สุจิตต์ วงษ์เทศ : อิฐหักกากปูน ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย

ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ของ น. ณ ปากน้ำ เป็นหนังสือคลาสสิคที่ ขรรค์ชัย บุนปาน กับผม (ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนโบราณคดี ศิลปากร) ซื้อหามาสู่กันอ่านเมื่อพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510

ตอนนั้น สติปัญญาและประสบการณ์ของผมเป็นผงคลีธุลีดิน จึงอ่านไม่แตก แยกไม่ออก ว่าอะไรเป็นอะไร ได้แต่อ่านเอา “มันส์” ในแง่วรรณกรรม ไม่อ่านเอาเรื่อง เพราะไม่รู้เรื่องในแง่มุมวิชาการ จึงได้แต่จำขี้ปากเขามาคุยเรื่องใบเสมาบ้าง เรื่องอื่นๆ บ้าง ฯลฯ

เมื่ออ่านจบเล่มเกิดอาการมันส์ยกร่อง ขรรค์ชัยชวนผมนั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปลงอยุธยา แล้วลงเรือข้ามฟากน้ำป่าสักขึ้นตลาดหัวรอ เดินไปถามหาบ้านเช่าหน้าวัดแม่นางปลื้มของคณะสำรวจ น. ณ ปากน้ำ หวังติดสอยห้อยตามสำรวจด้วย หรือแค่ได้ฟังเล่าก็ยังดี

พบพี่อรรถทวี ศรีสวัสดิ์ กับ พี่นิพนธ์ ขำวิไล (จบคณะจิตรกรรมฯ เป็นผู้ช่วยสำรวจฯ) แต่ไม่ได้พบ น. ณ ปากน้ำ เพราะท่านเข้าไปทำธุระในกรุงเทพฯ

Advertisement

พี่อรรถทวีกับพี่นิพนธ์ จึงพาขรรค์ชัยกับผมไปกินข้าวร้านเหล้าหน้าตลาดหัวรอ พอเข้าที่และร้านปิด พี่สองคนก็พาน้องสองคนเดินตุปัดตุเป๋ขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำลพบุรีตอนใกล้สองยาม ลัดเลาะทุ่งแก้วทุ่งขวัญ แล้วไปวัดหน้าพระเมรุ ข้ามกลับไปที่วังโบราณ ถึงพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ราวตีหนึ่งตีสอง ดูจากพระจันทร์ทอแสงขึ้นปลายไม้

ไม่กี่วันมานี้ผมเพิ่งซื้อมาอ่านใหม่ (หลังจากเขียนเรื่องคลองคูจาม เมืองปทาคูจามไปแล้วเป็นอาทิตย์) หนากว่าเดิมมาก เพราะเพิ่มข้อมูลลายเส้นสเก๊ตช์ตอนสำรวจฝีมือ น. ณ ปากน้ำ วิเศษสุด คลาสสิคมากๆ พร้อมตารางสถิติกับดรรชนีค้นคำ รีบไปซื้อมาเก็บไว้ด่วน หนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนฯ (เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2558)

อ่านแล้วถึงรู้ว่าตัวเองล้าหลังข้อมูลความรู้อยุธยา เพราะ น. ณ ปากน้ำ เขียนไว้แล้วทั้งนั้นเกี่ยวกับคลองคูจาม เมืองปทาคูจาม คือเวียงเล็ก จะยกเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้

Advertisement

“อันลำคลองคูจามนี้ อยู่ใกล้กับวัดพุทไธศวรรย์ ถัดไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย บริเวณนั้นแต่เดิมเป็นตำหนักเวียงเหล็ก (เข้าใจว่าเดิมจะเรียกตำหนักเวียงเล็ก) ของพระเจ้าอู่ทอง สมัยก่อนที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตัวเกาะอยุธยาปัจจุบัน ครั้งเมื่อพระองค์สถาปนานครใหม่เสร็จแล้ว จึงถวายวังเป็นวัด ให้ชื่อว่า วัดพุทไธศวรรย์”

“ตัวเวียงเล็กนี้กระมังคือเมืองปทาคูจาม และถือว่าเป็นวังหน้ากลายๆ เพราะวังหน้าที่วังจันทรเกษม เพิ่งจะมาสร้างขึ้นภายหลังในสมัยพระมหาธรรมราชา”

ตอนเขียนคราวแรกไม่ได้อ้าง น. ณ ปากน้ำ เพราะไม่มีหนังสือ แล้วลืมจริงๆ ขอสารภาพบาปตรงนี้

อิฐหักกากปูน

ระหว่าง พ.ศ.2510-2513 นักเขียนนักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่และรุ่นเพื่อนเขียนเยาะเย้ยเหยียบย่ำถากถางผมคนเดียวว่าเป็นพวกจมปลักอยู่กับกองอิฐหักกากปูนโบราณคดี

ยุคโน้นไม่มีใครใส่ใจที่ผมเขียนว่าผู้มีอิทธิพลเอารถไถรถแทร็กเตอร์ ไถอิฐเก่าวัดร้างยุคทวารวดี, อยุธยา, สุโขทัย ฯลฯ ไปขาย

ใช้ถมที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะที่อยุธยามีมากเป็นพวก ส.ส. มีอิทธิพล ทำลายวัดเก่ามากสุด ขอให้ร่วมกันต่อต้านเปิดโปง

แต่ไม่มีใครเอาด้วย มีแต่เยาะเย้ยถากถางพวกอิฐหักกากปูน ขัดขวางความเจริญทางเศรษฐกิจของบ้านเมือง

น. ณ ปากน้ำ เขียนบอกในห้าเดือนกลางซากอิฐปูนฯ ว่า บริเวณรอบๆ วัดพุทไธศวรรย์ “พบวัดร้างซึ่งเก่าแก่มากนับจำนวนไม่ถ้วน แต่น่าเสียดายว่าถูกขุดเอาอิฐไปขายเสียประมาณ 95 ใน 100 บางวัด เช่น วัดพญาพาน ตั้งอยู่กลางทุ่ง ……. ถูกขนอิฐไปเสียจนไม่เหลือ พบเพียงเศษป่นๆ พอจะคลำได้ว่ามีโบราณสถานมาก่อนเท่านั้น อีกไม่กี่ปีข้างหน้าคงไม่มีใครรู้ว่าตรงนี้เคยมีวัดสำคัญตั้งอยู่มาก่อน”

วัดร้างเหล่านี้มีกฎหมายคุ้มครองให้อยู่ในความควบคุมดูแลของ กรมการศาสนา แต่แล้วเป็นผู้อนุญาตให้พ่อค้าขุดรื้อวัดเก่าเอาอิฐขายเสียเอง (อ.ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เขียนบอกไว้เองเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือพระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี กรมศิลปากรพิมพ์แจก พ.ศ. 2510 หน้า 16)

มันช่างน่าเจ็บจำถึงปรโลก ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย (ดัดแปลงจากกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์) เมื่อทุกวันนี้พากันฟูมฟายโหยหาสร้างใหม่สิ่งที่ทำลายไป เพราะขายได้ดีในตลาดการท่องเที่ยว แล้วช่วยพยุงเศรษฐกิจตกต่ำได้มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image