“ทุ่งใหญ่61” : เรื่องเก่าและเรื่องใหม่ โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

หากมองในแง่หนึ่ง กรณี นายเปรมชัย กรรณสูต ผู้บริหารอิตาเลียนไทย กับคดีล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวรที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็ไม่ต่างอะไรจากกรณี “ทุ่งใหญ่นเรศวร” ก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

นี่คือโครงสร้างความขัดแย้งดั้งเดิม

เมื่อการเข้าไปทำสิ่งที่อาจจะ “ผิด” ในเขตพื้นที่หวงห้าม ผ่านการมีอภิสิทธิ์, การเข้าถึงทรัพยากร ตลอดจนการมีอำนาจและสายสัมพันธ์ชนิดพิเศษ เหนือกว่าสามัญชนส่วนใหญ่ของประเทศ นั้นก่อให้กระแสลบ ทั้งแรงต้านและคำถามจากสังคม

ต่อให้เรายังหลงเวียนวนอยู่ในโครงสร้างสังคมแบบเดิมๆ เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็มีแนวโน้มจะถูกมองว่าเป็น “ปัญหา”

Advertisement

แต่หากถามว่ามีปัจจัยอะไรแปลกใหม่แทรกเสริมเข้ามาบ้างหรือไม่ในกรณี “ทุ่งใหญ่ฯ 2561”? คำตอบก็คือ น่าจะมี

กรณี “ทุ่งใหญ่ 61” กับ “ทุ่งใหญ่ก่อน 14 ตุลา” อาจไม่ใช่ฝาแฝดที่เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว

ข้อกล่าวหาที่พุ่งตรงไปยังนายเปรมชัยและคณะผู้ติดตาม มิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดฉ้อราษฎร์บังหลวงของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง และ (อาจ) มิได้เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะตึงเครียดใกล้สุกงอม ที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มหมดความอดทนต่อการปกครองในระบอบเผด็จการ

แต่นี่คือเรื่องของเอกชนผู้มีอภิสิทธิ์ และมีหลักฐานยืนยันว่าเขาน่าจะกระทำความผิด

ณ เบื้องต้นที่สุด ข้อกล่าวหาเรื่องการเข้าป่าล่าสัตว์และอื่นๆ ที่มีต่อผู้บริหารอิตาเลียนไทย ดูเหมือนจะมิได้มีสถานะเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือลักษณะสำคัญใหม่ๆ ของกรณี “ทุ่งใหญ่ 61”

ข้อแรก กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงบรรทัดฐานทางสังคมบางประการที่เปลี่ยนแปลงไป

การเข้าป่าล่าสัตว์ใหญ่-หายาก อาจเคยถูกนับเป็นกิจกรรมเอาต์ดอร์ยามว่าง กึ่งผจญภัยกึ่งโรแมนติก ของลูกผู้ชายมีเงิน ที่รับรู้กันทั่วว่ามีอยู่

นี่คือเรื่องไม่ถูกต้องนักแต่ก็พอยอมรับได้ ตราบใดที่มิได้พัวพันกับความผิดหรือความขัดแย้งอื่นๆ

ทว่า กระแสสังคมด้านลบที่ซัดสาดใส่นายเปรมชัย ได้บ่งชี้ว่าบรรทัดฐานหรือนิยามความหมายที่สังคมไทยกำหนดไว้เกี่ยวกับกิจกรรมประเภทนี้กำลังเคลื่อนขยับไป

สังคมมีท่าทีปฏิเสธ ไม่ยอมรับ และรู้สึกแปลกแยกกับกิจกรรมแบบนี้มากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าระดับโทษจะรุนแรงแค่ไหน การเข้าป่าล่าสัตว์ก็ถูกมองถูกตัดสินว่าเป็นพฤติกรรมโหดร้ายทารุณ ผิดแผกจากผู้คนธรรมดาทั่วไป

อีกข้อที่เป็นปัจจัยใหม่ๆ คือ บทบาทของสื่อออนไลน์

กรณี “ทุ่งใหญ่ 61” ที่ปรากฏในโลกอินเตอร์เน็ต อาจมีทั้งข้อเท็จจริงและอารมณ์ มีทั้งข่าวเชื่อถือได้และข่าวลือมั่วๆ ปะปนกันไปตามธรรมชาติของสื่อใหม่ ที่ขับเน้นด้วยความเร็ว แหล่งข้อมูลหลากหลาย และกระแสความรู้สึกของผู้คน

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าเรื่องราวเดียวกันเกิดขึ้นในยุคสื่อสารทางเดียว ผ่านสื่อทีวี สื่อวิทยุ หรือสื่อกระดาษ ทิศทางข่าวคงถูกควบคุมมากกว่านี้

กระทั่ง “สิ่งที่ผิดแผก” อาจกลายเป็น “เรื่องปกติธรรมดา เสียงที่ก้องดัง” อาจแปรเปลี่ยนเป็น “ความเงียบ” และ “การปรากฏ” อาจพลิกผันเป็น “ภาวะเลือนหาย”

ตราบใดที่คดีการเข้าป่าล่าสัตว์ของมหาเศรษฐีไม่ได้ถูกลากเข้าไปข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งระดับกว้างใหญ่กว่านั้น

ผิดกับในยุคโซเชียลมีเดีย ที่พอกระแสร้อนเรื่องไหนถูกจุดติดและโหมกระพือจากโลกออนไลน์สู่โลกออฟไลน์แล้ว

การจะทำให้เรื่องราวเหล่านี้ดับสูญหรือเงียบงันลง นั้นย่อมทำได้ยากยิ่ง

เช่นเดียวกับการพยายามลบล้างเรื่องราวในฐานข้อมูลออนไลน์อันมหึมามหาศาล ที่ตามลบเท่าไหร่ก็คงลบได้ไม่หมด

กรณี “ทุ่งใหญ่ 61” คือหนึ่งในนั้น

นี่จะกลายเป็นบาป เป็นจุดอ่อน ที่ติดตัว “ผู้เกี่ยวข้อง” ตลอดไป ไม่ว่าผลของคดีจะออกมารูปไหนก็ตาม

……………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image