ทิศทาง ประเทศ ทิศทาง “การเลือกตั้ง” นี่คือ ยุทธศาสตร์

เหมือนกับว่าความสำเร็จจากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 จะเป็นชัยชนะ จะยืนยันลักษณะรุกในทางการเมือง

เพราะจากคำสั่งนี้ 1 นำไปสู่การ “รีเซต” สมาชิกพรรคการเมือง

เพราะจากคำสั่งนี้ 1 นำไปสู่ข้ออ้างของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในการปรับแต่งบทบัญญัติอันทำให้สามารถ “เลื่อน” การเลือกตั้งออกไป

แทนที่จะเป็นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

Advertisement

กลับเป็นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

แต่ภายในความพยายามที่จะ “รุก” ในทางการเมือง ไม่ได้หมายความว่า คสช.จะมีแต่ “รายรับ” ตรงกันข้าม “รายจ่าย” ก็จะปรากฏตลอด 2 รายทาง

“รายจ่าย” นั่นแหละก่อให้เกิด “การแปรเปลี่ยน”

Advertisement

เพราะว่าคนที่จะต้อง “รับผิดชอบ” ย่อมเป็น “คสช.” มิใช่ใครไหนอื่น

คําสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 มีพื้นฐานมาจากไหนสังคมรับรู้อย่างเด่นชัดว่า มาจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคน 2 คน

1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 1 นายไพบูลย์ นิติตะวัน

ความต้องการในข้อเรียกร้อง คือ อยากให้ คสช. อยากให้ สนช.แก้ไขปรับปรุง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับ “พรรคการเมือง”

“รายรับ” อาจเห็นได้จากผ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 โดยเฉพาะต่อพรรคการเมืองใหม่ในเครือข่าย คสช.

“รายจ่าย” เท่ากับเป็น “การประจาน”

เพราะว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ร่างมาโดย คสช. เพราะว่าปัญหาก็คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองไม่ได้รับการปฏิบัติเพราะติดกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 57/2557

ผลก็คือ เกิดปรากฏการณ์ “คนอยากเลือกตั้ง”

ปรากฏการณ์ “คนอยากเลือกตั้ง” อาจถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวของเด็กๆ นำโดยบรรดานักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ คนหน้าเดิม-เดิม

ไม่ว่า “โรม” ไม่ว่า “จ่านิว”

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ทิศทางในทาง “ยุทธศาสตร์” ของ “คนอยากเลือกตั้ง” สอดรับกับทิศทางในทาง “ยุทธศาสตร์” ของพรรคการเมือง

ไม่ว่า “ประชาธิปัตย์” ไม่ว่า “เพื่อไทย”

นั่นเท่ากับว่า ความต้องการ “รุก” ในทางการเมืองของ คสช.อาจทำให้สามารถ “ยื้อ” และทอดเวลาของการเลือกตั้งยาวนานต่อไปอีก

แต่ก็ก่อให้เกิด “พันธมิตร” ใน “แนวร่วมใหม่” ขึ้นมา

มองผ่านกระบวนการเศรษฐกิจ ดิจิทัล ในยุคแห่งไทยแลนด์ 4.0 สถานการณ์การชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน

คือ Start Up ในทางการเมือง

ผลเฉพาะหน้าอันตามมาก็คือ ปรากฏการณ์ MBK 39

ไม่ว่าจะมองจากสายตาของนักการทหาร ไม่ว่าจะมองจากสายตาของนักการเมือง ทิศทางของประเทศ คือ ทิศทางของ “การเลือกตั้ง”

ไม่มีทิศทางอื่นอย่างเด็ดขาด

เมื่อ “การเลือกตั้ง” ดำรงอยู่อย่างเป็น “ยุทธศาสตร์” ของประเทศ ใครยึดกุมย่อมเป็นฝ่ายรุก เป็นฝ่ายกระทำ ใครยื้อ ใครพยายามเลื่อนย่อมเป็นฝ่ายตั้งรับและมีโอกาสถูกกระทำ

นี่คือการปะทะระหว่าง “อยากเลือกตั้ง” กับ “ไม่อยากเลือกตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image