เส้นตาย การเมือง ของ Start Up People ณ 10 กุมภาพันธ์

หากมองกรณี Start Up People ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 มกราคม อย่างสังเคราะห์ จำแนกแยกแยะระหว่าง 2 ฝ่าย

เด่นชัดว่า “คสช.” รุกผ่าน “กฎหมาย”

ด้วยการหยิบยก 1 คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และ 1 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และ 1 ขยายผลบางคนไปสู่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

อย่างที่ “ตำรวจ” ใช้คำว่า “กบิลบ้าน กบิลเมือง”

Advertisement

ขณะเดียวกัน เด่นชัดว่าทางด้านของ Start Up People อาศัยข้อกล่าวหาโดยเฉพาะการตั้งชื่อว่า “คดีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง” มาเป็นเงื่อนไข

เน้นในเรื่อง “เลือกตั้ง” เน้นความอยากให้มี “เลือกตั้ง”

การปะทะระหว่าง 1 คสช.กับ 1 Start Up People จึงเป็นการปะทะระหว่าง “กฎหมาย” กับ “การเมือง”

Advertisement

เป็นการปะทะในแบบ “ชักเย่อ”

เหมือนกับ คสช.จะเป็นฝ่าย “รุก” เพราะสามารถออก “หมายเรียก” และแสดงออกอย่างแจ้งชัดว่าตระเตรียมที่จะพัฒนาไปสู่ “หมายจับ”

โดยมีวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็น “เส้นตาย” 

การรุกของ คสช.ยังดำเนินอยู่ โดยที่ทางด้าน Start Up People ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ นอกเสียจากจะรอให้ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์

มีแต่เพียงการแสดงออกผ่าน MBK 39

ไม่ว่าฝ่าย “รุก” ไม่ว่าฝ่าย “รับ” เด่นชัดอย่างยิ่งมองกันและกันออกว่า เป้าหมายแท้จริงมิใช่วันที่ 8 ตรงกันข้าม เป็นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ต่างหาก

เพราะนั่นคือ กำหนดนัดหมาย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หากปรากฏการณ์ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ สามารถเป็นจริงได้ เท่ากับเป็นการขยายจากสกายวอล์ก แยกปทุมวัน มาบนถนนราชดำเนิน

ตรงนี้แหละที่ “คสช.” ยอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด

การตั้งรับของ Start Up People จึงมีเพียงเนื้อหาและประเด็นในทาง “การเมือง” เท่านั้นมาเป็นอาวุธและเป็นเครื่องมือ

1 สัมผัสได้จากการ “รุก” ของ คสช.

ขณะเดียวกัน 1 การรุกโดยกระบวนการทาง “กฎหมาย” ของ คสช.ก็มีโอกาสที่จะแปรและกลายเป็นประเด็นในทาง “การเมือง” ขึ้นโดยอัตโนมัติ

เพราะความต้องการของอีกฝ่าย คือ อยาก “เลือกตั้ง”

คำถามจึงมิได้อยู่ที่ว่า ความ “อยาก” เลือกตั้งอัน Start Up People เป็นคนจุดประกายขึ้นเมื่อตอนค่ำของวันที่ 27 มกราคมนั้น

จะกลายเป็น “อารมณ์” ในทาง “สังคม” ได้หรือไม่

นั่นก็ขึ้นอยู่กับท่าทีและการเคลื่อนไหวของ คสช.ผ่านรัฐบาลและกลไกทางกฎหมายต่างๆ ว่าดำเนินไปอย่างไร

ยังสามารถรักษาลักษณะ “รุก” ไว้ได้หรือไม่

หากลักษณะ “รุก” ถูกบั่นทอนจากความเรียกร้องต้องการ “การเลือกตั้ง” อันเกิดขึ้นในสังคมและนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ นั่นหมายถึงการตกอยู่ในลักษณะ “รับ”

สถานการณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ จึงเป็นสถานการณ์อันสามารถบ่งชี้ได้ว่าสถานะของ คสช.ดำรงอยู่อย่างไรในทางการเมือง

ยังสามารถเป็นฝ่าย “รุก” ได้หรือไม่ หรือว่าบทสรุปที่ว่าอยู่ในสภาวะ “ขาลง” อย่างต่อเนื่องจากกรณี “นาฬิกา” หรู กระทั่งความพยายามในการเลื่อน “การเลือกตั้ง” จะกลายมาเป็นเรื่องเดียวกัน

“คำตอบ” สัมผัสได้ใน “10 กุมภาพันธ์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image