ปัญหา หลักการ ต้อง “เคารพกฎหมาย” จากปี 2557 สู่ 2561

ท่าทีของรัฐบาล ต่อ “กฎหมาย” เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ผู้นำ และบุคคลสำคัญในรัฐบาลและ คสช. มักเน้นย้ำต่อสังคมให้ยึดถือกฎหมาย

จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือบุคคลในแวดวงราชการ ต้องไม่ออกนอกกรอบของกฎหมาย

จะเลือกตั้งตามโรดแมปหรือไม่ ให้เป็นไปตามกฎหมาย

Advertisement

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยจะชุมนุมวันที่ 10 ก.พ.นี้ต้องไม่ผิดกฎหมาย

เป็นตรรกะที่มาเป็นชุด เป็นกระสวนความคิด

ทำนองว่า ถ้าผิดกฎหมายเขาต้องดำเนินคดี ไม่เช่นนั้นจะถูกต่อว่าจากคนอีกกลุ่มว่าปล่อยปละละเลยให้มีผู้กระทำผิดกฎหมาย

Advertisement

และไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์วันนี้หรือวันที่มีการเลือกตั้ง เรารู้ว่ากฎหมายคืออะไร แล้วยังกระทำผิดกฎหมาย ต่อให้มีการเลือกตั้งอีกร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่สามารถทำให้สังคมมีความสงบสุขและร่มเย็นได้

หลักการสำคัญคือต้องเคารพกฎหมาย

กฎหมายที่ใช้บังคับในประเทศไทย มีมากมาย ทั้งกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน

ที่วางหลักในการบริหารประเทศ กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน คือ กฎหมายมหาชน

ปกติกฎหมาย จะยกร่างโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากประชาชน ผ่านระบบขั้นตอนต่างๆ แล้วย้อนกลับไปบังคับใช้กับประชาชน

เป็นกฎหมายที่มีความชอบธรรมในการบังคับใช้

บางยุคบางสมัย กฎหมายยกร่างโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้ง มีกระบวนการเสมือนมาจากประชาชน

แต่ใช้บังคับได้ ด้วยธรรมเนียมทางการเมือง แม้มีข้อโต้แย้งมากมาย

ในยุคนี้ มีตั้งแต่กฎหมายแม่บท คือรัฐธรรมนูญ 2560

กฎหมายลูก หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังได้แก่ คำสั่งของ คสช.และหัวหน้า คสช.

มีคำรับรองว่า ประกาศและคำสั่งในกรณีอย่างนี้ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ที่มาของกฎหมายเหล่านี้ คือแม่น้ำ 5 สาย อันเป็นเครือข่ายของ คสช.นั่นเอง 

ที่จริงยังมีกฎหมายอีกหลายเรื่อง ที่ทุกคนพึงเคารพและปฏิบัติ

แม้แต่ในกฎหมายที่แม่น้ำ 5 สายร่างมาเอง อาทิ กฎหมายรัฐธรรมนูญ แลพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในรัฐธรรมนูญ ควรได้รับการเคารพ และปฏิบัติ อย่างฉับพลันทันทีหรือไม่

แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้น คือ มีการกำหนดข้อยกเว้น โดยอ้างความจำเป็นต่างๆ

ตัวอย่างของข้อยกเว้นที่โดดเด่นสุด คือ บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ

หรือการแก้ไข ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง

อาทิ การให้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อเวลาผ่านไป 90 วัน

แม้มีข้อโต้แย้งในเชิงตรรกะ และความเหมาะสม

แต่ในเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย สังคมก็ต้องยอมรับปฏิบัติตาม 

คําว่า “เคารพ” กฎหมายนั้น ควรมีความหมายกว้างกว่าที่กำลังเรียกร้องกันอยู่

หากในยุค “ชัตดาวน์” ทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย ทำหน้าที่ของตนเองตามกฎหมาย ไม่ยักคิ้วหลิ่วตาสนับสนุนกัน ให้การแก้ปัญหาเป็นไปตามกฎหมาย บ้านเมืองคงไม่เดินมาถึงจุดที่ต้องเรียกร้องให้เคารพกฎหมายบางฉบับ บางเรื่อง

การเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ทั่วประเทศ ไม่มีการบีบคอ ปิดกั้นประชาชนที่จะไปใช้สิทธิ

หากผู้ชนะเลือกตั้งบริหารล้มเหลว ก็เลือกตั้งกันใหม่

ให้ประชาชนตัดสินตามประเพณีการเมืองและกฎหมาย

สภาพบ้านเมืองอาจแตกต่างไปจากทุกวันนี้

เมื่อชี้นิ้วเรียกร้องให้ผู้คนเคารพกฎหมาย พร่ำบ่นนิติรัฐ-นิติธรรม ก็ต้องเคารพกฎหมายอย่างบริสุทธิ์ใจ

โดยไม่ต้องมีข้อยกเว้นให้รุงรังมากเรื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image