ปฏิกิริยาหลัง ’90 วัน’ ได้ไม่คุ้มเสีย สังคม ไม่ไว้วางใจ

เมื่อ สนช.มีมติอย่างท่วมท้นตอบรับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการให้ขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปอีก 90 วัน

เท่ากับส่งสัญญาณให้สังคมรับทราบว่า การเลือกตั้งมีโอกาสเลื่อน

โรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เคยวางไว้คือ พฤศจิกายน 2561 มีโอกาสเลื่อน

เลื่อนออกไปถึงกุมภาพันธ์ 2562

Advertisement

เลื่อนออกไปเพราะเหตุที่กลไกการนับถอยหลังเพื่อเลือกตั้ง 150 วันหลังจากประกาศใช้กฎหมายลูก 4 ฉบับสำคัญ คือกฎหมาย กกต. พรรคการเมือง การเลือกตั้ง ส.ส. และที่มาของ ส.ว. ต้องขยับออกไปอีก 90 วัน

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่าไม่เคยสั่งเลื่อน แต่เมื่อ สนช.ขยับเวลาการประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไป ซึ่งมีโอกาสที่จะต้องเลื่อน

ความไว้วางใจต่อ คสช. รัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้รับผลกระทบ

Advertisement

จากความรู้สึกไว้วางใจเมื่อปี 2557 เมื่อมาถึงเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ และสังคมกำลังถูกตั้งคำถาม

กำลังทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจหรือไม่?

หนทางหนึ่งในการสืบทอดอำนาจคือ การยื้อการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุด

พรรคการเมืองมองว่า การยื้อการเลือกตั้งออกไปอีก แสดงว่า คสช.ยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

กลไกที่จะส่งให้ คสช.กลับสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งยังไม่สมบูรณ์

ยิ่งเมื่อโพลหลายสำนักชี้ออกมาว่า คะแนนนิยมของ คสช. ยังสู้พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ไม่ได้

ยิ่งสนับสนุนความเชื่อที่ว่า คสช.ต้องการยื้อการเลือกตั้งออกไป

ความเชื่อดังกล่าว สอดรับกับความขัดแย้งกันเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ที่มา ส.ว. ซึ่งคณะกรรมาธิการแก้ไขหลายจุด

การแก้ไขดังกล่าวไม่ตรงใจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

เนื่องจากสงสัยว่า การแก้ไขดังกล่าวทำให้ร่าง พ.ร.ป.ที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ

และหากเป็นเช่นนั้น การเลือกตั้งก็ต้องยืดออกไปอีก

ยืดออกไปเกินกว่ากุมภาพันธ์ 2562

ขณะเดียวกัน เรื่องร้องเรียน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เป็นช่องโหว่

เรื่องที่ พล.อ.ประวิตร ใส่นาฬิกาหรูราคาหลายล้าน และระบุที่มาว่าเพื่อนส่งมาให้ใส่นั้น กำลังกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ของรัฐบาล

ยิ่งเมื่อ ป.ป.ช.ออกมาระบุแนวการพิจารณาทำนองว่า หากเป็นนาฬิกาผู้อื่นที่ยืมมาก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน

ยิ่งสร้างความหวาดระแวงแก่สังคม เพราะเป็นที่ทราบกันว่า ป.ป.ช.บางคนมีความกลมเกลียวกับ พล.อ.ประวิตร

แม้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. จะขอถอนตัวแล้ว แต่ความไว้วางใจต่อการพิจารณาก็ยังมีปัญหา

ประเด็นของ พล.อ.ประวิตร จึงกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ที่ฝ่ายคัดค้านออกมาโจมตี

ขณะเดียวกันก็เป็นประเด็นที่ “กองหนุน” ออกมาแสดงความกังขา

ยิ่งเมื่อปรากฏข่าวว่าอธิการบดีสถาบันนิด้า เบรกเผยแพร่โพลที่ทำเรื่องนาฬิกา แล้วสังคมโดยรวมแสดงอาการไม่เห็นด้วย

ยิ่งสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของสังคมที่มีต่อกรณี พล.อ.ประวิตร

สังคมเริ่มไม่ไว้วางใจ

สถานการณ์เช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ คสช.รัฐบาล และแม่น้ำ 5 สาย กำลังตกที่นั่งลำบาก

หลังจากข่าวการเลื่อนเลือกตั้งแพร่หลาย ข้อเรียกร้องเรื่องจริยธรรมการบริหารก็ดังขึ้่นเป็นระลอก

นับตั้งแต่การรักษาคำพูด เรื่อยมาถึงการบริหารงานให้มีธรรมาภิบาล และข้อสงสัยเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็เข้าใจสถานการณ์ จึงบอกว่า ช่วงนี้ทำอะไรก็มีแต่ปัญหา

ทางด้าน พล.อ.ประวิตรเองก็เปิดใจต่อสื่อมวลชน ยืนยันเจตนาการทำงานว่า รับราชการมา 50 ปี ทุกงานเพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด

“ถ้าประชาชนไม่ต้องการก็พร้อมจะไป”

คำพูดของ พล.อ.ประวิตร เหมือนกับการเปิดทางให้กลุ่มคัดค้านเดินหน้าขับไล่

เพียง 1 วันหลังจาก พล.อ.ประวิตรพูด ก็มีผู้รณรงค์ล่ารายชื่อกดดันให้ พล.อ.ประวิตรลาออก

เพียงข้ามวัน รายชื่อที่ประสงค์ให้ พล.อ.ประวิตรออกก็พุ่งพรวด

นี่ถ้าไม่เรียกว่าตกที่นั่งลำบาก ก็ไม่รู้จะว่าเช่นไร

ดังนั้น การใช้อำนาจในการควบคุมสังคมที่กำลังแสดงความไม่ไว้วางใจ จึงต้องระมัดระวัง

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 การใช้กฎหมายกับผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยยังคงได้ผล เพราะสังคมที่เบื่อหน่ายความขัดแย้งนิ่งเฉยไม่ขัดขวาง

แต่ในปีนี้ เมื่อสังคมเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาล การบังคับใช้กฎหมายอาจจะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ได้

การดำเนินการจึงต้องระมัดระวัง

น่าสังเกตว่า สถานการณ์หลังจาก สนช.ผ่านกฎหมายเลือกตั้ง และยอมให้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน

ปฏิกิริยาของสังคมต่อเรื่องดังกล่าวไม่เป็นคุณต่อ คสช. และแม่น้ำ 5 สาย

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้สังคมไทยได้รับข่าวสารจาก คสช.เรื่องเลื่อนการเลือกตั้งมาเป็นระยะๆ

จากวันที่ยึดอำนาจ ผ่านมา 1 ปี และผ่านมาอีก 2 ปี พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ก็ยืนยันยึดโรดแมป

แต่โรดแมปก็เลื่อนเป็นลำดับ

กระทั่งล่าสุด มีแนวโน้มว่าจะเลื่อนไปเลือกตั้งในปี 2562 อีกแล้ว

ดังนั้น สังคมจึงมีปฏิกิริยา แสดงความไม่เชื่อมั่น แสดงความไม่ไว้วางใจ

แต่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ยังมีเวลา กว่าจะถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นหมุดหมายสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกไว้

หาก พล.อ.ประยุทธ์ และแม่น้ำ 5 สาย สามารถรักษาคำสัญญาการเลือกตั้งในเดือนดังกล่าวได้

บางที คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะยังคงรักษาความเชื่อมั่นไว้ได้

แต่ถ้าถึงเวลานั้นแล้ว การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจริง

และหากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 การเลือกตั้งก็เลื่อนออกไปอีก

ผลกระทบที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมมีแน่

โดยเฉพาะความไว้เนื้อเชื่อใจที่เคยมี ย่อมหดหาย

งานนี้ คสช.อาจจะได้ ไม่คุ้มเสีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image