คลองไทย มุมมองที่แตกต่าง ความคิดที่ไม่เคยเปลี่ยน และขลาดกลัว เราควรคิดเพื่อชาติ เพื่อลูกหลาน หรือผลประโยชน์ : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

คลองไทยกลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้งจากกลุ่มนักวิชาการอิสระกลุ่มเล็กๆ 6-10 คน ที่ห่วงใยภาคใต้ ห่วงใยประเทศจึงช่วยรัฐบาลคิด ช่วยเสนอแนวทางให้กับรัฐบาล ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวทางของรัฐบาล มีคนภาคใต้ส่วนหนึ่งมีข้อสงสัยและห่วงใยอยู่หลายประเด็น คือ

1) คนใต้เริ่มเข้าสู่ภาวะฝืดเคือง (ยากจน) เนื่องจากรายได้หลักจากยางพารา และปาล์มน้ำมันไม่ใช่ที่พึ่งของคนใต้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลทุกยุคพยายามแก้ไขก็ตามจะได้ก็ชั่วครู่ชั่วยาม เมื่อรัฐบาลใช้เงินงบประมาณมาแทรกแซงราคาเท่านั้น

2) โครงการใหญ่ๆ มักจะไม่เกิดขึ้นในภาคใต้ ทั้งๆ ที่ภาคใต้เป็นภาคที่สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายหมื่นหลายแสนล้าน แต่รัฐบาลกลับไปทุ่มเทลงทุนในภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกซึ่งได้ทุ่มทุนมหาศาลมาหลายรัฐบาล

3) ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางทะเลให้มากกว่าเท่าที่เป็นอยู่ แต่เพราะเหตุใดเกือบทุกรัฐบาลกลับมองข้ามผลประโยชน์จากชายฝั่งทะเลทั้ง 2 ด้านที่บรรพบุรุษได้เลือกมา อะไรมาปิดปากปิดตาลูกหลานไทยมายาวนานร่วม 340 ปี

Advertisement

4) ในภาวการณ์แข่งขันทางการค้าของโลกขยายตัว การให้ความสำคัญการขนส่งทางเรือมีมากขึ้นดูได้ จากการรายงานของการประชุมของสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) United Nations Publication 2016

ในการประชุมครั้งนี้ได้รายงานการขนส่งทางทะเล เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2015 GDP โลกขยายตัว 2.5% จีนเป็นตัวแปลที่สำคัญที่สุด ด้านการค้าสินค้าโลกเพิ่มขึ้น 1.4% ในปี 2015 ด้านการค้าทางทะเลขยายตัว 2.1% จีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลการค้าทางทะเลมากที่สุด สินค้าประเภทสินค้าแห้งมี 70.7% ของการค้าทางทะเล และการค้าเรือบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียม และก๊าชเพิ่มขึ้น 1.6% ปี 2015 ดังข้อมูลดังนี้

การค้าทางทะเลโลกแยกประเภทสินค้า ปี 2011-2016 (พันล้านตัน-ไมล์)

ด้านการเติบโตของเรือโลกถึง 1 ม.ค.2016 (หน่วยเป็น DWT) โตขึ้น 3.48% มีจำนวนเรือทั้งหมด 90,917 รวม 1.8 พันล้าน DWT เรือบรรทุกก๊าซเติบโตสูงสุด (+9.7%) และการต่อเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ใหม่สูงขึ้น 132%

กลุ่มเรือโลก แยกตามประเภท ปี 2015-2016 (พัน DWT และเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่ง)

ด้านเจ้าของเรือเอเชียมีมากที่สุดคือจีนและสิงคโปร์ 60% ของเรือโลกอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จำนวน 35 ประเทศที่เป็นเจ้าของเรือขนาดใหญ่ที่สุด คือแองโกลา ไนจีเรีย อียิปต์ บราซิล โบลิเวีย เวเนซุเอลา ชิลี อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เยอรมัน อังกฤษ ญี่ปุ่น กลุ่มสแกนดิเนเวีย ส่วนไทยอยู่ลำดับ 34 ของโลกจาก 35 ประเทศมากกว่า กาตาร์

10 เส้นทางการใช้เรือตู้คอนเทนเนอร์ 1 พฤษภาคม 2016

หมายเหตุ : ถ้ามีคลองไทยคาดว่าเรือจะผ่านปีละเกือบ 10 ล้าน (TEUs)

ด้านท่าเรือทั้งโลกมีท่าเรือชั้นนำ 20 ท่าเรือ แต่เป็นของจีน 14 ท่าเรือ ที่เหลือเป็นของสิงคโปร์ เกาหลี มาเลเซีย และอเมริกา 5) โครงการคลองไทยและคอคอดกระ ผู้มีอำนาจมักจะอ้างด้านความมั่นคงอยู่เสมอนับเป็นเวลา 100 ปี ถ้าถามคนใต้ พบว่าคนใต้ให้ความสำคัญด้านนี้น้อยที่สุด 6) ความคุ้มทุนเป็นอีกข้ออ้างหนึ่งที่พูดกันมาก แต่ทำไมคลองสุเอซ คลองปานามาได้รับการขยายกว้างขึ้น สามารถรองรับเรือมากขึ้นและที่น่าสนใจยิ่ง ประเทศนิการากัวได้ขุดคลองเส้นใหม่ของโลกยาว 278 กม.กำลังจะแล้วเสร็จ 7) โครงการคลองไทยได้ผ่านการพิจารณาวุฒิสภาปี 47-48 แล้วทำไมจึงถูกทิ้งไป

นี่คือคำถามที่คนใต้ส่วนหนึ่งคาใจเกือบ 2 ปี ที่ชาวใต้กลุ่มหนึ่งในนามสมาคมคลองไทย 5 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง และกระบี่ ได้ให้ความรู้กับประชาชนปราศจากการชี้นำพร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกรรมการศึกษาแห่งชาติอย่างละเอียด และรอบคอบว่าคุ้มทุนหรือไม่คุ้มทุน

2 ปี ของการขับเคลื่อนโครงการคลองไทยได้รับการตอบรับจากประชาชน 5 จังหวัด ที่คาดว่าแนวคลองไทยพาดผ่าน (9A) ต้นเดือน พ.ย.60 ได้เข้าชี้แจงกับอนุกรรมการโลจิสติกส์ กรรมาธิการคมนาคม ณ อาคารรัฐสภา 19-22 ธันวาคม 2560 ได้ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด และแม่ทัพภาคที่ 4 ผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ 31 มกราคม 2561 ทีมงานคลองไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนายุทธศาสตร์ การพัฒนาโลจิสติกส์ประเทศไทย 20 ปีของคณะกรรมาธิการการคมนาคมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กทม. โดยท่านประธานกรรมาธิการคมนาคมได้รับหลักการในที่ประชุมในพิธีปิดการสัมมาว่าจะนำโครงการคลองไทยเข้าสู่ยุทธศาสตร์ 20 ปีต่อไป

นี่คือเส้นทางและเป้าหมายของคนใต้ในการผลักดันโครงการนี้ ผู้เขียนอยากกราบเรียนไปยังท่านนายกรัฐมนตรี และท่านโฆษกรัฐบาลว่าจะกังวลให้มากเกินไป และอย่าชี้นำว่าจะมีการประท้วงโครงการคลองไทย หรือคอคอดกระ เพราะทีมงานคลองไทยไม่ได้สนับสนุนให้รัฐตัดสินใจขุด เราต้องการให้รัฐบาลตั้งกรรมการมาศึกษาอย่างจริงจังและเชิงลึก และเราก็ไม่สนับสนุนให้รัฐบาลทำเรื่องนี้โดยไม่ผ่านการศึกษาเชิงลึกและการมีส่วนร่วมจากประชาชนเช่นกัน

และเชื่อว่าคนใต้ไม่ออกมาประท้วงโครงการคลองไทยอย่างแน่นอน หยุดขลาดกลัวในสิ่งที่ประชาชนต้องการ คนใต้รักภาคใต้รักประเทศไทยศรัทธาในตัวท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเขาต้องการให้มีการศึกษาไม่ใช่ให้ตัดสินใจขุดแต่อย่างใด และผู้เขียนใคร่ขอนำแนวคิดของท่านเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่พูดถึงคาบสมุทรภาคใต้อย่างมีนัยที่น่าสนใจยิ่ง ดังนี้

ภาคใต้หากขุดคลองจะเชื่อมสองทะเลสำคัญ คืออันดามันและอ่าวไทยของสองมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก ซึ่งจะสำคัญกว่ามหาสมุทรอื่นใดในศตวรรษที่ 21 นี้ ประเทศไทยนั้นน่าแปลกใจ ยังไม่ค่อยรู้ว่าตนมีสองมหาสมุทรสำคัญยิ่งของโลก เรายังรู้จักใช้ “สมุทรานุภาพ” ของตนเองได้น้อยมาก ความจริงประเทศไทยนั้นขอกู่ก้องร้องเตือน เป็นประเทศภาคพื้นทะเลหรือภาคพื้นสมุทรด้วย กรุณาอย่าเผลอเห็นเป็นเพียงประเทศทางบกที่มีทะเลและชายหาดสวยเท่านั้น นี่คือคำแนะนำจากภูมิ-รัฐประศาสนศาสตร์

เร็วๆ นี้มีการพูดกันเรื่องการขุดคอคอดกระและคลองไทยเพื่อให้ภาคใต้เชื่อมสองมหาสมุทรเข้าด้วยกัน ผมยังไม่สรุปว่าควรขุดหรือไม่ควรขุด และถ้าขุดควรขุดที่ไหน ข้อจำกัดหรือผลกระทบทางลบจากการขุดมีอะไร และจะป้องกัน บรรเทา หรือจะชดเชย เยียวยา อย่างไร

นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องทำกันต่อไปอย่างรอบคอบ แต่ก็ต้องจริงจังและไม่ล่าช้าเกินไป

ภาคใต้นั้นสำคัญต่อการเดินทะเลโลกมาแต่ในอดีต นับย้อนหลังไปได้ถึงสี่พันปี จะเห็นร่องรอยการเดินเรือโดยอาศัยลมมรสุม ที่เชื่อมอินเดียกับเปอร์เซียในทางตะวันตกกับจีนในทางตะวันออก และต้องผ่านการข้ามคาบสมุทรภาคใต้ด้วยมาตลอด ในรอบสองพันปีมานี้ยังมีร่องรอยการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ขนส่งมาทางเรือทางตะวันตก มาไกลสุดจากดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรปส่วนทางตะวันออก นั้น มาไกลสุดจากญี่ปุ่น

ก่อนฝรั่งจะออกสู่โลกนั้น การค้าทางไกลของโลกที่สำคัญที่สุด ก็คือเส้นทางเรือที่มหาสมุทรอินเดียเชื่อมโยงเข้ากับทะเลจีนใต้และจีนตะวันออกนั่นเองและคาบสมุทรภาคใต้ตั้งแต่ยังไม่มีคนไทยอยู่ คือจุดที่เรือจากตะวันตกและตะวันออกจะระบายสินค้าและนักเดินทางลงลำเลียงหรือเดินทางข้ามคาบสมุทรแคบๆ ไม่กี่วัน ไม่กี่อาทิตย์ แล้วแต่รายละเอียด ข้ามไปลงอีกฝั่งแล้วขึ้นเรือใหม่ เดินทางทางทะเลต่อไป

คนโบราณไม่ได้ข้ามคาบสมุทรกันแต่ที่คอคอดกระครับ หากข้ามกันเป็นล่ำเป็นสันตลอดคาบสมุทรอันยาวเหยียด คะเนกันว่ามีช่องข้ามเป็นคลองหรือเป็นทางเดินซึ่งต่อกับคลองอยู่ร่วมสิบแห่ง ตั้งแต่ระดับประจวบฯ ลงใต้ไปเรื่อยๆ ถึงระดับระนอง ระดับกระบี่ ตรัง เพื่อข้ามไปยังอีกฝั่งทะเลที่ประจวบฯ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง เป็นต้น กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าโลกรู้มานานว่าทั้งคาบสมุทรภาคใต้คือทางข้ามของสินค้าและนักเดินทางทางเรือจากสองมหาสมุทร

ในอดีตเมื่อ 600-2,000 ปีที่ผ่านมานั้น โลกยังไม่เดินเรือลงใต้ไปช่องแคบมะลักกากัน เพราะหนึ่ง ย่อมจะเสียเวลากับการเดินเรือไปมากกว่าการถ่ายของถ่ายคนข้ามคาบสมุทรโดยทางบก และสอง ช่องแคบมะลักกานั้นเต็มไปด้วยโจรสลัดพื้นเมืองที่จะคอยมาขโมยของ ปล้นชิงสินค้า หรือชิงเอาเรือ และคุกคาม ทำร้ายคนเดินเรือ ต้องรอมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 คือประมาณหนึ่งร้อยปี หลังตั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงเกิดเมืองมะละกาที่มีสุลต่านที่เข้มแข็ง สามารถปราบโจรสลัดลงได้ จากนั้นมาการเดินเรือผ่านการเดินบกข้ามคาบสมุทรภาคใต้ของไทยจึงค่อยลดความสำคัญลง และลดลงจนเป็นศูนย์เลย ก็เมื่อจักรวรรดิอังกฤษเข้าคุมช่องแคบมะละกาโดยเด็ดขาด เปิดสิงคโปร์เป็นเมืองท่า และห้ามหรือกีดกันไม่ให้สยามขุดคอคอดกระ หรือคลองใดๆ ขึ้นมา เป็นทางผ่านหรือสร้างเมืองท่าขึ้นมาท้าทายสิงคโปร์

อังกฤษได้ใช้อำนาจทางการทูตและการทหารเปลี่ยนสิงคโปร์เกาะเล็กๆ ซึ่งหลายร้อยปีที่แล้วเป็นเสมือนซอยเล็กๆ ถ้าเราเปรียบกับการคมนาคมทางบกให้เป็นทางหลวงมหึมา ในทางกลับกัน คาบสมุทรภาคใต้ที่ยิ่งใหญ่ของไทยถูกลดสถานะครั้งใหญ่จากทางหลวงใหญ่ ลงมาเป็นตรอกเล็กๆ หรือพูดให้จริงกว่าอีก คือกลายเป็นซอยตันไปเสียเลย

นี่คือความจริงอันขมขื่นในทางการทูตและภูมิ-รัฐประศาสนศาสตร์ น่าเสียดาย และก็เป็นมาร่วมสองร้อยปี โดยไทยเราไม่ค่อยตระหนักกัน

ด้วยเหตุนี้แหละครับ ผมอดไม่ได้ที่จะสนับสนุนกระบวนการที่คิดจะใช้สมุทรานุภาพ ใช้คาบสมุทรภาคใต้ให้เป็นแต้มต่อทางเศรษฐกิจ คิดขุดคลองกระ หรือคลองไทย เชื่อมสองมหาสมุทร ขยับเส้นทางหลักในการเดินเรือของโลก จากสิงคโปร์ ผ่านช่องแคบมะลักกา ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ขยับมันให้สูงขึ้นให้เหนือขึ้นมาอยู่ที่คาบสมุทรของไทยแทน

จะเป็นที่ไหนก็สุดแท้แต่จะคิด จะมีกี่คลองก็ได้ โดยระมัดระวังไม่ให้เสียสภาพธรรมชาติและเสียศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว ทำอะไรใหม่นั้นไม่จำเป็น ไม่ควรเป็นอุปสรรคกับของเก่า ต้องไม่ไปทำร้ายหรือไปทำลายของเดิมด้วยครับ

ว่าไปแล้วเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อมโยงต่อยอดการเชื่อมสองมหาสมุทร จะเรียกว่า “เศรษฐกิจคาบสมุทรภาคใต้” ก็ได้ น่าจะเริ่มคิดได้แล้ว น่าจะมีศักยภาพไม่น้อยกว่าอีอีซี การเชื่อมสองมหาสมุทรนั้นน่าจะสำคัญยิ่งกับอนาคตชาติ ไม่น้อยกว่าการแปรเปลี่ยนไทยเป็น 4.0 ประเทศไทยนั้นถ้ากล้าคิด กล้าทำ และทำอย่างระวังรอบคอบ แต่ก็เร็วพอควร จะระดมความรู้และทุนได้จากทั่วโลก รวมทั้งจากจีน เราจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ให้สมกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเราดีติดระดับต้นของโลกทุกวันนี้… นี่คือบทสรุปของท่านเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เกี่ยวกับอดีตและอนาคตของคลองไทย ไม่ทราบว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด พอมีเวลาอ่านบ้างน่าจะดีนะ หรือรวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้

คลองไทยเดินทางทั้งอดีตและปัจจุบันด้วยความหวังมากกว่า 300 ปี อดีตที่เจ็บปวดและขมขื่น เพียงรอลูกหลานไทยมีจิตสำนึกของความรักชาติรักแผ่นดินกันแค่ไหนเท่านั้นหรือจะยังปล่อยให้เป็นปริศนาที่มืดมนอีกต่อไปหรือปล่อยให้ชาวไทยได้ทำนาย พนันกันต่อในร้านน้ำชา ว่าคลองไทยเกิดขึ้นยาก เพราะคลองไทยถูกต่างชาติซื้อ… ไปแล้วหรือไง

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ และโรงเรียนดาวนายร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image