บทความ สยามเมืองสารพิษ โดย : วสิษฐ เดชกุญชร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข หลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และนักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมโรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เกี่ยวกับสารพาราควอต (Paraquat) ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานที่ประชุมได้แถลงว่า กระทรวงสาธารณสุขยังคงยืนยันตามมติเดิมที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอตทางการเกษตร เพื่อให้ประชาชนได้รับความ ปลอดภัย และให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งจะนำข้อมูลวิชาการที่ได้รับเพิ่มเติมในการประชุมเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิเศษของกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแนวทางในการควบคุมสารดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายเดือนมีนาคม 2561

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวด้วยว่า กระทรวงมองผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เพราะพบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่ส่อว่าพาราควอตมีผลต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม แต่จะยังไม่ยกเลิกทันที แต่จะมีขั้นตอนในการดำเนินการ เช่น การหาทางเลือกอื่นๆ ทดแทนการใช้พาราควอต การจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่ยังค้างอยู่ในตลาด เพื่อให้เกษตรกรรับทราบข้อมูลและมีเวลาปรับตัว

เป็นอันว่าอันตรายที่เกษตรกรและประชาชนจะได้รับจากการใช้พาราควอตเป็นยาปราบศัตรูพืชคงจะยุติลงในไม่ช้า

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 สองวันหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขบรรลุข้อยุติเกี่ยวกับพาราควอต ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ถนนพิษณุโลก ตรงกันข้ามกับทำเนียบรัฐบาล ก็มีการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินที่เดินทางมาจากจังหวัดสงขลาและกระบี่ เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดทั้งสอง การชุมนุมกระทำในขณะที่กำลังมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธาน ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงว่าที่ประชุมอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน “เทคโนโลยีสะอาด” ที่จังหวัดกระบี่ และขอให้กลุ่มที่มาต่อต้านอย่าสร้างความขัดแย้งต่อไปอีก

Advertisement

ความขัดแย้งเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้เกิดขึ้นและดำเนินมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปีแล้ว เมื่อมีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีกลายนี้ กลุ่มผู้คัดค้านก็พยายามเข้าไปยื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรีจนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และผู้คัดค้านหลายคนถูกจับกุมไปดำเนินคดี

เป็นที่สังเกตว่านอกจากผู้คัดค้านจะไม่ได้พบนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรียังดูเหมือนจะฟังแต่ข้อมูลและเหตุผลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่ฝ่ายเดียว ใช่แต่เท่านั้น ยังปรากฏด้วยว่าหน่วยราชการในจังหวัดภาคใต้บางจังหวัดได้จัดให้ราษฎรเดินทางไปแสดงความเห็นสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเสียด้วย

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ราษฎรกลุ่มต่อต้านที่ชุมนุมกันอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลหลายคนได้อดอาหารเป็นการประท้วง และบางคนถึงกับป่วยต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล และมีข่าวด้วยว่าราษฎรจากภาคใต้กำลังเดินทางไปเสริมกำลังร่วมคัดค้าน

ความขัดแย้งที่เกิดจากการใช้พลังงานถ่านหินที่รัฐบาลคิดว่าจะได้ผลในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ประชาชนในจังหวัดที่เกี่ยวข้องเห็นว่าจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย และการประกอบอาชีพของเขานี้ หากไม่ยุติและลุกลามออกไปจนกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลและประชาชน ก็จะทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างประมาณมิได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image