พัฒนาการของ”ความไม่เชื่อ” โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)


ความเคลื่อนไหวของ ”คนอยากเลือกตั้ง”Ž ที่เริ่มต้นจับกลุ่มกันที่สกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน แล้วขยายไปราชดำเนินด้วยความต้องการอาศัยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์

แม้ถึงวันนี้จะจางซาไป เนื่องจากถูกควบคุมอย่างเข้มข้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจที่พลิกขึ้นมาเป็นกลไกจัดการหลักแทนทหารที่เคยทำหน้าที่ก่อนหน้านั้น

แต่เป็นการจางซาที่ดูเหมือนจะถูกบีบให้ไปผุดไปโผล่ในสถานที่ไกลออกไป

มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในหัวเมืองต่างๆ ที่เห็นแล้วคือ “เชียงใหม่”Ž

Advertisement

ความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนเป็นแบบโผล่ที่โน่นที ที่นี่ ทีของ ”คนอยากเลือกตั้ง”Ž น่าจะยังมีต่อเนื่องเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะควบคุมอย่างเข้มข้นจนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ก็ตาม แต่เสียงเรียกร้องนั้นไม่ได้สูญเปล่า

อย่างน้อยที่สุด “เลือกตั้งเมื่อไร”Ž ได้กลายมาเป็นคำถามอีกครั้ง

Advertisement

พรรคการเมืองที่เคยยืนอยู่คนละฝ่ายในทุกเรื่องอย่าง “เพื่อไทยŽ” และ ”ประชาธิปัตย์”Ž เริ่มที่จะส่งเสียงไปในทางเดียวกันคือ ถามหาความชัดเจนในการเลือกตั้งŽ ร่วมกันมองในทางที่ ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในอันที่จะยื้อต่อไปŽ

กลไกอำนาจที่เกี่ยวข้อง ต้องตอบคำถามทุกวัน และถี่ขึ้นเรื่อยๆ ถึง “ความชัดเจนของวันเลือกตั้ง”Ž

ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ถือเป็นภาระที่จะต้องติดตามหาคำตอบชัดๆ มาให้ประชาชนได้รับรู้ ทำให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้นำรัฐสภา ถูกจี้ถามไม่เว้นวัน

แม้จะอธิบายแล้วอธิบายอีกว่าเป็นไปตามขั้นตอน

ของกฎหมาย แต่ยังไม่มีใครกล้าพอที่จะออกจากวงของคำถามได้

เอาเข้าจริง หลังจากที่ ”สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”Ž ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนไปจากที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศไว้ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

ความเชื่อถือต่อผู้มีอำนาจถึงความแน่นอนในวันเลือกตั้งก็จบสิ้น ไม่มีใครมั่นใจในโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกแล้ว ไม่มีใครที่ทำให้เชื่อได้อีกว่าอะไรเป็นอะไร

แม้ “พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” ฐานะโฆษกรัฐบาลจะรู้สึก มันจะอะไรกันนักหนาŽ เหมือนไม่รับรู้ว่า การผิดไปจากคำพูดของผู้นำทำให้ความไม่เชื่อถือเกิดขึ้นŽ

แต่การไม่รับรู้ของโฆษกรัฐบาลไม่ได้ทำให้อิทธิพลของความไม่เชื่อลดถอยลง

เมื่อ ”ไม่เชื่อ”Ž เสียแล้ว การแสดงออกจึงเกิดขึ้น

เพราะเชื่อว่า “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นการพาประเทศออกจากความอึดอัดในหลายๆ เรื่องŽ เมื่อ เชื่อไม่ได้เสียแล้วว่าจะเลือกเมื่อไร หรือจะยื้อต่อไปเรื่อยๆŽ ทำให้ ความเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงความอยากให้มีเลือกตั้งจึงเกิดขึ้น และขยายวงไปŽ”

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่จะต้องแสดงบทบาทในทางกดดันเพื่อให้รัฐบาลแสดงความชัดเจน

เช่นเดียวกับสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่หาคำตอบที่ประชาชนอยากได้ไปให้ประชาชน

เพราะ ”ความไม่เชื่อ”Ž ทำให้กระแสยิ่งถูกทำให้อยู่กับ ”การหาคำตอบเรื่องวันเลือกตั้ง”Ž อย่างเอาเป็นเอาตายมากขึ้น

ที่สำคัญคือ ”ความไม่เชื่อในคำพูด”Ž ได้แปรรูปเปลี่ยนร่างเป็นแก่นแกนของความคิดที่เลยไปถึงไม่เชื่อในเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกทีละเรื่อง

และแน่นอนว่า ที่สุดแล้วหากแค่วันเลือกตั้งยังประกาศให้ชัดเจนและทำให้เป็นไปตามที่ประกาศไม่ได้ มีข้ออ้างมากมายที่จะเปลี่ยนแปลง ที่จะแสดงให้เห็นความไม่แน่นอน

การจะทำให้เกิดความเชื่อถือในเรื่องอื่นๆ ก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ

รัฐบาลที่ประชาชนไม่เชื่อถือ จะอยู่ได้อย่างไร

ผู้นำซึ่งที่สุดแล้วประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่า เชื่อถือไม่ได้ จะฝันถึงการสืบทอดอำนาจต่อไปได้อย่างไร

พัฒนาการเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจใคร่ติดตามอย่างยิ่ง

……………..

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image