่าว
นั่นคืออากาศในกรุงเทพฯมีความชื้นมากขึ้น มีเมฆมากขึ้น แต่ฝนน้อย ลมไม่แรง และอากาศที่เข้าสู่กรุงเทพฯในบางวันไม่สะอาด

Advertisement

ง. ความชื้น-เมฆ-ฝน เกี่ยวข้องอย่างไร
ในช่วงเวลาดังกล่าว ท้องฟ้าในกรุงเทพฯมีเมฆในปริมาณที่มากขึ้นกว่าก่อนหน้า บางวันเมฆเกือบเต็มท้องฟ้าทำให้ปริมาณรังสีอาทิตย์ที่พื้นดินรับน้อยลง การถ่ายเทความร้อนจากพื้นดินไปสู่อากาศจึงน้อยลง ทำให้ชั้นบรรยากาศตอนล่างขยายตัวได้น้อยและคงตัว ทำให้เจือจางฝุ่นได้ไม่ดี ค่าฝุ่นจึงสูงไม่ลดลง อะไรทำให้มีเมฆมากในช่วงวันดังกล่าว? คำตอบ ความกดอากาศสูงในประเทศจีนได้อ่อนกำลัง ทำให้ความกดอากาศต่ำซึ่งวางตัวแนวนอนพาดผ่านอ่าวไทยเคลื่อนตัวไปสู่ภาคกลางตอนล่าง ทำให้ความชื้นสูงและมีเมฆมากขึ้น

นอกจากนั้นยังพบว่ามีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เป็นปริมาณที่น้อยและตกสั้นๆ ในบางพื้นที่
จึงไม่มีนัยสำคัญเท่าไหร่

จ. ลมไม่แรงเกี่ยวข้องอย่างไร
การอ่อนกำลังขอความกดบรรยากาศสูงทำให้ความเร็วลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มลดลง ประกอบกับมีลมจากทางใต้จากอ่าวไทยประสานดันเข้ามาในบางวัน ทำให้ลมไม่แรงหรือนิ่ง จึงไม่สามารถพัดระบายฝุ่นออกนอกพื้นที่ได้ดี ฝุ่นจึงสะสมเพิ่มขึ้น ลมจากอ่าวไทยมีความชื้นมาก โดยความชื้นจะควบแน่นเกาะตัวบนฝุ่นและทำให้ขนาดฝุ่นใหญ่ขึ้น ทำให้อากาศดูเหมือนเป็นฝ้าบางๆ และลดทัศนวิสัยลง จากการคำนวณพบว่าทัศนวิสัยลดไปประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์

ฉ.อากาศที่เข้ากรุงเทพฯไม่สะอาดคืออะไร
จากการจำลองแนววิถีอากาศด้วยคอมพิวเตอร์ พบว่าในหลายวันแนววิถีอากาศที่เข้าสู่กรุงเทพฯอยู่ที่ระดับตื้นใกล้พื้นดิน ซึ่งทำให้มีโอกาสรับสารมลพิษจากบริเวณที่พัดผ่านได้ง่าย โดยเฉพาะวันที่ 23 มกราคม พบว่าแนววิถีอากาศอยู่ระดับต่ำพัดผ่านภาคตะวันออกถึงสองครั้งก่อนที่จะมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งภาคตะวันออกมีเขต
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก นอกจากนั้น จากข้อมูลจุดไฟดาวเทียม เริ่มพบการเผาในที่โล่งมากขึ้นในจังหวัดใกล้เคียงในช่วงกลางสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือนนี้ แม้ว่าจุดไฟไม่ได้เกิดขึ้นหนาแน่นแต่อากาศก็พัดพาควันไฟเข้ามาบ้าง

ช.ฝุ่นเหล่านั้นปล่อยมาจากแหล่งกำเนิดทั้งหมดหรือไม่
จากที่ได้กล่าวในตอนต้นว่าฝุ่นขนาดเล็กอาจเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงลำบาก โดยมีสารตั้งต้นที่สำคัญเป็นก๊าซ เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าชสารอินทรีย์ระเหยง่าย ซึ่งเป็นก๊าชที่ปล่อยมาจากกิจกรรมของมนุษย์เช่นกัน ดังนั้นการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่เมืองสำหรับเรื่องฝุ่นขนาดเล็กจึงเป็นเรื่องท้าทายและจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยนี้ด้วย จากการพิจารณาเชิงเคมีอย่างง่าย พบว่าในบางวันฝุ่นขนาดเล็กในกรุงเทพฯมีโอกาสที่จะเกิดจากปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศได้มาก

สุดท้ายนี้ ในฐานะอาจารย์ก็อยากเห็นสาธารณะได้รู้จักเข้าใจเกี่ยวกับฝุ่นในบรรยากาศและผลกระทบให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลและความรู้จากหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน และแหล่งความรู้ออนไลน์ต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากได้

รศ.ดร.เกษมสันต์ มโนมัยพิบูลย์
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
อีเมล์: [email protected] โทร 08-1348-6451

เครดิต :
1.ข้อมูลคุณภาพอากาศจาก http://aqmthai.com/ ของกรมควบคุมมลพิษ (สถานีปทุมวันและบางนา)
2.ข้อมูลคุณภาพอากาศจาก http://aqicn.org/city/bangkok/
3.ข้อมูลทัศนวิสัย ณ สถานีดอนเมือง และแผนที่อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
4.ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Himawari จากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
5.การจำลองออนไลน์ HYSPLIT https://ready.arl.noaa.gov/HYSPLIT.php
6.ข้อมูลฝนดาวเทียม GPM https://pps.gsfc.nasa.gov/
7.ข้อมูลจุดไฟดาวเทียม https://earthdata.nasa.gov/earth-observation-data/near-real-time/firms และ
8.นักศึกษาที่ห้องปฏิบัติการวิจัย (โดยเฉพาะ Mr.Nosha Assareh และ Mr.Nishit Aman)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image