ทำไมไม่อยู่กับร่องกับรอย : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่กำหนดให้เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไท

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบท บัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การที่กำหนดให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย อำนาจทั้งสามตามระบอบประชาธิปไตยจึงต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คืออำนาจนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ที่เป็นผู้กำหนดตัวบทกฎหมายจากการเลือกตั้งประชาชนเข้าไปเป็นผู้แทนปฏิบัติหน้าที่นิติบัญญัติเพื่อนำมาบังคับใช้กับปวงชนชาวไทย

ส่วนผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศใช้อำนาจบริหารอาจมาได้หลายทาง ทางหนึ่งของระบอบประชา ธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือมาจากการเลือกของสมาชิกรัฐสภาผ่านการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ผู้นำการบริหาร คือนายกรัฐมนตรีอาจมาจากการเลือกตั้ง แต่สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้มาจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเลือกจากผู้ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอก็ได้

Advertisement

อำนาจสุดท้ายคืออำนาจตุลาการ มาจากการสอบคัดเลือกและแต่งตั้งขึ้นตามลำดับของการเข้ารับราชการเป็นตุลาการจนถึงประธานศาลฎีกา

ผู้ที่เรียนรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะนักวิชาการบางคนชอบบอกว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือถึงขนาดว่าไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง

ผู้นำประเทศหลายประเทศทุกวันนี้ที่ยังมาจากการยึดอำนาจ ในที่สุด เมื่อวันเวลาผ่านไป ประชาชนในประเทศนั้นต่างเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเพื่อจะมีผู้นำประเทศของตัวเองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านระบอบประชาธิปไตย มีวาระการดำรงตำแหน่ง แต่อาจได้รับเลือกใหม่ได้

Advertisement

ประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ต่างมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นประชาธิปไตยในประเทศนั้นอาจมีรูปแบบคล้ายหรือผิดแผกไปจากระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ประเทศเหล่านั้นต่างให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเกณฑ์

ประเทศที่มีระบอบการปกครองใกล้เคียงประเทศไทยมากที่สุด คือราชอาณาจักรกัมพูชา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง

แม้นายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรกัมพูชาจะครองตำแหน่งมาหลายวาระแล้วก็ตาม หากแต่ยังจัดการเลือกตั้งทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีหมดวาระการดำรงตำแหน่ง

วันนี้ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังไม่มีการประกาศเลือกตั้งอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งประชาชนต่างเรียกร้องให้กำหนดการเลือกตั้งชัดเจน หลังจากเลื่อนมาแล้วถึง 4 ครั้ง

ครั้งสุดท้าย ไปพูดจาเป็นมั่นเหมาะกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าจะให้มีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแก้พระราชบัญญัติขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไป 90 วัน การเลือกตั้งจึงต้องเลื่อนไปเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

การกำหนดวันเวลาเลือกตั้งยามปกติกำหนดขึ้นจากหมดวาระสมาชิกรัฐสภา และ/หรือนายกรัฐมนตรียุบสภา ส่วนการกำหนดเวลาเลือกตั้งจากผู้ใช้อำนาจเผด็จการ เกิดจากหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

เมื่อผู้มีอำนาจรัฐให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทำไมปล่อยให้สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ตั้งมากับมือล้มกำหนดการเลือกตั้งได้

เมื่ออำนาจเผด็จการไม่อยู่กับร่องกับรอยเสียแล้ว จะให้เชื่อได้อย่างไรว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image