คุณภาพคือความอยู่รอด โดย : วิฑูรย์ สิมะโชคดี เตรียมพร้อมกันหรือยัง

เมื่อเร็วๆ นี้ มีบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รายงานถึง 10 อาชีพที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี อันได้แก่ 1.สุขภาพและการแพทย์ 2.ประกันภัย 3.สถาปัตย์ 4.ผู้สื่อข่าว 5.อุตสาหกรรมการเงิน 6.ครูและอาจารย์ 7.ทรัพยากรบุคคล 8.ตลาดและโฆษณา 9.ทนายความ และ 10.การบังคับใช้กฎหมาย

ผลกระทบจากเทคโนโลยี ปรากฏให้เห็นชัดตามกรณีที่กำลังเป็นข่าววิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในขณะนี้ ก็คือ กรณีธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศจะทยอยปิดสาขาและปรับลดพนักงานจำนวนหนึ่ง ภายในระยะเวลา 3 ปีนี้

ว่าไปแล้ว มาตรการปรับลดสาขาและพนักงาน ก็เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว และเพื่อการคงไว้หรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะมีผลกระทบต่อองค์กรเสมอ (ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง) โดยเฉพาะการปรับลดพนักงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจพนักงานโดยตรง เรื่องทำนองนี้จึงมีความละเอียดอ่อนมาก

Advertisement

แต่การปรับลดพนักงาน มักจะเป็นมาตรการสุดท้ายใน “การบริหารจัดการเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Change Management) หรือ “การพัฒนาองค์กร” (Organization Development : OD) เพราะเหตุที่ต้องทำก็เนื่องจาก เพื่อการปรับเพิ่มประสิทธิภาพ และเพื่อความอยู่รอดในระยะยาวขององค์กร

เรื่องของการปรับลดพนักงานนี้ จึงควรมีการวางแผนดำเนินการแต่เนิ่นๆ และเป็นไปด้วยความสมัครใจของพนักงาน บนพื้นฐานของความเข้าใจในสาระบริบทในขณะนั้น และบนความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างผู้บริหารและพนักงาน ดังเช่นหลายๆ โครงการที่เกษียณก่อนอายุ หรือจากกันด้วยดี เป็นต้น

ในการเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้น ผู้บริหารจะต้องทำให้พนักงานทุกคนเห็นถึง “ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลง” (Sense of Urgency) คือ ต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเราจะอยู่กันแบบนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ องค์กรก็จะต้องล่มสลายในที่สุด เพราะสู้กับคู่แข่งไม่ได้ โดยเฉพาะคู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาบริหารจัดการองค์กร

Advertisement

ถ้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่พวกเราจริงในอนาคต ก็ต้องถามดังๆ ว่า “เราเตรียมพร้อมกันหรือยัง” ครับผม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image