สุจิตต์ วงษ์เทศ : ร. 1 กับวังหน้า เสด็จป้อมมหากาฬ บริเวณชานกำแพงพระนคร (กรุงเทพ ฯ)

ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ริมคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพฯ (ซ้าย) ภูเขาทอง (ขวา) เห็นคลองมหานาค เชื่อมคลองโอ่งอ่างและสะพานผ่านฟ้า [ภาพถ่ายทางเครื่องบิน โดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันต์ (Peter Williams Hunt) นักบินฝ่ายพันธมิตร ถ่ายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1946 หรือ พ.ศ. 2489]

ร.1 กับวังหน้า (เป็นน้องชาย ร.1) เคยเสด็จบริเวณป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ริมคลองโอ่งอ่าง ฝั่งตรงข้ามปากคลองมหานาค
มีเหตุจากหลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325) ได้ 3 ปี เป็น พ.ศ. 2328 เริ่มลงมือสร้างกำแพงพระนครและป้อมประตูคูเมือง
โดยเกณฑ์ลาวเวียงจันและสองฝั่งโขง ไปขุดรากก่อกำแพงกับก่อป้อมปราการเป็นระยะๆ เลียบคลองโอ่งอ่าง แล้วให้สร้างสะพานช้าง (ตรงป้อมมหากาฬ)เดินข้ามคลองโอ่งอ่างไปคลองมหานาค ทั้งสองพระองค์พี่น้องจึงเสด็จไปตรวจการก่อสร้าง
แต่พระพิมลธรรม วัดโพธิ์ ถวายพระพรห้ามไว้ อ้างว่าทำอย่างนั้นจะช่วยข้าศึกเข้าเมืองสะดวก และกีดขวางขบวนเรือแห่ มีข้อความในพงศาวดารจะคัดมา ดังนี้

“พระพิมลธรรมวัดโพธารามไปถวายพระพรห้ามว่าซึ่งสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า จะให้คนทำสะพานใหญ่ข้ามคลองคูพระนครนี้ อย่างธรรมเนียมแต่โบราณมาไม่เคยมี แม้มีการสงครามมาถึงพระนคร ข้าศึกก็ได้โอกาสข้ามเข้ามาถึงชานกำแพงพระนครได้โดยง่าย ประการหนึ่งแม้จะแห่ขบวนเรือรอบพระนครก็จะเป็นที่กีดขวางอยู่”

ร.1 กับวังหน้าทั้งสองพระองค์ทรงเห็นชอบด้วย จึงดำรัสสั่งมิให้ก่อสะพานช้างข้าม

นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์สร้างกรุงเทพฯ ที่มีสีสันตื่นเต้น และมีพลังสร้างจินตนาการ ที่ควรทำมิวเซียมกลางแจ้ง ใกล้เคียงสถานที่จริง แสดงเรื่องราวให้อยู่ร่วมกับชุมชนชานกำแพงพระนคร จะดึงดูดคนเข้าชมได้มากอย่างยิ่ง เพราะต่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประวัติศาสตร์ศิลปะ เศียรพระ แขนพระ ขาพระ ของทางการ อันน่าเบื่อหน่ายนักหนาสาหัส นับศตวรรษนานมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image