การสุ่มสังหารบนถนนหลวง โดย กล้า สมุทวณิช

 

เรื่องที่ถูกเขียนถึงบ่อยที่สุดในคอลัมน์นี้ ซึ่งได้เขียนกันทุกครั้งเมื่อมี “คดีสะเทือนขวัญ” เกิดขึ้น คือแง่มุมทางกฎหมายเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนนโดยประมาทด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือเมาแล้วขับ

ครั้งก่อนนี้ที่เขียนไปคือเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว กรณีหญิงสาวเมาแล้วขับรถพุ่งเข้าชนกลุ่มผู้ขี่จักรยาน คอลัมน์ฉบับนั้นทิ้งข้อความไว้ในย่อหน้าหนึ่งว่า “หากเพราะสังคมเรามีระบบกดล้างความทรงจำกันทุกสี่วัน เพราะเมื่อเกิดขึ้นทุกครั้ง ก็เสมือนว่าเรื่องการเมาแล้วขับชนคนตายนี้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตื่นเต้น วางมาตรการโน่นนี่ ก่อนจะลืมกันไปเพื่อรอให้เกิดข่าวใหม่ เหยื่อรายใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง”

แล้วข่าวใหม่ ตีนผี และเหยื่อรายใหม่ก็เกิดขึ้น ปฏิกิริยาทางสังคมก็เป็นไปซ้ำเดิม ทั้งการตั้งคำถามถึงความปวกเปียกของกฎหมาย การเสียบประจานผู้กระทำความผิดของผู้เกี่ยวข้อง และการกลับมาอีกครั้งของวาทกรรมเรื่อง “คนรวยไม่ติดคุก”

Advertisement

เสมือนว่าเรื่องประมาทแล้วขับชนคนตายนี้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างที่เคยตั้งข้อสังเกตไว้ไม่มีผิด

เรื่องที่เถียงกันจนเบื่อ อย่างข้อกังขาว่าผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนมีฐานะดีจึงได้รอดปลอดภัยจากกลไกแห่งกฎหมาย เพราะคนในวงการยุติธรรมหรือผู้มีประสบการณ์ก็คงพอจะทราบกันว่า ปกติแล้วคนทั่วไปขับรถชนคนตายก็ไม่ค่อยติดคุกกันจริงๆ เป็นส่วนมาก หากไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และมีการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียหายตาย-เจ็บตามสมควร ย้อนไปคดีที่เป็นที่รู้จักหน่อย ที่ลุงปิกอัพแซงซ้ายไหล่ทางเข้าชนจักรยานรอบโลกของครอบครัวชาวชิลี คดีดังกล่าวก็จบลงด้วยศาลชั้นต้นได้ตัดสินลงโทษจำคุกหนึ่งปี ปรับ 7,500 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษสองปี โดยที่ลุงผู้ก่อเหตุก็ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีอิทธิพลอันใด

หรือที่อาจจะมีที่ผิดกัน “นิดๆ หน่อยๆ” อยู่บ้าง ก็อาจจะเป็นความเกรงใจจากเจ้าหน้าที่ เมื่อเห็นยี่ห้อรถและป้ายทะเบียน การดำเนินการทางคดีบางอย่างก็ออกจะเป็นไปในทางผ่อนผันเป็นพิเศษบ้างอย่างที่ทราบกันในข่าว

กระนั้น กระแสของสังคมนั้นมุ่งหมายที่จะเห็นการเอาผิดทางกฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ขับขี่รถยนต์ที่ก่อเหตุสยอง ด้วยความที่รู้สึกโดยอัตโนมัติว่าฐานะของเขาจะรบกวนกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลหรือฟูมฟายดราม่า เพราะ “เหยื่อ” ของอุบัติเหตุคราวนี้เป็นคนธรรมดาที่ขับรถมาตามทางของตนแบบถูกต้องโดยไม่มีส่วนต้องรับผิดใดๆ เลย ผู้ทราบข่าวทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมและเจ็บแค้น เนื่องจากความรู้สึกที่บอกว่า เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หากมีใครที่ขับรถใช้ทางโดยอำเภอใจโดยไม่แยแสต่อความปลอดภัยของผู้อื่น

แน่นอนว่าการลงโทษในทางกฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากจะเป็นการ “แก้แค้น” แทนสังคมที่ต้องกระทบกระเทือนจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการสั่งสอนทั้งเจ้าตัวและคนอื่นที่อาจมีพฤติกรรมอย่างเดียวกันว่าการขับรถโดยประมาทจนเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นนั้นมีราคาที่ต้องชดใช้ อันนี้ในแวดวงของผู้ใช้และตีความกฎหมายก็ควรที่จะสร้าง “สภาพบังคับ” ที่แน่นอนจริงจังและรุนแรงพอให้แก่ผู้ก่ออุบัติเหตุลักษณะนี้หรือไม่ เพราะการขับรถเมื่อไม่พร้อม ไม่ได้ตรวจสภาพรถ หรือใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมากๆ นั้น เท่ากับออกไปสุ่มฆ่าคนบนท้องถนนดีๆ นี่เอง

เราทุกคนอาจจะเคยเกิดความโลภอยากได้ของคนอื่น เกิดความโมโหอยากชกหน้าใครสักคน หรือเกิดอารมณ์ใคร่อยากระบายกับใครอีกคนหนึ่ง แต่ทำไมเราไม่ทำเรื่องเช่นนั้น นอกจากมโนธรรมจะกดข่มไว้แล้ว พ้นจากนั้นก็ยังมีกฎหมายที่เรารู้แน่ว่าหากทำตามสัญชาตญาณแล้วต้องเดือดร้อนถูกจับกุมหรือดำเนินคดีที่ได้ไม่คุ้มเสียแน่ แล้วเช่นนี้ ทำไมเราไม่สร้างระบบกฎหมายที่จะคอยยั้งเท้าคนขับรถแรงๆ เอาไว้ ไม่ให้กดเหยียบไปเต็มแรงม้าตามสัญชาตญาณความคะนองเล่า ทั้งที่กรณีหลังนี้อาจส่งผลให้เกิดความสูญเสียยิ่งกว่าสัญชาตญาณดิบข้างต้นเป็นไหนๆ

และสำคัญที่สุด เราควรที่จะทบทวนกันว่า เรามีบทเรียนจากกรณีรถแรงชนคน ขี้เมาขับรถบ้างหรือไม่ นอกจากจะได้ “ไอ้ตีนผี” แต่ละตีนมาลงโทษในทางสาธารณะเป็นคราวๆ ไป ในขณะที่ใครๆ หลายคนก็มีพฤติกรรมในการใช้รถใช้ถนนไม่ต่างจากเสี่ยรถเบนซ์ผู้ก่อเหตุสักเท่าใดนัก

แม้การยกข้ออ้างเรื่องพฤติกรรมของผู้กล่าวโทษขึ้นมาโจมตีนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของตรรกะวิบัติ เพราะความผิดของผู้กล่าวหาไม่ทำให้การกระทำเช่นเดียวกันของผู้ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายถูก แต่มันก็สะท้อนให้เห็นได้ใช่หรือไม่ว่า ที่จริงแล้ว ผู้กล่าวหา-และอาจจะหมายถึงหลายคนที่ขับรถบนถนนในประเทศไทยก็สามารถเป็น “เสี่ยเบนซ์” กันได้เสียส่วนมาก เพียงแต่เหตุจะเกิดจากใครและเมื่อไรเท่านั้นเอง

ในเมื่อเราทั้งหลายก็ไม่เห็นว่าการขับรถด้วยความเร็วสูงจะเป็นเรื่องผิด ตราบใดที่ไม่ไปชนใครจนเกิดเหตุสยองขวัญเข้า ผู้ที่มีประสบการณ์ในการขับรถบนไฮเวย์หลายเส้น อย่างบูรพาวิถี มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ ชลบุรี วงแหวนกาญจนาภิเษก หรือดอนเมือง

โทลล์เวย์ ก็คงรู้ว่าความเร็วเฉลี่ยของรถบนถนนเหล่านั้นอยู่ที่เท่าไร หากท่านขับรถด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ตามกฎหมายคือ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท่านจะถูกแซงซ้ายแซงขวาจากรถสารพัดไม่ว่าจะเป็นรถยุโรปหรู รถสปอร์ต ซิตี้ หรืออีโคคาร์วัยรุ่น ทุกคนจะแซงเราไปด้วยความเร็วที่ช้ากว่าเบนซ์คันก่อเหตุสยองไม่มากนัก

เราคงชี้หน้าด่าเจ้าของรถทะเบียนตองสามท่านนี้ได้เต็มปากกว่านี้ หากว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเราขับรถด้วยความเร็วตามสมควรที่กฎหมายกำหนด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่าเขาเป็นคนมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ผู้ทำร้ายสังคมและผู้ร่วมทางอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่คนขับรถเร็วเหมือนๆ อีกหลายคันนั่นแหละ เพียงแต่มาผิดที่ไปชนคนอื่นเข้าอย่างสยดสยอง และก็รับปฏิกูลหรือก้อนอิฐจากสังคมกันไป ทั้งๆ ที่มือหนึ่งที่ขว้างอิฐลงทัณฑ์นั้น มีเจ้าของเดียวกับเท้าที่เพิ่งเหยียบ 200 ลงมาจากเขาใหญ่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ถ้าเรายังไม่ทบทวนและพยายามเปลี่ยนค่านิยมทางสังคมให้การขับรถโดยประมาทเป็นเรื่องที่อภัยไม่ได้ในทุกกรณีไม่ว่าจะไปชนใครตายหรือไม่ เราก็คงทำได้แค่รอประณามตีนผีอีกสักคนที่จะเป็นข่าวในอนาคตเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image