จะสร้าง ‘ผู้นำ’ แบบไหน โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ดร.อภิชาติ ทองอยู่ เขียนในเฟซบุ๊ก ถึงการประชุมเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม ที่กรุงดาวอส เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้

ดร.อภิชาติเล่าว่า เวทีโลกได้ส่งสัญญาณชัดเจนเรื่อง “ปฏิวัติการศึกษา”

เนื้อที่เวทีโลกส่งสัญญาณมาคือ “การศึกษาที่มีรากฐานเก่าแก่สืบทอดมากว่าสองร้อยปี วันนี้ไม่ตอบโจทย์ของสังคมเศรษฐกิจยุคใหม่อีกต่อไปแล้ว”

ไม่เป็นคำตอบทั้งในเรื่อง “การมีงานทำ การพัฒนา” และที่น่าเศร้าคือ “ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่มีความสูญเปล่าอยู่มหาศาล”

Advertisement

ซึ่งเวทีโลกชี้ว่าจะต้อง “ปลดแอก”

ดร.อภิชาติเล่าว่า เวทีที่กรุงดาวอสชี้ให้เห็นว่า “โลกในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล” ได้เปลี่ยนการเรียนรู้ โดยลดต้นทุนมหาศาลในระบบการศึกษายุคใหม่ ขณะที่ได้พัฒนาประสิทธิภาพ-คุณภาพในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้กว้างไกล ไร้พรมแดน สามารถตอบสนองโลกเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิตยุคใหม่ที่ผนวกเป็นเนื้อเดียวกัน

“การศึกษาที่เป็นมาในยุคเก่าจึงมีสภาพเป็นความเคลื่อนไหวที่ไร้ชีวิต ไร้อนาคตไปโดยปริยาย” นั่นคือ ข้อสรุปของการประชุมระดับโลกที่กรุงดาวอส ที่ตามมาด้วยคำเตือนว่า “การปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะถูกกวาดล้างทำลายไปจากพื้นที่ของยุคสมัย” 

Advertisement

เป็นเนื้อหาของการประชุมบางส่วนที่ ดร.อภิชาติหยิบมาเล่าให้ฟัง

เชื่อว่าทุกคนที่เปิดรับการถ่ายทอดเนื้อหานี้ผ่านเข้าไปในความคิด จะต้องนึกถึงการศึกษาไทยที่เป็นอยู่

นักเรียน นิสิต นักศึกษา แม้ยังเริงร่ากับชีวิตประจำวันตามพลังและอารมณ์แห่งวัยหนุ่มวัยสาว แต่ลึกลงเชื่อได้ว่าส่วนใหญ่กังวลกับอนาคตที่ไม่รู้ว่าการศึกษาที่เป็นอยู่จะนำพาไปทางไหน

เรียนจบมาหางานทำไม่ได้ มีบางที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่เกี่ยวกับสาขาที่เรียนมา

ความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยเป็นที่รับรู้กันมายาวนาน

นโยบายแรกที่คณะรัฐประหารชุดนี้ประกาศ หลังยึดอำนาจการปกครองได้ใหม่คือ “ปฏิรูปการศึกษา”

แต่จนถึงวันนี้ที่โลกเลยจากความคิดของ “ปฏิรูป” เป็นต้อง “ปฏิวัติการศึกษา” กันแล้ว

หมายถึงต้องเปลี่ยนแปลงด้วย “ความเร็วและแรง” มากกว่าจะมาโอ้โลมปฏิโลมกันให้ล้าหลังออกไปเรื่อยๆ

ในแต่ละปีประเทศไทยเราใช้งบกับการศึกษามากมายมหาศาล ทั้งที่รับรู้ว่าเป็น “ความสูญเปล่า” ไม่เพียงไม่ก่อประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาบุคลากร แต่ยังทำเหมือนที่เคยทำอยู่แบบเดิมๆ เป็นการสร้างปัญหาให้กับอนาคตของชาติ เพราะสวนทางกับกระแสโลกที่เคลื่อนไปอีกทาง

ทั้งที่มากมายด้วยปัญหา

แต่การพูดถึงพัฒนาการทางการศึกษาที่ควรจะเป็นกลับน้อยมาก

เรื่องราวทางการศึกษาของไทย นอกจากโอเน็ต เอเน็ต ที่ทำให้เด็กงงกันเป็นไก่ตาแตกทุกปีว่าจะต้องจัดการตัวเองอย่างไร ท่ามกลางกระบวนการจัดการที่ก่อปัญหามากมายโดยไม่มีใครรับผิดชอบ

นอกจาก “หนี้ครู” ที่เรื้อรัง ปัญหาชู้สาวระหว่างครูกับนักเรียน กระทั่งถึง “ผู้อำนวยการโรงเรียน” กับ “เด็ก ม.2” กลายเป็นวาระสำคัญที่จะต้องหยิบมาถกกันว่าเกิดอะไรขึ้น มากกว่าจะให้เวลาใคร่ครวญถึงระบบการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับยุคสมัย

เพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้ของลูกหลานไทย

เราจะแก้กันอย่างไร เราจะรื้อสร้างใหม่กันอย่างไร มีคำถามมากมายจะต้องช่วยกันตอบ

ตั้งแต่ภาระนี้เป็นหน้าที่ของใคร เป็นของประชาชนทุกคน หรือของบางกลุ่มบางพวก

จิตสำนึกที่ทุกคนควรสร้างให้ตัวเองมีว่าจะคิดถึงผลประโยชน์ และอำนาจวาสนาของตัวเองและพวกพ้อง หรือคิดถึงความเป็นไปของประเทศชาติที่ต้องช่วยกันตระเตรียมให้ไว้คนไทยรุ่นหลัง

ทว่าดูเหมือนสิ่งที่น่าตอบให้ได้มากที่สุดคือ “เราควรจะมีผู้นำแบบไหน มีรัฐบาลแบบไหน”

แบบไหนใน “คุณภาพสนองโครงสร้างความคิดที่ถูกหล่อหลอมมา”

เราทุกคนจะต้องตอบตัวเองว่า “จะรอผู้นำรัฐบาลอย่างที่ต้องการเกิดขึ้นมาเองโดยไม่ลงมือทำอะไร หรือจะช่วยกันลงมือสร้างผู้นำ และรัฐบาลที่เชื่อมั่นและมอบศรัทธาไว้ให้ได้ว่าจะนำอนาคตที่เหมาะสมมาให้กับลูกหลานไทย”

ตอบให้ได้แล้วกล้าหาญพอที่จะทำให้เกิดขึ้นตามคำตอบนั้น

……………..

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image