คอลัมน์ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : ทำไมถึงต้องเที่ยวเมืองรอง? : โดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

กระแสท่องเที่ยวเมืองรองกำลังมาแรง ในปี 2561 นี้ ถ้าใครไปเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดสามารถนำเอาค่าใช้จ่ายที่พัก (รวมทั้งบริการโฮมสเตย์) ค่าบริการนำเที่ยว รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมิน ส่วนในกรณีนิติบุคคลได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของค่าใช้จ่าย ค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสัมมนา โดยเฉพาะการโปรโมต (Promote) ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะว่าสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครถึงร้อยละ 38 และอีก 4 จังหวัดถัดไป คือ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และกระบี่ อีกร้อยละ 35 จังหวัดดังๆ ด้านการท่องเที่ยว เช่น กาญจนบุรี ตราด พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ก็มีสัดส่วนในรายได้ท่องเที่ยวไม่ถึงร้อยละ 1 ด้วยซ้ำ

ลองมาดูดัชนีศักยภาพการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด ที่สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) จัดทำขึ้น แยกเป็นความพร้อมด้านอุปสงค์ (Demand) เรียกว่าดัชนีผู้มาเยือน และความพร้อมด้านการรองรับ (Supply) เรียกว่าดัชนีเจ้าบ้าน ในปี 2559 แม้ว่าดัชนีทั้งสองจะนำมาเทียบกันตรงๆ ไม่ได้ แต่ความแตกต่างระหว่างลำดับในแต่ละจังหวัด ก็พอจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานได้

เช่น ในตารางที่ 1 จังหวัดเหล่านี้ควรได้รับการขับเคลื่อนมากขึ้น เพราะมีศักยภาพด้านการรองรับนักท่องเที่ยวมาก แต่กลับมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวน้อย

Advertisement

 

มาตรการส่งเสริมให้จังหวัดมีรายได้มากขึ้นอย่างเดียวไม่พอ เพราะบางจังหวัดอุปสงค์ (Demand) นำหน้าไปแล้ว (ตารางที่ 2) ต้องเพิ่มความสามารถในการรองรับ ทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องไปแบ่งใช้กับคนท้องถิ่น และยังต้องเพิ่มเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เช่น ที่จอดรถ ห้องน้ำสาธารณะ ที่ตอนนี้นักท่องเที่ยวไทยที่ไปต่างจังหวัดพึ่งได้แต่ปั๊มน้ำมัน (ที่สะดวกแต่สะอาดลดลงทุกวัน) และห้างสรรพสินค้า (ต้องขอบคุณห้างสรรพสินค้าที่มากู้ภัยไว้ได้!!!) ในตารางที่ 2 จังหวัดที่ควรได้รับการเพิ่มการลงทุนอย่างยิ่งคือพังงา

Advertisement

 

จะเห็นได้ว่า เมืองท่องเที่ยวเหล่านี้ซึ่งเป็นเมืองรองยังมีการรองรับที่ต่ำมาก การเข้ามาเยือนของนักท่องเที่ยวจำนวนมากอาจจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้นในระยะยาว เช่น เรื่องน้ำประปา มีปัญหามากไม่ใช่เฉพาะกับเมืองรองแต่กับเมืองหลักก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน เช่น เชียงใหม่ กระบี่ และตรัง (0.11 ลบ.ม.ต่อคนต่อวัน) ภูเก็ต และเพชรบุรี (0.15 ลบ.ม.ต่อคนต่อวัน) ซึ่งจังหวัดที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ คือ สมุทรปราการ มีถึง 0.98 ลบ.ม.ต่อคนต่อวัน (ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะใช้ในอุตสาหกรรมประมงมากกว่า) ในด้านมลพิษทางอากาศ มลภาวะทางน้ำ และขยะ ก็เป็นปัญหาใหญ่ของทุกจังหวัดท่องเที่ยว

การจัดการด้านการรองรับ จึงเป็นเรื่องใหญ่ของการจัดการด้านท่องเที่ยวในยุคนี้ และถ้าประเทศไทยปรับปรุงสนามบินเมืองรองให้เป็นสนามบินนานาชาติ รับรองว่าคนจีนจะมาอีกไม่อั้น เพราะคนจีนมีกำลังซื้อสูงขึ้นทุกวัน ซึ่งถ้าสามารถปรับปรุงสนามบินให้เป็นนานาชาติได้ เช่น ที่อุดรธานี ลำปาง ก็จะเพิ่มนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองรองได้ทันที ในที่สุดแล้วคอขวดก็จะเป็นเรื่องคนและการจัดการ คือ ขาดบุคลากรที่จะสามารถจัดการสนามบินนานาชาติ ซึ่งในประเด็นนี้เราอาจต้องนำมาจากต่างประเทศ

ยิ่งลงไปในระดับชุมชนยิ่งเห็นความโกลาหลมากขึ้น เนื่องจากผู้เขียนกำลังทำงานวิจัยเรื่องท่องเที่ยวชุมชนซึ่งต้องออกไปทำงานภาคสนาม พบว่ากิจการคึกคักมาก ชาวบ้านดีใจ แต่นักท่องเที่ยวบ่นว่าแออัด รถติด ชุมชนดูดีก็จริง แต่รถราขวักไขว่ ไม่มีห้องน้ำที่สะอาดพอ ต้องเข้าร้านกาแฟ ซึ่งร้านก็แน่น ไม่มีทางเดินเท้าต้องเดินเบียดกับรถริมถนน ในบางพื้นที่ต้องเริ่มกำหนดการควบคุมรถเข้าออกเป็นบางเวลาแล้ว หมู่บ้านที่ทีมนักวิจัยไปพัก ปรากฏว่าแขกเข้าออกจนแม่บ้าน (ผู้เฒ่า) ทำความสะอาดไม่ทัน

ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ก็ควรเจาะให้ตรงกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ว่าชุมชนท่องเที่ยวไหนเหมาะกับวัยรุ่น (ท่องเที่ยววิถีไทย แซ่บซ่าไม่เหมือนใคร) เหมาะกับผู้สูงอายุ (ละมุนละไมวัยเก๋า) เหมาะกับครอบครัว (สามรุ่นอุ่นใจ) หรือเหมาะกับกลุ่มรายได้น้อย (เที่ยวไทยสบายกระเป๋า)

ยุคใหม่ของการท่องเที่ยว ต้องใส่ใจในการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยวหรือเส้นทางท่องเที่ยว แต่ต้องสนใจไปครอบคลุมไปถึงชุมชน เมือง ระบบนิเวศ ต้องสนใจและใส่ใจการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ควบคุมการท่องเที่ยวที่กำลังระบาดไปในเขื่อน (ที่ใช้เก็บน้ำอุปโภคบริโภค) บนเขตต้นน้ำ ส่วนเรื่องอุปสงค์ (Demand) ก็ปล่อยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำเรื่องที่เขาถนัดที่สุดอยู่แล้วและกำลังไปถูกทางแล้ว คือ Demand switching ไปสู่ทัวร์กลุ่มเล็ก กลุ่มอิสระ และกลุ่มรายได้สูง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องหันมาทำงานร่วมกับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาสาธารณูปโภค การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง ขอชื่นชมท่านรัฐมนตรีวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ที่มาถูกทางแล้ว เริ่มด้วยนโยบายห้องน้ำและท่องเที่ยวสะอาด สะดวก ปลอดภัย

ถ้ามัวแต่เร่งอุปสงค์ (Demand) มากเกินไป เราก็จะเดินทางเข้าสู่ยุคเสื่อมโทรม ไม่ใช่ยุคทองของการท่องเที่ยวอย่างที่ฝันไว้!

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image