Distrail & Fallstreak hole : คอลัมน์ cloud lovers โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

เมื่อเครื่องบินบินฝ่าเมฆที่มีลักษณะเป็นแผ่น บางครั้งอาจเกิดช่องเปิดเป็นแนวยาวตามเส้นทางที่เครื่องบินเคลื่อนที่ สาเหตุหนึ่งคือความร้อนของเครื่องยนต์ทำให้หยดน้ำสลายตัวไปกลายเป็นไอน้ำทำให้ตา
มองไม่เห็น (เพราะว่าไอน้ำมีสถานะเป็นก๊าซ) เปรียบไปก็คล้ายๆ เครื่องบินเป็น “มีด” กรีดไปบนแผ่นเมฆนั่นเอง ดูภาพที่ 1 สิครับ
แนวช่องเปิดนี้เรียกว่า ดิสเทรล (distrail) มาจากคำว่า dissipation (สลายไป) + trail (เส้นทาง) อาจมองว่าดิสเทรลเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับคอนเทรล (contrail) ซึ่งเป็นเมฆเส้นๆ ที่เกิดขึ้นหลังเครื่องบินไอพ่นก็ได้

ภาพที่ 1 : ดิสเทรล
24 มิถุนายน 2560 14 : 55น. ต.หินปัก อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
ภาพ : ศุภรัตน์ เพชรรุ่ง

หากดิสเทรลไม่เป็นช่องเปิดต่อเนื่อง แต่เป็นรูๆ เรียงตามแนวเส้นค่อนข้างตรง ฝรั่งจะเรียกเล่นๆ ว่า linear footprints หรือ ดิสเทรลรูปรอยเท้าเชิงเส้นตรง แบบนี้เกิดยาก นานๆ พบที

ภาพที่ 2 : ดิสเทรลรูปรอยเท้าเชิงเส้นตรง
8 พฤษภาคม 2558 13 : 57 น. ถ.ราชพฤกษ์ ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ภาพ : เพชรนาถ มิตกิตติ

ทีนี้หากเครื่องบินบินฝ่าเมฆซึ่งประกอบด้วยหยดน้ำแบบพิเศษที่เรียกว่า หยดน้ำเย็นยิ่งยวด (supercooled water droplets) ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ดูแปลกตา ก่อนอื่นลองดูภาพที่ 3 ที่ผมถ่ายได้สิครับ

ภาพที่ 3 : ฟอลล์สตรีคที่เกิดจากเครื่องบินบินผ่าน
30 มีนาคม 2560 09 : 49น. บ้านหนองกก อ.โนนดินแดง
จ.บุรีรัมย์
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมฆทางฝั่งซ้ายของภาพที่ 3 เป็นเมฆก้อนสูงปานกลาง ชื่อวิชาการแบบสั้นที่สุดคือ แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) ประเด็นที่ต้องรู้คือ หยดน้ำในเมฆนี้เป็น “หยดน้ำเย็นยิ่งยวด” หมายความว่า อุณหภูมิของหยดน้ำแต่ละหยดติดลบ คือต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส แต่หยดน้ำจะยังคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ได้ ตราบเท่าที่ไม่มีอะไรไปกระทบกระเทือนมัน
แต่หากหยดน้ำเย็นยิ่งยวดถูกกระทบกระเทือนก็จะกลายเป็นน้ำแข็งทันที ในกรณีที่เครื่องบินบินผ่าน ความปั่นป่วนของกระแสอากาศจะทำให้หยดน้ำเคลื่อนมากระทบกัน เกิดเป็นอนุภาคน้ำแข็งจำนวนมหาศาล เมื่อมองภาพรวมจะเห็นเป็นเส้นๆ ฝอยๆ ตรงกลางภาพนั่นเอง
ที่เล่ามานี้ชวนให้คิดถึง “เบียร์วุ้น” หรือ “โค้กวุ้น” ไหมครับ ใช่แล้ว! หลักการทางวิทยาศาสตร์เหมือนกันเด๊ะเลย
คราวนี้มาดูปรากฏการณ์อีกรูปแบบหนึ่งบ้าง คือ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องบิน ขอเพียงแค่มีเมฆที่ประกอบด้วยหยดน้ำเย็นยิ่งยวดแผ่คลุมฟ้าค่อนข้างกว้าง หากมีบริเวณใดบริเวณหนึ่งถูกกระทบกระเทือน บริเวณนั้นก็จะเกิดอนุภาคน้ำแข็งขึ้นมาก่อน จากนั้นก็จะลุกลามออกไปโดยรอบ อนุภาคน้ำแข็งมักจะตกลงมาเป็นสาย เรียกว่า ฟอลล์สตรีค (fallstreak) ส่วนช่องเปิดโดยรอบจึงเรียกว่า ฟอลล์สตรีค โฮล (fallstreak hole)
ช่องว่างขนาดใหญ่ในเมฆยังมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น cloud hole (คลาวด์โฮล หรือรูเมฆ) skypunch (ฟ้าเจาะรู) punch hole cloud หรือ hole punch cloud (เมฆเจาะรู) หรือ canal cloud (เมฆคลอง) เป็นต้น ส่วนภาษาวิชาการเรียกว่า เควุม (cavum)
ภาพที่ 4 แสดงฟอลล์สตรีคโฮลที่เกิดขึ้นในเมฆซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) ซึ่งเป็นเมฆก้อนระดับสูงซึ่งมีองค์ประกอบบางส่วนเป็นหยดน้ำเย็นยิ่งยวดครับ

Advertisement
ภาพที่ 4 : ฟอลล์สตรีคโฮล
1 ม.ค. 2559 เวลา 12.57 น. อ.สูงเม่น จ.แพร่
ภาพ : ปิยะรัตน์ มณีกาศ

บางครั้งบริเวณตรงกลางของช่องเปิดในเมฆอาจจะไม่ได้ตกลงมาเป็นสายเสมอไป แต่อาจมีลักษณะเป็นเมฆก้อนก็ได้ ดังภาพที่ 5

ภาพที่ 5 : คลาวด์โฮล
9 มกราคม 2559 18 : 31 น. อ.ไทรโยคน้อย จ.กาญจนบุรี
ภาพ : ศิญาภัสร์ วลีย์โรจนกุล

   ทั้งดิสเทรลและฟอลล์สตรีคโฮลเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดได้เป็นระยะ แต่ไม่บ่อยนัก ต้องหมั่นมองท้องฟ้าหาเมฆที่แผ่คลุมพื้นที่กว้างๆ บนฟ้า จึงจะมีสิทธิ์ลุ้นนะครับ


ขุมทรัพย์ทางปัญญา

Advertisement

สนใจ เควุม (cavum)
ขอแนะนำhttps://cloudatlas.wmo.int/
clouds-supplementary-features-cavum.html


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image