ทำงานจริงพักจริง : คอลัมน์ ‘จิตวิวัฒน์’ โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู

ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Rest โดย Alex Soojung – Kim Pang เขาศึกษานักคิด นักเขียน ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ แล้วค้นพบว่า บรรดาคนที่มอบผลงานที่มีความหมายให้กับโลกได้ เขาทำงานจริงและพักจริง ส่วนใหญ่มักจะตื่นเช้ามาทำงานสร้างสรรค์และมักจะงีบในตอนบ่าย
ผมได้ศึกษาค้นคว้าวิธีที่จะพักได้อย่างลึกสุด คือการฝึกกายภาวนา เมื่อเราฝึกมีสติรู้ตัว และสามารถดำรงอยู่กับกายได้ ตรวจสอบกายได้ว่า เราดำรงอยู่ในเมฆหมอกของผู้พิทักษ์และพายุฟ้าฝนคะนองของผู้ลี้ภัยหรือไม่ หากไม่มี แสดงว่าเรากำลังอยู่ใน Self คือกายภาวนาฝึกให้เราดำรงอยู่ใน Self ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะในเวลาพักผ่อน

คำสามคำ คือ ผู้พิทักษ์ ผู้ลี้ภัย และ Self มาจากแนวคิดเรื่อง “ระบบครอบครัวภายใน (Internal Family System)” เราจะเข้าใจระบบครอบครัวภายใน ต้องเริ่มเปิดใจว่า ในคนหนึ่งคนเราไม่ได้มีตัวตนหนึ่งเดียวที่เป็นเอกภาพ แต่มีเสียงหลายเสียง บางครั้งก็ขัดกัน บางครั้งก็เสริมกัน เสียงแต่ละเสียงก็คือส่วนแต่ละส่วนที่ดำรงอยู่ในเรา และดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศจากเสียงอื่นหรือส่วนอื่น

เสียงหรือส่วนต่างๆ เหล่านี้ แบ่งออกเป็นสามประเภท คือ หนึ่ง protectors หรือผู้พิทักษ์ต่างๆ สอง exiles หรือผู้ลี้ภัยต่างๆ ที่จริงแล้วผู้พิทักษ์นั่นแหละที่พาผู้ลี้ภัยไปซ่อน และสาม คือ Self ซึ่งต่างจากสองประเภทแรก คือมีตัวเดียว เขียนด้วย S ตัวใหญ่ คงต้องเป็นตัวเอกนั่นแหละ

เมื่อกลับไปเทียบกับจิตสามส่วน protectors หรือผู้พิทักษ์ คือเมฆหมอกที่บดบังท้องฟ้าอันแจ่มใส ท้องฟ้าที่แจ่มใส คือ Self ที่ใช้ S ตัวใหญ่ ส่วน exiles หรือผู้ลี้ภัยจะทำให้เมฆหมอกปั่นป่วนจนเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง คือตัวผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กน้อยที่มีทรอม่า (trauma) อยู่ เวลามีอะไรไปสะกิดปมของเขา ทรอม่าจะระเบิดออกมา เมฆหมอกก็กลายเป็นพายุฝน

Advertisement

อีกด้านหนึ่งของเสียงหรือส่วนต่างๆ เหล่านี้ จะมีวงจรสมองรองรับที่อาจประกอบด้วย ความคิดความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรม กล่าวง่ายๆ ว่า พวกเขาสามารถเป็นคนขึ้นมาได้จริงๆ คนหนึ่งเลย โดยเป็นตัวละครหรือคนเล็กๆ ในโลกภายในของเรา

ทีนี้ ตัวตนคนเล็กๆ แต่ละตัวในระบบครอบครัวภายในนี้ จะมีแบบแผนพลังที่ส่งผลถึงความเป็นไปในร่างกายของเราด้วย เราจึงพูดถึงกายภาวนาที่จะมาเสริมช่วยระบบครอบครัวภายใน ดังนี้

เมื่อเราฝึกการเข้าไปดูกาย แรกๆ บางคนอาจจะรับรู้กายภายในของตัวเองไม่ได้เลย แต่หากฝึกไปๆ เราจะเริ่มรับรู้ได้บ้างและมากขึ้นตามลำดับ

Advertisement

ให้เราไปรับรู้ระบบใหญ่ๆ ก่อนก็ได้ รับรู้ลมหายใจของเรา ระบบหายใจของเราก็อาจแบ่งง่ายๆ เป็นแบบตื้นๆ หายใจแค่อกหรือแค่คอ คือหายใจไม่ทั่วท้อง หายใจสั้นๆ เร็วๆ กับการหายใจอีกแบบคือ หายใจได้ลึกถึงท้อง หายใจอย่างผ่อนคลาย ยาวๆ สบายๆ เป็นต้น

ภายในช่องท้อง หากเราไม่สบายใจ อยู่ในเมฆหมอก เราจะรู้สึกผิดปกติในช่องท้อง เช่น มวนท้อง และรู้สึกหวิวๆ เป็นต้นและถ้าเป็นกล้ามเนื้อ เราอาจจะมีกล้ามเนื้อที่เกร็งหรือผ่อนคลายสบายๆ

อุณหภูมิของร่างกายล่ะ มีความร้อนวูบวาบผิดปกติหรือไม่ หรือปกติสบายๆ หรือรู้สึกหนาวเย็นหรือร้อนผ่าวในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเป็นพิเศษหรือไม่

ความมั่นคง เรารับรู้ความมั่นคงในร่างกายได้ด้วย ซึ่งตรงกันข้ามกับความโหวงเหวง

ส่วนหัว หลายคนก็รับรู้ได้ดีว่า ปวดหัวหรือไม่หรือหัวโล่งดี เป็นต้น

อาการทางกายเหล่านี้ หากหมั่นสังเกต จะรู้ได้ดีว่า เราดำรงอยู่ใน Self หรือไม่ หรือมีผู้พิทักษ์และผู้ลี้ภัยสวม (หรือองค์ลง) อยู่ เป็นต้น

หากเราฝึกผ่อนคลายร่างกายเวลาไม่ได้ทำงานหรือว่างจากการสัมพันธ์กับใคร เราอาจผ่อนคลายให้ได้ระดับที่ดำรงอยู่ใน Self ถ้านึกเป็นภาพคือท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆหมอก เป็นฟ้าใสๆ ที่เราจะสามารถพักได้ลึกที่สุด ภาวะผ่อนคลายและพักได้ลึก ร่างกายจะเป็นระบบประสาทอัตโนมัติ (parasympathetic) ในโหมดที่ผ่อนคลายที่สุด จะดีสำหรับการย่อยอาหาร การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ตลอดจนการฟื้นคืนพลังด้วย

จากการพักจริง เรามาดูการทำงาน อันได้แก่การใช้กระบวนการคิดที่เหมาะสมทรงพลัง

คนเรามักจะเข้าใจผิดว่าผลลัพธ์ของกระบวนการคิดที่ดีที่สุดคือ ญาณปัญญา (intuition) ซึ่งไม่เกิดขึ้นในการคิดตามปกติ แนวทางที่เหมาะสมคือ เราจะต้องใช้การคิดปกติผสมผสานกับการบ่มเพาะให้ได้มาซึ่งญาณปัญญาอย่างพอเหมาะพอดี ที่จริงเราใช้ทั้งสองอย่างนั่นแหละ ประการแรก กระบวนการคิดปกติ หรือ จินตามยปัญญาใช้ตามปกติกับการคิดในงานทั่วไป หรือโจทย์อื่นๆ ของชีวิต แต่เมื่อยังไม่มีคำตอบจากการคิดธรรมดา เราสามารถโยนให้เป็นงานของญาณปัญญาหรือภาวนามยปัญญาได้ โดยการจับประเด็นให้ชัดเพื่อตั้งลูกให้ญาณปัญญาเอาไปทำงานต่อ เมื่อเราตั้งโจทย์ให้ชัดแล้วโยนลงไปในมหาสมุทรทางปัญญาหรือจิตของเราเอง แล้วพักลึกๆ ผ่อนคลาย คำตอบจะมีมาให้เราเองผ่านญาณปัญญาหรือญาณทัศนะหรือ intuitions

คือเราไม่ต้องไปคิดมาก คิดวนไปวนมา อันเป็นการคิดที่ไม่มีคุณภาพ เราตกลงไปในวังวนของจิตที่วิตกกังวล แปรปรวน ไม่มีคุณภาพ และไม่อาจผลิตความคิดที่ดีออกมาได้ คือเมฆหมอกและพายุฝนฟ้าคะนอง เป็นผู้พิทักษ์และผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ Self หรือจิตเดิมแท้

อะไรที่คิดไม่ออกด้วยการคิดธรรมดา ให้ตั้งคำถามให้ชัด ส่งมอบให้ “มหาสมุทรทางปัญญา” ประมวลผลให้เรา ซึ่งเธอจะประมวลผลอยู่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และเมื่อได้คำตอบ เธอจะผุดพรายคำตอบขึ้นมา ณ ผิวมหาสมุทรนั้นเอง เป็นปิ๊งแว้บหรือญาณทัศนะที่โผล่ปรากฏมาให้เรา ..

Flow กับ Rest
เวลาพัก พักให้เป็น และพักให้ได้คุณภาพ พักให้ลึกที่สุดของการผ่อนคลาย
เวลาทำงานและเล่น ให้ทำงานและเล่นใน flow

ดังนี้ ชีวิตเราจะสามารถดำรงอยู่ใน Self ได้เป็นส่วนใหญ่
แล้วเราจะดำรงอยู่ใน flow ได้อย่างไร เวลาอยู่ใน flow มันจะเลื่อนไหล มีความสุข สนุกท้าทาย ไม่เบื่อ ไม่หนักหน่วง จิตเป็นสมาธิ เป็นความปกติที่เบิกบานแจ่มใสแสนวิเศษอันเราพึงจะมีได้
เวลาเรามีผู้พิทักษ์เป็นองค์มาลง สังเกตได้ว่าเราจะตัดสินผู้อื่น แต่หากไม่มีผู้พิทักษ์ เราจะเห็นอกเห็นใจ มีเมตตากรุณา จิตใจเราจะสบาย โปร่งโล่ง
เวลาไม่มีผู้ลี้ภัยมาสวม เราจะไม่กลัว ไม่โหวงเหวง ไม่แกว่ง เราจะมีความมั่นคง รับมือกิจการงานต่างๆ ได้อย่างหนักแน่นมั่นคง

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นและการใคร่ครวญจะทำให้เราสนุกกับการค้นคว้า (วิมังสาในอิทธิบาท 4) วิธีดีๆ วิถีดีๆ เข้ามาใช้ในการงาน และทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น และการงานก็เป็นสุข ให้พลังแก่เราเช่นกัน
เมื่อฝึกทำงานอยู่ใน flow เราจะเพิ่มพูนความสามารถของตัวเองได้เรื่อยๆ เกิดความภูมิใจในตัวเอง และมี

ความพร้อมที่จะเผชิญกับงานน้อยใหญ่ได้อย่างเบิกบาน มีพลังและมีความสุขตลอดเวลา
นอกจากนี้ การทำงานใน flow จะเป็นความผ่อนคลายไปในตัวด้วย เราใช้พลังงานเพียงน้อย แต่ได้งานมาก และอีกทางหนึ่ง เราจะเข้าถึงสภาวะจิตที่ญาณทัศนะปรากฏได้ง่ายเกิดปิ๊งแว้บบ่อยๆ

สุดท้าย ด้วยการทำงานใน flow และพักผ่อนระดับลึก ซึ่งต่างดำรงอยู่ใน Self เราย่อมทำงานอย่างมีความสุขและพักได้อย่างผ่อนคลาย งานเสริมสร้างชีวิตที่ดี ส่วนการได้พักลึกๆ จะทำให้เรากลับมาทำงานได้อย่างมีพลัง สดชื่นสดใสเสมอ
เราจึงควรกลับมาพักอย่างลึกเสมอๆ เมื่อมีโอกาส ถอนตัวออกมาจากผู้พิทักษ์และผู้ลี้ภัยต่างๆ กลับมาดำรงอยู่ใน Self เพื่อจะพักได้อย่างลึกตามที่ต้องการ

ท้ายสุดคือ ด้วยการทำงานใน flow และพักใน Self เราจะได้มาซึ่งสุขภาพที่ดีที่สุดด้วย

วิศิษฐ์ วังวิญญู
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image