กรณี สกายวอล์ก เหมือน”รุก” ทางการเมือง ของ รัฏฐาธิปัตย์

ในสภาพที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมายืนยันในความเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ของ คสช.เท่ากับเป็นการยืนยันใน “อำนาจ” อันเต็มเปี่ยม

อำนาจในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จึงได้เห็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยืนยันการเดินหน้าในโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” พร้อมงบประมาณเฉพาะหน้า

ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

Advertisement

จึงได้เห็นความแข็งขันจาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.

จึงได้เห็นความแข็งขันไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.

ในการจัดการกับ “คดีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง”

Advertisement

ทำให้กระบวนการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งกลายเป็นเรื่อง “อาชญากรรม” และบรรดาผู้ถูกหมายเรียกใกล้กับความเป็น “อาชญากร”

เป็น “อาชญากร” เพราะอยาก “เลือกตั้ง”

จากท่าทีที่เริ่มจากคำยืนยันในเรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์” กระทั่งนำไปสู่การจัดการอันเกี่ยวกับ “คดีการชุมนุม

เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง”

ทำให้ “เลือกตั้ง” กลายเป็น “ประเด็น”

ก่อให้เกิดการแยกกลุ่มในทางความคิดออกเป็น 2 กลุ่มโดยอัตโนมัติ 1 คือ กลุ่มที่ต้องการการเลือกตั้ง และ 1 คือ กลุ่มที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง

ยิ่งกลุ่มต้องการเลือกตั้งแสดงตัวมากเพียงใด

ยิ่งทำให้มาตรการอันมาจากบรรดา “รัฏฐาธิปัตย์” ทั้งหลายต้องกลายเป็น

กลุ่ม “ไม่ต้องการ” ให้มีการเลือกตั้งเด่นชัดเพียงนั้น

เป็นไปไม่ได้ที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จะยอมรับ

เป็นไปไม่ได้ที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล จะยอมรับ

คำถามจึงอยู่ที่ว่า แล้ว “คดีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง” จะจบลงอย่างไร หากว่ากลุ่มต้องการเลือกตั้งไม่หวาดกลัวและขยายวงออกไปเป็นลำดับ

เหมือนกับว่าการยกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 การยก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

จะเป็น “ไม้ตาย”

จะสะท้อนให้เห็นลักษณะ “รุก” และเป็นฝ่าย “กระทำ” ของบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารในฐานะอันเป็น “รัฏฐาธิปัตย์”

แต่หากดูจาก “ปฏิกิริยา” ในทาง “สังคม” ก็ไม่แน่

ไม่แน่ว่าการตั้งชื่อ “คดีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง” จะทำให้ฝ่ายของรัฏฐาธิปัตย์ อยู่ในสถานะในการรุกและเป็นฝ่ายกระทำอย่างเป็นจริง

นี่คือ ความละเอียดอ่อนในทางการเมือง

ในเมื่อไม่ว่า น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา ไม่ว่า นายวีระ สมความคิด ไม่ว่า นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ไม่ว่า นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด ไม่ว่า นายสงวน โชติรุ่งเรือง เสมอเป็นเพียงพวกที่อยากเห็น “การเลือกตั้ง”

การอยากเห็น “การเลือกตั้ง” ไม่น่าจะสามารถสั่นคลอนสถานะและความมั่นคงแห่งอำนาจรัฐหรือรัฏฐาธิปัตย์ได้

เว้นเสียแต่ “รัฏฐาธิปัตย์” ไม่ต้องการ “เลือกตั้ง”

คนอื่นจะมองอย่างไร แต่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.และเลขาธิการ คสช.น่าจะมองออกว่า นี่มิได้เป็นการรุกในทางการเมือง

ตรงกันข้าม นี่เป็นการตั้งรับ

และยิ่งหากเรื่องนี้ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อและยาวนาน ความชอบธรรมจะกลายเป็นของฝ่ายที่อยากเห็นการเลือกตั้งมากกว่า

ถึงตอนนั้นเมื่อใดก็ยิ่งยุ่งเหยิง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image