ตำนานเหมืองทองคำ ชื่อ โต๊ะโมะ ใต้สุดของสยามชื่อ โต๊ะโมะ ใต้สุดของสยาม : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

คาดว่ามนุษย์รู้จัก “ทองคำ” มานานราว 6,000 ปีมาแล้ว คำว่า “Gold” นั้นมาจากคำภาษาอังกฤษ คือ “Geolo” ซึ่งแปลว่าเหลือง สัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ของธาตุทองคำ “Au” มาจากคำภาษาละติน คือ “Aurum” แปลว่า ทอง

ทองคำ ถูกนำเป็นเครื่องตกแต่งในพิธีกรรมทางศาสนามาช้านาน เป็นสัญลักษณ์ของบุคคล ความมีอำนาจ ความรุ่งเรือง เฟื่องฟู สันนิษฐานว่าการค้นพบทองคำครั้งแรกน่าจะเป็นดินแดนแถวอียิปต์

ต่อมามีการค้นพบอีกที่ประเทศมาซิโดเนีย อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย การขุดทองเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่มีการค้นพบทวีปอเมริกา

ทองคำ เป็นโลหะชนิดเดียวที่ได้รับการยอมรับว่ามีค่าสูงสุด เกิดการแย่งชิง แสวงหาในทุกหนทุกแห่ง

Advertisement

ในศตวรรษที่ 19 ได้มีการนำทองคำเข้ามาใช้ในระบบเงินตรา ทองคำจึงกลายมาเป็นพื้นฐานหลักของระบบเงินตรา มีการกำหนดมาตรฐานทองคำใช้กันเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ

ในศตวรรษที่ 15 และ 16 มหาอำนาจตะวันตก โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ฮอลแลนด์ ตระเวนแล่นเรือ เสี่ยงตายออกล่าอาณานิคมและค้าขายทั่วโลก เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง เหตุผลประการหนึ่ง คือ การแสวงหา ครอบครองแหล่งทองคำ

ในตอนกลางศตวรรษที่ 19 มีการค้นพบทองคำในแคลิฟอร์เนีย ที่เรียกว่า ยุคตื่นทอง และพบอีกในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ค้นพบทองคำในแอฟริกาใต้

Advertisement

ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน เคยเป็นที่รู้จักในนาม “สุวรรณภูมิ” แปลว่า แผ่นดินทอง น่าจะเป็นเพราะดินแดนแห่งนี้มีการค้นพบทองคำกันมาแต่โบร่ำโบราณ คงมีการค้นพบทองคำไม่น้อย จึงกล้าหาญขนานนามดินแดนแห่งนี้ว่า สุวรรณภูมิ

สมัยอาณาจักรเชียงแสนมีพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ ในยุคต่อมาทองคำถูกนำมาใช้ในการทำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภค คนไทยศรัทธาพุทธศาสนา เอาทองคำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปมีชื่อเสียงหลายองค์ ในหลายวัด

ผู้คนในสุวรรณภูมิ เคารพ บูชา ยกย่องสิ่งใดก็จะนำทองคำมาเป็นส่วนประกอบ ห่อหุ้ม แม้กระทั่งเจดีย์ขนาดใหญ่

ทองคำในสยามสมัยก่อนคงเหลือเฟือ เพราะเมื่อมีการเชื่อมไมตรีกับชาวต่างชาติ พระมหากษัตริย์สยามจะส่งพระราชสาสน์ (จาร) ลงบนแผ่นทองคำที่เรียกว่าพระสุพรรณบัฏ และเครื่องราชบรรณาการทั้งปวงที่ส่งไปเป็นของขวัญให้ประมุขต่างชาติ ล้วนทำด้วยทองคำ

เครื่องใช้และเครื่องประดับต่างๆ ในราชสำนักและชนชั้นสูง ก็ยังนิยมใช้ทองคำ เชื่อกันว่า ดินแดนแห่งนี้มีทองคำมหาศาล ชาวสยามน่าจะเรียนรู้ มีภูมิปัญญาที่จะร่อนเอาทองออกมาจากน้ำปนทรายที่ไหลในลำธาร

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ส่งทองคำไปเป็นเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสถึง 46 หีบ และพระองค์ได้ให้เอกอัครราชทูตไทยที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนั้นว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการทำเหมืองแร่ทองคำจากฝรั่งเศสกลับมาอยุธยาเพื่อให้ความรู้เรื่องการแสวงหาแหล่งทองคำ

แหล่งแร่ทองคำที่มีทองคำเป็นล่ำเป็นสันในสมัยนั้น คือ แร่ทองคำบ้านป่าร่อน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการค้นพบและทำเหมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2283 และมีหลักฐานว่าในปี พ.ศ.2293 สามารถผลิตทองคำ ได้ทองคำหนัก 90 ชั่งเศษ หรือน้ำหนักประมาณ 109.5 กิโลกรัม

ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ มีแร่ทองคำจริงแท้แน่นอน ผู้คนทั้งปวงต่างแสวงหาไม่หยุดหย่อน

คนไทยอาจจะเป็นชนชาติเดียวที่จุดธูปเทียน แล้วนำเอาแผ่นทองคำบางๆ ไปปิดที่องค์พระพุทธรูป พระรูป อนุสาวรีย์ ปิดทองฝังลูกนิมิต ฯลฯ

 

กิจการขุดร่อนหาทองคำในสยาม เริ่มจางหายไป ในสมัยในหลวง ร.4 จนสยามต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การใช้ทองคำมีปรากฏในพระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับการทำเงินตราสยามเป็นเหรียญเงิน และในหลวง ร.4 ได้โปรดให้ทำเหรียญทองคำ ด้วยเช่นกัน

แผ่นดินสยามสั่นสะเทือนด้วยข่าวดีอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2414 เพราะชาวบ้านค้นพบทองคำที่บ้านบ่อ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และเป็นครั้งแรกที่ทำเหมืองทองคำด้วยวิธีการขุดเจาะอุโมงค์ลงใต้ดินในปี พ.ศ.2416 โดยมีพระปรีชากลการ เจ้าเมืองปราจีนบุรีเป็นผู้ดูแลกิจการ แต่ปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2421

ท่านผู้อ่านที่เคารพอาจจะเคยได้ยินคดีความของพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) เจ้าเมืองปราจีนบุรี และผู้ดูแลบ่อทองของรัฐบาลที่กบินทร์บุรี ซึ่งไปหลงรักและสมรสกับแหม่มสาว แฟนนี่ น็อกซ์ บุตรสาวของ มร.น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ซึ่งต่อมาการทำเหมืองทองคำปรากฏความผิดเรื่องการทุจริต ยักยอก คดีความลุกลามบานปลายเป็นความบาดหมางระหว่างสยาม-อังกฤษ ในที่สุดพระปรีชากลการถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเรื่องของทองคำ

พ.ศ.2444 สยามมี พ.ร.บ.การทำเหมืองแร่ ร.ศ.120 ซึ่งถือเป็น พ.ร.บ.แร่ฉบับแรกของสยาม มีการทำเหมืองแร่กว่า 40 ชนิด โดยมีแร่เศรษฐกิจอยู่ 10 ชนิด ได้แก่ ถ่านหิน ยิปซัม หินอุตสาหกรรม เฟลด์สปาร์ สังกะสี โดโลไมต์ ดีบุก ทรายแก้ว เกลือหินและโพแทส และทองคำ

สมัยในหลวง ร.5 มีชาวอิตาเลียนได้มาขอขุดทองที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่ปรากฏหลักฐานจำนวนที่พบ

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสยามได้ให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแก่บริษัทจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสหลายแห่ง เช่น แหล่งโต๊ะโมะ จ.นราธิวาส แหล่งบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แต่ได้เลิกราไปเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

มีบันทึกไว้ว่า บริษัท Societe des Mine d’Or de Litcho ของฝรั่งเศส ได้ทำเหมืองแร่ทองคำที่แหล่งโต๊ะโมะ นราธิวาส ในระหว่างปี พ.ศ.2479-2483 ได้ทองคำหนักถึง 1,851.44 กก.

ระหว่างปี พ.ศ.2493-2500 กรมโลหกิจ (กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) ได้ทำเหมืองทองคำที่บ้านบ่อ ปราจีนบุรี ผลิตทองคำได้ถึง 54.67 กก.

ลองมาคุยกันเรื่องเหมืองแร่ทองคำที่แหล่งโต๊ะโมะ จ.นราธิวาส ที่กำลังเลือนรางไปจากความทรงจำของคนไทย

แหล่งแร่ทองคำโต๊ะโมะ อยู่บริเวณภูเขาชายแดนไทย-มาเลเซีย ในเขต อ.สุคิริน จ.นราธิวาส

มีการค้นพบทองคำที่บ้านโต๊ะโมะ สมัยในหลวง ร.5 เหมือนกับที่ อ.กบินทร์บุรี จุดที่พบทองคำห่างจากชายแดนมาเลเซียเพียง 800 เมตร พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสุไหงโก-ลก แหล่งแร่ทองคำอยู่ในป่ากลางหุบเขา

หุบเขาที่อุดมด้วยทองคำแห่งนี้ แน่นทึบไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ชื้นและฉ่ำฝนอยู่แทบทุกฤดูกาล จนเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลิโช อันเป็นสาขาหนึ่งของต้นแม่น้ำสายบุรี

สายน้ำที่ไหลคดเคี้ยวลงมาจากป่าลึกและขุนเขานี้เองที่มีผงทองคำปะปนไหลลงมา ชาวบ้านอาศัย “เลียง” เครื่องมือร่อนทำด้วยไม้ รูปร่างคล้ายกระทะ ตักเศษดินเศษหินใต้น้ำขึ้นมาร่อนหาทองคำ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่น้ำจะหลากลงมาจากเขา พัดพาเอาเกล็ดทองคำลงมาจมอยู่ก้นลำห้วย

เมื่อแรกพบ ชาวจีนชื่อ “ฮิว ซิ้นจิ๋ว” ซึ่งทำมาค้าขายอยู่แถบไทย-มาเลเซียนำลูกมือราว 50 คน เข้ามาขุดค้นหาทองคำด้วยวิธีการร่อนเอาตามสายน้ำ ตั้งแต่บ้านกาลูบี ขึ้นไปทางต้นน้ำ จนเกือบถึงเขตแดนมาเลเซีย พวกเขาพบว่ายิ่งใกล้ต้นน้ำเท่าใดปริมาณทองคำที่ติดก้นเลียงยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อข่าวเรื่องทองคำนำโชคนี้แพร่ออกไป ผู้คนก็หลั่งไหลมาแสวงโชค ณ ดินแดนแถบนี้ ประมาณกันว่ามีมากถึงพันกว่าคน และนักแสวงโชคเหล่านั้นก็ร่อนหาทองคำได้ถึงวันละ 1-2 สลึง

เมื่อข่าวการพบทองที่โต๊ะโมะเป็นที่โจษจันกันมากขึ้น รัฐบาลไทยแต่งตั้งให้ “อาฟัด” บุตรชายของฮิว ซิ้นจิ๋ว ซึ่งรับสืบทอดงานขุดหาทองคำต่อจากบิดา เป็นผู้เก็บภาษีจากชาวบ้านที่เข้าไปขุดค้นหาทองคำ อาฟัดเปรียบได้กับนายอำเภอของโต๊ะโมะในสมัยนั้น

ต่อมาได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น “หลวงวิเศษสุวรรณภูมิ” เขาเป็นบิดาของ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ พนมเทียน และดินแดนใต้สุดอันลี้ลับที่เหมืองโต๊ะโมะซึ่งปู่และพ่อเป็นผู้บุกเบิกนี่เอง เป็นแรงบันดาลใจก่อกำเนิดนวนิยายผจญภัยอันแสนโด่งดัง “เพชรพระอุมา” และฮิว ซิ้นจิ๋ว ก็คือต้นตระกูล วิเศษสุวรรณภูมิ

โต๊ะโมะ ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นเหมืองอีกครั้งใน พ.ศ.2473 โดยชาวอังกฤษเข้ามาติดตั้งเครื่องจักรทำเหมืองทองคำอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงเลิกกิจการไป

พ.ศ.2475 เมื่อบริษัทฝรั่งเศสชื่อ Societe d’ Or de Litcho เข้ามาสำรวจและพบว่าลึกลงไปในผืนดินของขุนเขาโต๊ะโมะและลิโช ซึ่งอยู่ในแนวเทือกเขาสุไหงโก-ลก มีแร่ทองคำอยู่มาก ที่สำคัญเนื้อทองคำมีเปอร์เซ็นต์สูง จึงได้ขอสัมปทานจากรัฐบาลไทยทำเหมืองทองคำเป็นเวลา 20 ปี

เมื่อเกิดพบทองคำในดินแดนแห่งนี้ บริษัทของฝรั่งเศสได้เข้ามาทำสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในเขตดังกล่าว มีราษฎรอพยพเข้ามาเป็นกรรมกรเหมืองจำนวนมาก ทำให้มีประชากรหนาแน่นขึ้น ในปี พ.ศ.2478 มหาดไทยจึงต้องจัดแบ่งพื้นที่การปกครองใหม่ โดยแยกเป็นกิ่งอำเภอปาโจ ขึ้นกับอำเภอโต๊ะโมะ เพื่อจัดเก็บภาษีอากร

มีคำพรรณนาที่ทำให้พอเห็นภาพของการทำเหมืองทองคำดังนี้

“มีกรรมกรประมาณ 1,000 คน แบ่งเป็นแผนกระเบิดหิน พวกนี้จะเข้าไประเบิดในเหมืองตามสายของทองอย่างน้อย 2 กม. ในช่วงตอนเย็นถึงตอนเช้า แผนกเก็บหิน จะใช้รถเข็น เข็นไปตามรางในเหมือง รางรถไฟเก็บหินที่ระเบิดมาวาง กองไว้ที่ข้างโรงโม่หรือโรงตำ แผนกตำหิน มี 9 สาก 9 ครก”

“วิธีการโม่หินสมัยนั้นใช้วิธีตำ ในระหว่างที่ตำอยู่นั้นจะต้องรดน้ำอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกับการโม่แห้งเพื่อให้หินแตกละเอียด แล้วไหลมาตามรางพร้อมกับน้ำในรางจะมีผ้าขนสัตว์สีแดง ปูตามยาวของรางทั้ง 9 ราย เมื่อละเอียดเต็มรางก็ปล่อยน้ำให้ไหลแรงออกมา หินก็จะไหลไปตามน้ำ ส่วนทองก้อนเล็กก้อนน้อยก็ยังคงติดอยู่ที่ผ้าขนสัตว์ ไม่ได้ไหลไปพร้อมกับหินและน้ำ ต่อจากนั้นแผนกล้าง ก็จะนำผ้าไปล้างที่บ่อซีเมนต์ซึ่งขังน้ำไว้ โดยเอาผ้าวางกลับเอาด้านทองลงกับบ่อซีเมนต์เหมือนกับการซักผ้าตามแม่น้ำทั่วไป เพื่อให้ทองคำลงไปอยู่ก้นบ่อซีเมนต์ แล้วปล่อยน้ำในบ่อออกจนแห้ง จึงนำปรอทเทลงในบ่อ ปรอทจึงดูดเอาทองคำมารวมไว้ไม่ให้กระจาย ประมาณ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ปรอทกับทองจะแยกตัวจากกัน จึงตักปรอทขึ้นจนหมดเหลือแต่ทองคำ จึงตักใส่เบ้าตั้งไฟหลอม”

เล่ากันมาว่า ทองคำแต่ละแท่งที่บริษัทฝรั่งเศสผลิตได้นั้นหนักขนาด 12 กก., 17 กก. และ 25 กก. ในชั่วระยะเวลาก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสต้องปิดเหมืองกลับไปนั้น ประมาณคร่าวๆ ว่า ทองคำที่ถูกขุดออกไปจากเหมืองแห่งนี้หนักถึง 2,000 กก.

เมื่อมีทองคำ ก็ตามมาด้วยการจี้ ปล้น แย่งชิง และฆาตกรรม

ชาวบ้านดั้งเดิมเปิดเผยว่า ช่วงฝรั่งเศสทำเหมืองแร่ทองคำอยู่ ก็ใช้ช้างในการขนส่งทองคำ โดยแอบซุกซ่อนนำทองคำออกไปขายที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย และบางส่วนส่งไปที่ฝรั่งเศสทางเรือโดยสาร

กิจการทำเหมืองทองคำโต๊ะโมะ ดำเนินไปจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองทองคำต้องปิดตัวลง บริษัทฝรั่งเศสม้วนเสื่อกลับบ้าน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเข้ามาดำเนินการเอง แต่ทำได้ไม่นานก็ประสบปัญหาจึงต้องสั่งปิดเหมือง เหมืองทองที่เคยคึกคักกลายเป็นเหมืองร้าง นอกจากนั้นโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) เข้ามาเคลื่อนไหวในดินแดนแถบนี้ จึงเป็นพื้นที่อันตราย

ต่อมารัฐบาลให้สัมปทานบริษัทเอกชนดำเนินการอีกครั้ง โดยบริษัท ชลสิน จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2528 และได้รับประทานบัตรจากรัฐบาลดำเนินการ เมื่อปี พ.ศ.2529 หลังจากที่เหมืองร้างอยู่ 40 ปีเศษ แต่ก็ต้องเลิกกิจการในที่สุด

 

ผู้เขียนสืบค้นข้อมูลเรื่องจุดคุ้มทุนสำหรับการทำเหมืองทองคำ พบว่าควรมีแร่ทองคำไม่น้อยกว่า 0.8 กรัม ต่อน้ำหนักหิน 1 ตัน จึงจะนำมาเป็นสินแร่ได้ ถ้าน้อยกว่านั้นสกัดแล้วไม่คุ้ม

สถานที่สำคัญอีกแห่งในพื้นที่ คือ วัดโต๊ะโมะ เป็นวัดหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา

จากคำบอกเล่าต่อกันมาในอดีต เหมืองแร่เคยมีคนถูกหินในถ้ำถล่มตายกว่าร้อยศพ

ปัจจุบันไม่มีกิจการทำเหมืองทองคำ แต่ยังคงเหลือสิ่งก่อสร้าง เช่นบ้านพักที่ทำการเดิม อุโมงค์ 4 อุโมงค์หลัก และอุโมงค์ย่อยอีกมาก ชุมชนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เหมืองโต๊ะโมะให้นักท่องเที่ยวเข้าชมบริเวณที่เคยเป็นเรือนพัก จุดล่องแพ และอุปกรณ์ร่อนแร่ทองคำ

เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับชนรุ่นหลังครับ คำว่า สุคิริน เป็นนามพระตำหนักที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานเมื่อครั้งเสด็จฯประทับแรมในพื้นที่นี้ เมื่อปี พ.ศ.2510 ซึ่งมีความหมายว่า พันธุ์ไม้อันเขียวชอุ่ม ซึ่งสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา ป่าไม้ และพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด

เหมืองทองคำ โต๊ะโมะ อีก 1 ตำนาน เล่าให้ลูกหลานฟังครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
ข้อมูลจากสมาคมค้าทองคำ และข้อมูลจากข่าวสดรายวัน วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2552 เรื่องเหมืองทองคำโต๊ะโมะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image