คุกคามทางเพศ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

แฟ้มภาพ

ประเด็นถกเถียงความเท่าเทียมชาย-หญิง การล่วงละเมิด คุกคามทางเพศ หรือแม้แต่การพูดจาแสดงถึงการเหยียดเพศ ยังคงเป็นประเด็นร้อนมาข้ามปี ไม่เฉพาะในสังคมตะวันตก โลกตะวันออกก็มีคดีที่นำไปสู่การลงโทษให้เห็นเป็นตัวอย่าง

หลายๆ วงการพูดกันถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง นับจากวงการบันเทิงจนกระทั่งมาถึงกีฬา

คดีความตัดสินอันลือลั่นที่เพิ่งผ่านพ้นไปในอเมริกา ผู้พิพากษาหญิงใช้คำว่า “ดิฉันเพิ่งลงนามหมายจับตายให้คุณ” ขณะกล่าวกับจำเลย ชื่อ แลร์รี นาสซาร์ อายุ 54 ปี ซึ่งต้องโทษจำคุกถึง 175 ปี เนื่องจากมีโจทก์เยอะมาก

นายนาสซาร์เคยได้ชื่อเป็นหมอเทวดาในฐานะผู้เชี่ยวชาญกระดูกและกล้ามเนื้อ เคยดูแลนักกีฬายิมนาสติกหญิงวัยละอ่อนในทีมชาติสหรัฐมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น

Advertisement

แต่หลายรุ่นที่ว่านั้นตกเป็นเหยื่อลวนลาม ล่วงละเมิดนับร้อยคน ในจำนวนนี้ 7 คนเป็นเหยื่อข่มขืนตามสำนวนคดี

เหยื่อถูกกระทำขณะอยู่ในวัยเยาว์ จึงกลัวและไม่กล้าพูด ยิ่งมาเจอหมอที่รู้จักวิธีข่มขู่คุกคาม ยิ่งทำให้เรื่องเก็บงำมาเป็นสิบๆ ปี

แต่อย่างที่ โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรเฟมินิสต์ชื่อดัง กล่าวบนเวทีรับรางวัลลูกโลกทองคำในปีนี้ว่า “เวลาของพวกเขาหมดลงแล้ว” หมายถึงการสิ้นสุดยุคทองของเหล่านักหื่นที่ใช้อำนาจหน้าที่เอาเปรียบล่วงเกินและหาความสุขจากผู้หญิงและเด็ก เพราะกระบวนการเช็กบิล เพื่อทวงคืนความยุติธรรมจะทยอยมาเรื่อยๆ

Advertisement

นอกจากอเมริกา ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนก็มีคดีตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกัน

อดีตนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเป่ยหางในกรุงปักกิ่ง เปิดโปงเรื่องราวการถูกอาจารย์ล่วงละเมิดทางเพศผ่านทางเว็บไซต์เว่ยป๋อ จนเกิดปรากฏการณ์ #MeToo ในโลกออนไลน์ของจีน มีบรรดาศิษย์เก่าแฉพฤติกรรมหื่นของอาจารย์รายนี้ตามมา โดยรวบรวมหลักฐาน รวมถึงเทปบันทึกเสียงส่งให้คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย

กระทั่งนำไปสู่การปลด นายเฉิน เสี่ยวอู๋ พ้นจากการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย และถอดถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในที่สุด

หันมาดูบ้านเรา คดีลักษณะนี้ก็มีเช่นกันในสถาบันการศึกษา และวงการต่างๆ

เช่นคดีล่าสุดเกี่ยวกับผู้อำนวยการโรงเรียนกับเด็กนักเรียนวัยรุ่น ไปจนถึงผลการสอบข้อร้องเรียนพฤติกรรมของบิ๊กสื่อ

แต่บ้านเราดูท่าจะจบสวนกระแสการคุ้มครองเหยื่อของตัวอย่างข้างต้น

บทสรุปผลสอบกรณีผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ เผยแพร่ทางเว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้คำอธิบายว่าองค์กรดังกล่าวมีบุคลากรทำงานกันด้วยความใกล้ชิดสนิทสนม จึงมีการหยอกล้อกันเล่น มีการถูกเนื้อต้องตัวกันบ้างตามประสาคนที่ใกล้ชิด

ยิ่งเมื่อวัฒนธรรมองค์กร มีผู้บังคับบัญชาดูแลบุคลากรในลักษณะใกล้ชิดสนิทสนม ให้ความไว้วางใจ จึงเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจ-ตีความเข้าข้างตนเองของฝ่ายหนึ่ง จนอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ ท้ายที่สุดเมื่อฝ่ายหนึ่งลาออกจากองค์กรข่าวแห่งนั้น ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าไม่ติดใจที่จะเอาความต่อกัน

เมื่ออ่านบทสรุปโลกสวยนี้แล้ว ทุกคนคงมีคำตอบอยู่ในใจว่าเราอยู่ในสังคมที่ล้าหลังโลกหรือไม่

……………

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image