ภาพเก่าเล่าตำนาน ปฏิรูปสยามด้วยน้ำพระทัย…‘เลิกทาส’ โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

งาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” จัดขึ้นระหว่าง 8 กุมภาพันธ์ ถึง 11 มีนาคม 2561 ณ พระลานพระราชวังดุสิต ในงานมีพื้นที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่ายิ่งนัก พระราชกรณียกิจของในหลวง ร.5 และในหลวง ร.9 เป็นมรดกล้ำค่าถ่ายทอดมาถึงลูกหลาน สร้างบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขมาจนถึงทุกวันนี้ ภาพและแบบจำลองทุกชิ้นสวยงาม สื่อความหมายได้มากกว่าอ่านหนังสือร้อยเท่าพันทวี

ภาพจำลองพระราชกรณียกิจของในหลวง ร.5 ที่ทรงบำเพ็ญเพียรให้ชนรุ่นหลังภูมิใจในแผ่นดินเกิดภาพหนึ่งคือพระราชกรณียกิจเลิกทาส

ลองมาย้อนยุค ขยายความ เรื่องของทาสในสยาม

Advertisement

ทาส หมายถึงบุคคลซึ่งถูกนับสิทธิเสมือนสิ่งของของผู้อื่น ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิต และมีหน้าที่รับใช้ผู้อื่นโดยมิได้รับการตอบแทนจากเจ้าของ (นายทาส) ทาสต้องรับใช้ทางด้านแรงงาน และหากไม่เชื่อฟังคำสั่ง อาจถูกลงโทษได้ตามแต่นายทาสจะกำหนด ยกเว้นเป็นการกระทำอันทำให้ถึงแก่ความตาย

ถ้าเริ่มนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา สยามประเทศแบ่งทาสเป็น 7 ประเภท

1.ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมดในสยาม ทาสชนิดนี้เกิดจากการขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายลูก ผัวขายเมีย ทาสประเภทนี้ยากจนข้นแค้น แสนสาหัส ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวหรือตนเองได้ จะพ้นจากความเป็นทาสได้ต่อเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน

Advertisement

2.ทาสในเรือนเบี้ย คือ เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้ เกิดมาเพื่อเป็นทาสจนตาย

3.ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก คือ บุคคลที่นายทาสคนเดิมตาย และได้ส่งทาสเป็นมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป

4.ทาสท่านให้ คือ ทาสที่ได้รับมาแบบเป็นของขวัญ ด้วยความเสน่หา

5.ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ คือ เมื่อมีบุคคลทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่บุคคลนั้นไม่มีเงินชำระค่าปรับ เมื่อมีบุคคลผู้มีเงินชำระค่าปรับได้ ผู้ได้รับการช่วยเหลือต้องตกเป็นทาส

6.ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก คือ คนที่ไม่สามารถทำมาหากิน พอใจขายตนเองเป็นทาส

7.ทาสเชลย คือ ผู้ชนะสงคราม จะกวาดต้อนผู้แพ้สงครามไปเป็นทาสรับใช้ ทำงานหนัก

ไม่มีข้อมูลตัวเลขชัดเจนว่าชนชาติใดมีทาสแบบใด เท่าไร แต่ก็พอยอมรับและเข้าใจได้ว่า เป็นโครงสร้างสังคมของคนในอดีต ในหลายดินแดนทั่วโลก เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องการอำนาจ ชื่อเสียง เงินตรา

ที่ชัดเจนที่สุดคือทาสเชลย ที่เป็นผลจากการทำสงคราม รบราฆ่าฟันกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์

ผู้เขียนไปค้นหลักฐานเรื่องทาส พบเอกสารกฎหมายลักษณะทาษ มาตรา 14 (ใช้ตัวสะกดแบบเดิม)

“หญิงทาสทำชู้ด้วยชาย ชายนายเงินรู้ก็ดี มิรู้ก็ดี ชายทั้งสองตีฟันแทงกันตาย ท่านว่าให้ฆ่าชายชู้ผู้ฆ่า ตี ฟัน แทงนั้นตกไปตามกัน ถ้าทรงพระกรุณาบ่ให้ฆ่าตี ให้ไหมโดยพระราชกฤษฎีกา ถ้าผู้ตายเป็นทาสแลผู้ทำนั้นต่ำนา 400 ให้เอาทวีคูณ ท่านให้คิดเอาแต่นายเงินเท่าค่าตัว เหลือมากน้อยเท่าใดเป็นค่าหญ้าช้างหลวง ส่วนตัวหญิงร้ายนั้นให้ประจานดุจหญิงหาผัวมิได้มีชู้สองนั้น อย่าให้ไถ่ประจานเป็นอันขาดทีเดียว ให้ทวนด้วยลวดหนังสามสิบที แล้วส่งตัวแก่นายเงินมัน”

เนื้อหาในกฎหมายลักษณะทาสของสยาม บ่งบอกถึง “สถานะ” ของทาสที่ต่ำตมกว่าคนทั่วไป ถ้าทำความผิดจะต้องรับโทษหนักกว่าคนธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด

และเพื่อมองให้รอบด้าน บ้านเมืองอื่นๆ ฝรั่งมังค่าเขามีทาสบ้างมั้ย เหมือนและแตกต่างกับสยามตรงไหน ผู้เขียนได้ข้อมูลจาก ThoughtCo.com ระบุว่า

ในทวีปยุโรปที่ไปขนทาสผิวสีมาจากแอฟริกามาทำงานหนักสร้างบ้านสร้างเมือง ทำเกษตรกรรม อุตสาหกรรม แบ่งทาสออกเป็น 4 ประเภท คือ

1.Chattel Slavery หมายถึงทาสที่ซื้อมา ขายไป

2.Debt Bondage หมายถึงทาสที่เกิดจากการเป็นหนี้สิน ยอมขายตนเองไปเป็นทาสเพื่อใช้หนี้สิน

3.Forced Labor หมายถึงคนที่ถูกบังคับ/เกณฑ์ มาเป็นทาส

4.Serfdom หมายถึงคนที่เกิดมาเป็นทาส (ลูกทาส)

นับว่าการแบ่งประเภทของทาสในยุโรป แม้จะอยู่คนละซีกโลกกับสยาม ก็มีวิถีชีวิตและความคิดอ่านใกล้เคียงกัน

มุมมองเรื่องของการมีทาส การเป็นทาส การเป็นนายทาส ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายไปหมด อย่าลืมว่า ใครบางคนที่ไม่ต้องการทำมาหากิน ไม่ดิ้นรนที่จะสู้ชีวิต ขี้เกียจ ชีวิตล้มเหลว มั่วสุมการพนัน เสพสุราเป็นอาจิณ ก็สามารถพาตัวเองและครอบครัวสมัครใจไปเป็นทาสเพื่อมีที่ซุกหัวนอน มีข้าวปลาอาหารพอกินประทังชีวิต ยอมสูญเสียอิสรภาพของชีวิต ยอมทำงานหนักทุกอย่าง ยินยอมพลีกายใจไปเป็นทาสก็มีนะครับ

ตำนานการมีทาสในสยาม มีความยุติธรรมเจือปนอยู่ไม่น้อย เพราะปรากฏหลักฐานเป็นเอกสารที่ครอบครัวของอ้ายเสือ-อีแจ้ม มีหนังสือยินยอมขายตนและลูกเพื่อเป็นทาสนายเงินโดยความสมัครใจ ดังตัวอย่างของเอกสารปรากฏข้อความว่า

“ตูข้าอ้ายเสือผู้ผัว อีแจ้มผู้เมีย อีอั้ว อีจีบ อีพวง อ้ายอิ่ม ผู้ลูก มีความทุกข์ยาก พร้อมใจกันทำหนังสือสารกรมธรรม์ขายตัวเองอยู่กับท่านทองอิน” (ดูภาพประกอบ)

และตัวอย่างเอกสารขายเมียให้เป็นทาส ข้อความตอนหนึ่งว่า

“พ่อแสงผู้ผัว ทำหนังสือสารกรมธรรม์เอาอีศรีเมียมาขายฝากไว้กับท่านภักดีนุชิตผัวอ้นภรรยา…มอบตัวอีศรีให้ท่านใช้สอยงานต่างกระยาดอกเบี้ย…”

สภาพของสังคมที่มีทาส เป็นเรื่องที่ตกทอดกันมาช้านาน มีการสำรวจแบบหยาบๆ ว่า ประชากรทาสในสยามในยุคต้นรัตนโกสินทร์อาจจะมีถึง 1 ใน 3 ของประชากรของสยามประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของแผ่นดินที่ยังไม่มีทางออก

ย้อนไปดูสภาพการเมือง การปกครองของบ้านเมืองในเวลานั้น

สยามประเทศเริ่มกลับมาเปิดประตูติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอีกครั้งตั้งแต่สมัยในหลวง ร.3 พ่อค้าจากซีกโลกตะวันตก (ยุโรป) แห่กันเข้ามาลงนามทำสัญญาค้าขายกับสยาม เมื่อมีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นศูนย์รวมการปกครองทั้งปวงในแผ่นดิน ทรงมีพระวิสัยทัศน์ทรงมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศเพื่อความกินดีมีสุขของราษฎร

ในหลวง ร.5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จประพาสต่างประเทศ ในเรื่องนี้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงเล่าว่า

“ ….พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเมืองสิงคโปร์เป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2414 ในปีที่ 3 แห่งรัชกาล พระชนมายุ 18 พรรษา เสด็จต่อไปยังชวา (อินโดนีเซีย : ผู้เขียน) ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฮอลลันด์ ทั้งเจ้าหน้าที่อังกฤษและฮอลลันด์ต่างปีติยินดี ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ … พระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรสอดส่องทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความสนพระทัยอย่างที่สุดและลึกซึ้ง ทรงได้รับความรู้มากมาย…ฉะนั้นเมื่อเสด็จกลับพระนคร ความคิดอ่านของพระองค์จึงกว้างขวางขึ้น จนนับได้ว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก…”

แผ่นดินสยามในช่วงเวลานั้น เกิดคดีความอันเป็นความไม่สงบเรียบร้อยบ่อยครั้ง โดยเฉพาะคดีทาสหลบหนี ทางการจึงต้องออกกฎข้อบังคับมากขึ้น เกิดความกดดันในสังคม นายทาสเกิดพิพาทบาดหมางอันเกิดจากทาสที่เป็นบริวาร รวมทั้งทาสทั้งหลายร้องทุกข์กล่าวโทษนายทาสเรื่องจำนวนหนี้สินที่ต้องชดใช้

เกิดสรรพสิ่งคดีความท่วมท้นในสังคม สร้างความบาดหมางแตกแยกในหมู่ประชาชน นายทาสไม่น้อยที่ถือโอกาสซ่องสุมกำลังเพื่อประกอบกิจการทำมาหากินแบบไม่สุจริต สังคมแตกแยก

คดีความ การทะเลาะวิวาท ที่ล้วนสร้างความหดหู่ บ้านเมืองไม่เป็นปึกแผ่น ประชาชนไม่รู้หนังสือ การบริหารราชการแผ่นดินไม่คืบหน้า เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเด็ดขาดที่จะต้องเลิกทาสให้สำเร็จในรัชสมัยของพระองค์ ก็เพราะบรรดาลูกของทาสในสยามจะไม่มีโอกาสได้เรียนเขียนอ่าน จะทำให้ประชากรของพระองค์กลายเป็นคนที่ไร้ความสามารถในการทำมาหากิน เป็นภาระแก่บ้านเมือง เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน

ในหลวง ร.5 ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การเลิกทาส ความว่า

“…การบ้านเมืองที่ควรจะเปลี่ยนแปลงได้นั้น ก็ควรจะคิดเหนว่าบ้านเมืองเราเปนเวลาที่จะต้องทำนุบำรุง การอันใดควรจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง การอันใดควรจะตัดจะเลิก ก็ต้องตัดเสีย การอันใดควรจะเพิ่มขึ้น ก็ต้องเพิ่มขึ้น…” (ใช้ภาษาแบบเดิม)

หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่ง จากพระราชบัญญัติทาษรัตนโกสินทร์ศก 124 บันทึกพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านว่า

“….ประเพณีทาษที่มีอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม…เปนเครื่องกีดขวางความเจริญ ประโยชน์และศุขสำราญของมหาชน…ซึ่งจำเป็นจะต้องเลิกถอน อย่าให้มีประเพณีทาสภายในพระราชอาณาจักรนี้ กรุงสยามจึงจะมีความเจริญ สมบูรณ์เท่าทันประเทศอื่น…”

พระอัจฉริยภาพที่ทรงช่วยชาวสยามให้รอดพ้นจากความเป็นทาส ต้องขอยกมาบอกกับลูกหลาน คือ การยกเลิกบ่อนการพนัน

ในเวลานั้น ทางราชการอนุญาตให้มีบ่อนเบี้ยการพนันอยู่ทั่วไป รัฐมีรายได้จากอากรบ่อนเบี้ยมาใช้ในราชการแผ่นดิน ในหลวง ร.5 ทรงมีพระราชดำริว่า

“…อนึ่ง การเล่นเบี้ยพนันเอาเงินกันเปนที่ก่อต้นรากให้เกิดเป็นทาสขึ้น การอันนี้มีพระราชหฤทัยรำพึงถึงอยู่เสมอที่จะหลีกถอนผ่อนให้หมดไปนั้นเปนแน่ ….” ซึ่งปัญหาดังกล่าว พระองค์ได้ทรงนำเข้าสู่ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและเสนาบดีสภา ต่อมาได้มีการทยอยเลิกบ่อนเบี้ยการพนันอันเป็นสาเหตุของการมีทาส

เราต้องยอมรับความจริงว่า ในยุคสมัยนั้นชาวสยามไม่รู้จักทำมาหากิน ไม่รู้หนังสือ เกียจคร้าน หมกมุ่นกับบ่อนการพนัน เมื่อหมดเนื้อหมดตัวก็ขายลูกเมียและตัวเองเป็นทาส


พระราชดำริของในหลวง ร.5 ใช่ว่าจะได้รับการสนับสนุนแบบถล่มทลาย หากแต่การเลิกทาสกำลังกลายเป็นยาขมหม้อใหญ่ ขัดผลประโยชน์ของเหล่าอำมาตย์ ขุนนาง นายทาส ที่มีทาสเอาไว้เพื่อทำมาหากิน การเลิกทาสเปรียบประดุจการทุบหม้อข้าวของกลุ่มผลประโยชน์

ในหลวง ร.5 มิได้ทรงท้อถอยในอุปสรรคนานัปการที่จะเลิกทาส ทรงมีวิธีระงับการแตกหักของสังคมในยุคของการปฏิรูปที่ถือเป็นความเหนือชั้นในการปกครองบ้านเมืองให้มั่งคั่ง ยั่งยืน

ทรงใช้กลยุทธ์การทอดเวลา แบบเอาน้ำเย็นเข้าลูบ ทรงทราบดีถึงจิตใจของพวกนายเงินที่ได้รับผลประโยชน์จากการมีทาสรับใช้มานาน ถ้าเลิกก็ทำให้เสียประโยชน์ที่เคยได้รับ แถมยังมีทาสบางกลุ่มที่เคยเป็นทาสมาหลายชั่วอายุคน ก็ไม่ประสงค์จะรับผิดชอบตัวเองและครอบครัว การเลิกทาสกำลังเป็นฝันร้าย เพราะเมื่อเป็นอิสระก็ไม่ทราบจะทำมาหากินอะไร จึงเกิดการวิตกและไม่พอใจ

ประวัติศาสตร์ของสยามบันทึกการเลิกทาสไว้เป็นขั้นตอน ที่ผู้เขียนขอรวบรัดมานำเสนอดังนี้

ขั้นตอนแรก เมื่อวันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2417 ทรงเรียกประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 12 ท่าน เข้าร่วมประชุมครั้งแรกที่พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ หลังจากนั้นได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าของทาสแจ้งจดทะเบียนทาสที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรง พ.ศ.2411 เป็นต้นมา และให้มีการสำรวจตรวจสอบจำนวนทาส

ขั้นตอนที่ 2 ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสลูกไท” พ.ศ.2417 โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติ ประกอบด้วยเงื่อนไขและเงื่อนไขเวลา ข้อกำหนดดังกล่าวจะมีผลก็ต่อเมื่อ พ.ศ.2431 จะเห็นได้ว่ายังไม่มีทาสเป็นไทได้ทันทีตอนที่ประกาศ ต้องรออีกนาน ดังนั้นจึงยังไม่มีผลกระทบกระเทือนอะไร

ขั้นตอนที่ 3 เพื่อมิให้เกิดความระส่ำ ระสายไปทั้งแผ่นดิน ในหลวง ร.5 จึงทรงกำหนดลำดับพื้นที่ก่อน-หลัง โดยตราพระราชบัญญัติลักษณะทาษมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ.119 (พ.ศ. 2443) ต่อมาเลิกทาสในมณฑลบูรพา

และลำดับถัดมาคือ การเลิกทาสในมณฑลไทรบุรี และเมืองกลันตัน เมืองตรังกานู ซึ่งในหลวง ร.5 ทรงมีพระราชดำริว่าให้เป็นไปตามหลักการทางศาสนาของเมืองนั้นๆ และต่อมา พ.ศ.2451 ไทยเสียมณฑลดังกล่าวให้แก่อังกฤษตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2451 จึงเป็นอันหมดภาระ

เมื่อแนวพระราชดำริเลิกทาสดังกล่าว คืบหน้าไปอย่างต่อเนื่องราบรื่น ก็มาถึงจุดตัดสินชี้ขาดที่ทำให้ทาสหมดไปแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ขั้นตอนสุดท้ายคือ การตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) เป็นต้นไป สาระสำคัญคือกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ซื้อขายทาสให้มีความผิดเช่นเดียวกับโจรปล้นทรัพย์

ในหลวง ร.5 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ เป็นแบบอย่างแก่บรรดาเจ้านายและขุนนางเพื่อไถ่ถอนทาส พระราชทานที่ทำกิน เป็นผลให้ระบบทาสที่สืบต่อกันมาหลายร้อยปีได้ถูกยกเลิกไปจนหมดสิ้น

ด้วยพระราชหฤทัยแน่วแน่และทรงพระราชอุตสาหะต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 30 ปี ก็ทรงเลิกทาสสำเร็จใน พ.ศ.2448 สมตามพระราชปณิธานที่ได้ทรงตั้งไว้

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ภาพและข้อมูลบางส่วนจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 มกราคม 2547, การเลิกทาสในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย วิชัย เสวะมาตย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image