เปิด‘ขุมพลัง’เทคโนโลยี 5G ยกอีกระดับ‘โลกดิจิทัล’ : ดร.ถิรพิรุฬห์ ทองคำวิฑูรย์

แนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่าเทคโนโลยีสื่อสารแบบ 5G (Fifth-Generation Mobile Communications) ไม่เพียงจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับวงการโทรคมนาคม หากยังจะเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ทางดิจิทัล หรือ Digital Transformation ที่จะมีผลเชื่อมโยงอย่างหลากหลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต การเงิน การท่องเที่ยว ระบบสาธารณสุข รวมไปถึงระบบโลจิสติกส์

ทั้งนี้ เป็นเพราะเทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุค Thailand 4.0

ก่อนหน้านี้ เทคโนโลยี 4G ถูกมองว่าเป็นพัฒนาการต่อยอดของระบบสื่อสารแบบ 3G เพื่อให้เป็นระบบการสื่อสารบรอดแบนด์แบบไร้สายที่เร็วขึ้น มีการเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

การเข้ามาของเทคโนโลยี 4G ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมไทย การเชื่อมต่อที่ทั่วถึงทำให้เราได้เห็นผู้คนในทุกกลุ่มของสังคมในประเทศไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและข่าวสารได้มากขึ้น มีการใช้งาน Social Media และโปรแกรมส่งข้อความส่วนบุคคลอย่าง LINE และ What’s App และ Facebook Messenger อย่างแพร่หลาย

Advertisement

นอกจากนี้ การสื่อสารบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงผ่านระบบ 4G เปิดโอกาสให้มีการใช้งานสื่อ video streaming ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับชมสื่อของผู้บริโภคจากการรับชมผ่านสื่อประเภทดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ มาเป็นสื่อ video streaming ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือมากขึ้น

4G จึงเป็นจุดกำเนิดของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หรือที่นักวิชาการเรียกว่า disruption ในวงการสื่อและโฆษณานั่นเอง

แต่ในเวลานี้เทคโนโลยี 5G จะเป็นระบบสื่อสารความเร็วสูงกว่าระบบ 4G มาก ด้วยความเร็วในการรับส่ง-ข้อมูลขั้นต่ำมากกว่า 1 กิกะบิตต่อวินาที หรือสูงกว่าระบบ 4G ที่อย่างน้อย 20 เท่า และอาจสูงถึง 1,000 เท่า ในกรณีความเร็วสูงสุด

ปัจจุบันค่ายผู้ผลิตเทคโนโลยีหลายค่าย สาธิตให้เห็นว่าผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หนึ่งเรื่องผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือโดยใช้เวลาเพียง 1 วินาทีเท่านั้น

ด้วยความเร็วดังกล่าวนั้นจะเปิดโอกาสให้มีการประยุกต์ใช้งานแบบ live streaming ผ่าน Social Media มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี 5G ไม่ได้เป็นเพียงการต่อยอดจากระบบ 4G ให้เร็วขึ้น แต่ 5G จะเป็นโครงข่ายการเชื่อมต่อในรูปแบบใหม่ที่จะทำให้เกิดการประยุกต์ใช้งานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในเทคโนโลยีก่อนหน้านี้ในหลายด้านด้วยกัน โดยอีกจุดเด่นที่สำคัญของระบบ 5G คือ การเชื่อมต่อที่มีการหน่วงเวลา (latency) น้อยมากและเป็นการเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพสูงมาก

นั่นหมายความว่า ระบบ 5G จะเข้ามาช่วยทำให้เกิดการควบคุมและตอบสนองระหว่างคู่สื่อสารแบบทันที (real-time) สำหรับการควบคุมยานยนต์อัจฉริยะ การควบคุมโดรน การผ่าตัดระยะไกล และการแข่งขันกีฬาผ่านระบบเสมือนจริง (virtual reality) ฯลฯ สามารถป้องกันสัญญาณหลุดหายหรือการหน่วงเวลา

อย่าลืมว่าการควบคุมอุปกรณ์ไฮเทคอย่างสมาร์ทคาร์ ถ้าเกิดความผิดพลาดสัญญาณหลุดเพียงเพียงเสี้ยววินาทีอาจทำให้อุบัติเหตุร้ายแรง เช่น ฝ่าสัญญาณไฟจราจรหรือไม่ชะลอความเร็ว

คุณสมบัติของ 5G ดังกล่าวยังไม่สามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีการแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน

อีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด ทำให้เทคโนโลยี 5G มีความแตกต่างกับเทคโนโลยี 4G คือ การเปิดให้มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากกับสถานีฐานถึง 1 ล้านอุปกรณ์ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร รวมถึงเทคโนโลยีในการเปิดให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องจักรกลสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างเป็นอัตโนมัติโดยไม่ต้องอาศัยการควบคุมของมนุษย์ หรือ Machine-to-Machine (M2M) Communications เป็นหัวใจหลักของโครงข่าย Internet of Things (IoT) และระบบอัตโนมัติ (automation)

ต่างกับเทคโนโลยี 4G ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการสื่อสารความเร็วสูงซึ่งต้องการการประมวลผลและพลังงานไฟฟ้าที่สูง การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G จะทำให้การเชื่อมต่อวัตถุสิ่งของและอุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวนมากเข้ากับโครงข่ายอินเตอร์เน็ตมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เทคโนโลยี 5G ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับได้ทั้งการส่งข้อมูลความเร็วสูง และการส่งข้อมูลความเร็วต่ำในโหมดประหยัดพลังงานได้ จึงทำให้อุปกรณ์อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoTs-Internet of Things) ที่เชื่อมต่อเข้ากับโครงข่าย 5G สามารถทำงานได้โดยใช้แบตเตอรี่ ไม่ต้องต่อเชื่อมเข้ากับระบบไฟฟ้า และมีอายุแบตเตอรรี่ยืนยาวมากกว่า 10 ปีได้

กล่าวได้ว่าเทคโนโลยี 5G สอดคล้องกับการประยุกต์ใช้งานจริงในภาคสนาม เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวนมากในภาคการเกษตร และเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจวัดและจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน ป่าไม้ และสัตว์ป่า โดยการเปลี่ยนแบตเตอรี่อุปกรณ์จำนวนมากในการใช้งานในลักษณะนี้จะมีความยุ่งยากและใช้เวลามาก

หนึ่งในการประยุกต์ใช้งานหลักของ Internet of Things ผ่านเครือข่าย 5G ในอนาคต ได้แก่การเชื่อมโยงยานพาหนะบนท้องถนนเข้าด้วยกันเพื่อแจ้งตำแหน่ง ความเร็ว และส่งสัญญาณเตือนผ่านการสื่อสารแบบ real-time ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้

นอกจากนี้ การเชื่อมโยงยานพาหนะเข้ากับระบบให้สัญญาณไฟและการจัดการจราจรอัจฉริยะ (intelligent transport system) จะช่วยให้เมืองสามารถจัดการการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การใช้งานโครงข่ายเซ็นเซอร์ (sensor network) ผ่านโครงข่ายให้บริการ 5G เพื่อเก็บข้อมูล จะช่วยทำให้เกิดการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้านด้วยกัน เช่น ระบบเกษตรกรรมแม่นยำ ที่เก็บข้อมูลสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืช เช่น ความชื้น ปริมาณปุ๋ย แสงแดด ระยะเวลาที่เหมาะสมกับการเก็บเกี่ยว ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถควบคุมความเสี่ยงในการลงทุนเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น

ระบบ 5G ยังสามารถนำมาใช้ในการเชื่อมต่อมิเตอร์อัจฉริยะ (smart meter) ของระบบสาธารณูปโภคภาครัฐ สามารถวัดค่าการใช้ พลังงานไฟฟ้าและน้ำของพื้นที่ต่างๆ และทั้งประเทศได้อย่างทันที เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการพลังงานไฟฟ้า และการคิดราคาการใช้สาธารณูปโภคต่อหน่วยตามอุปสงค์และอุปทานจริง ณ ช่วงเวลานั้นๆ

นอกจากการให้บริการโครงข่าย 5G สำหรับ IoT ในลักษณะสาธารณะดังกล่าวแล้ว ผู้ให้บริการโครงข่ายยังสามารถให้บริการเชื่อมต่อ 5G ในลักษณะโครงข่ายปิดเฉพาะองค์กร (private network) เช่นการให้บริการ IoT ในเขตนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้อุปกรณ์และเครื่องจักร และหุ่นยนต์ในภาคผลิตสามารถทำงานสอดคล้องกันอย่างเป็นอัตโนมัติ และเชื่อมโยงการผลิตกับระบบโลจิสติกส์และข้อมูลสต๊อกสินค้าในร้านค้าปลีกที่อยู่ในฐานข้อมูล

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด การเชื่อมต่อผ่านระบบ 5G จะมีความหลากหลายไม่เป็นเพียงการเชื่อมต่อผู้บริโภคเข้ากับระบบอินเตอร์เน็ต แต่ยังเชื่อมต่อภาคการผลิตและภาคบริการต่างๆ เข้ากับระบบอินเตอร์เน็ตอีกด้วย

การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G จึงเป็นส่วนผลักดันทำให้เกิด Digital Transformation อย่างที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้น และช่วยนำพาให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยที่จะกำหนดความสำเร็จของเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย

ปัจจัยแรกที่สำคัญ คือ การตอบรับของผู้ให้บริการโทรคมนาคม จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่เดิมเน้นให้บริการการเชี่อมต่อกับผู้บริโภคโดยตรง เป็นการให้บริการกับทั้งผู้บริโภคที่ต้องการระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำนวนมากขององค์กรขนาดใหญ่ (enterprise) ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในรูปตลาดแนวตั้ง หรือ vertical market จะต้องมีแพคเกจหรือรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างกัน

ปัจจัยที่สอง คือ การตอบสนองของภาครัฐในการสร้างสิ่งแวดล้อมทางการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับโมเดลธุรกิจและสภาพตลาดการให้บริการโทรคมนาคมที่เปลี่ยนไปข้างต้น รวมถึงการจัดเตรียมคลื่นความถี่เพิ่มเติมในย่านความถี่สูง เช่น ความถี่ที่สูงกว่า 24GHz เพื่อรองรับการสื่อสารความเร็วสูงมากของเทคโนโลยี 5G

ปัจจัยที่สามที่สำคัญ คือ การทำให้ประชาชน ภาครัฐ ผู้พัฒนานวัตกรรม รวมถึงผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและองค์กรขนาดใหญ่ตระหนักถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาเป็นประโยชน์และเพิ่มจุดแข็งในการแข่งขันให้กับองค์กร และสร้างประโยชน์ในภาพรวมให้กับทั้งประเทศไทยในทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะนำพาประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคเศรษฐดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้น

ดร.ถิรพิรุฬห์ ทองคำวิฑูรย์

วิศวกรปฏิบัติการระดับสูง สำนักบริหารคลื่นความถี่ สำนักงาน กสทช.

ENGLISH VERSION

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image