การศึกษาไทย..เหตุใด..ยังไม่ถึงอินเตอร์ : โดย ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร

การให้การศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่พลเมืองทุกคนในประเทศ เป็นการสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพในอนาคตโดยตรง และยังเป็นการสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้กับประเทศในทางอ้อม คุณภาพของคนในประเทศจึงเป็นผลมาจากระบบการศึกษาอย่างแท้จริง หากรัฐมีการวางระบบการศึกษาที่ดี มีกระบวนการทำงานต่างๆ ของการให้การศึกษาอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และมีความเข้าใจที่ตรงกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลากหลายฝ่ายในระบบการศึกษา ผลผลิตที่เรียกว่า นักเรียน จะเป็นขุมกำลังอันเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศได้อย่างดียิ่ง

ตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษาในปี พ.ศ.2542 สมัยนายชวน หลีกภัย ที่มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2545 ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน และการปฏิรูปในปี พ.ศ.2552 การปฏิรูปในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปหลักสูตร การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูปครู การปฏิรูประบบการทำงานในกระทรวง ฯลฯ การปฏิรูปที่ผ่านมาทั้งหลายเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่วนเวียนและเป็นเรื่องเดิมๆ ที่ยังคงต้องปฏิรูปกันต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น เหตุใดการปฏิรูปที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีจึงไม่ส่งผลต่อการศึกษาไทยให้เป็นไปอย่างต้องการ เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเหมือนนานาอารยประเทศ การลงทุนทางด้านการศึกษาของไทยดูเหมือนจะเสียเปล่าหรือไม่ ในเมื่อผลปลายทางไม่บังเกิดกับนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาแต่อย่างใด

จากผลการแข่งขันทางด้านวิชาการในระดับนานาชาติของประเทศไทยที่ผ่านๆ มา การจัดลำดับของไทยนั้นยังอยู่ในลำดับรั้งท้าย ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบ PISA การจัดลำดับการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน เหล่านี้เป็นตัวสะท้อนว่าการศึกษาไทยปฏิรูปเท่าไหร่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เหตุใด 20 ปีที่ผ่านมาผลจากการปฏิรูปจึงไม่สามารถทำให้การศึกษาไทยเราขยับขึ้นไปอยู่ในระดับต้นๆ ได้เลย หากเทียบกับประเทศฟินแลนด์จากประเทศที่เคยตกเป็นเหยื่อ การทนทุกข์ทรมานจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นระยะเวลานาน ต้องการใช้เวลาจำนวนมากในการสร้างชาติและพัฒนาคนของตนเองให้มีคุณภาพ ฟินแลนด์กลับใช้เวลาเพียงแค่ 100 ปีในการประกาศอิสรภาพ (วันชาติ) แต่ประเด็นสำคัญที่จะกล่าวไม่ใช่เรื่องการสร้างชาติของฟินแลนด์ แต่เป็นเรื่องของการสร้างการศึกษาให้มีคุณภาพของฟินแลนด์ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 20 ปีที่ทำให้การศึกษาของเขานั้นโด่งดังไปทั่วโลก จะเห็นได้ว่าจำนวนเวลา 20 ปีของไทยและฟินแลนด์ที่ใช้พัฒนาการศึกษานั้นเท่ากัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่น่าคิดในเวลานี้ก็คือ การปฏิรูปการศึกษาไทย สุดท้ายแล้วส่งผลไปยังนักเรียนอย่างแท้จริงหรือไม่ การสร้างคนให้เป็นไปตามยุคสมัย สามารถดำเนินไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติจะได้ดังที่ตั้งใจมากน้อยเพียงใด การลงทุนจำนวนมากในการสร้างงานทางการศึกษาที่รัฐกำลังดำเนินการไปตกอยู่ที่ใคร การมุ่งเน้นการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในระดับชาติโดยผ่านการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้และการสอนของครูนั้น กำลังเป็นกับดักที่ขัดขวางการเจริญเติบโตทางวิชาการของนักเรียนทางอ้อมหรือไม่ ในกรณีนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในประเทศ และส่งผลต่อการแสดงถึงความเป็นไปของการศึกษาชาติอย่างมาก การมุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถทางวิชาการ ควบคู่กับการมีทักษะในยุค 4.0 และยุคศตวรรษที่ 21 โดยผ่านเครื่องมือการพัฒนาขั้นต้นก็คือ ครู

Advertisement

การอบรมจำนวนมากที่ทางรัฐจัดให้ครูในแต่ละปีนั้นนับไม่ถ้วน ครูจำเป็นต้องเข้ารับการอบรมหัวข้อต่างๆ เพื่อนำผลจากการอบรมนั้นไปถ่ายทอดหรือจัดกระบวนการการเรียนรู้ตามที่รัฐต้องการไปสู่ผู้เรียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรแกนกลางและแผนการศึกษาแห่งชาติที่วางไว้ แทนการที่ครูจะใช้เวลาในการทำหน้าที่ของตนก็คือ การสอนอย่างเต็มที่ในห้องเรียน การมุ่งเน้นการประเมินต่างๆ จากทั้งโรงเรียนและนักเรียนที่มีจำนวนมากจากนโยบายของกระทรวง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตทางวิชาการของนักเรียนทั้งสิ้น กล่าวคือ ครูท้อแท้ต่อการสอนนักเรียนเพราะเหนื่อยกับการฝึกอบรมจำนวนมาก การทำงานเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน และงานจิปาถะอีกมากมายที่ครูต้องพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียนโดยผ่านการพัฒนาครูด้วยวิธีการอบรมจึงต้องมีการคิดและวางแผนให้ถูกต้องเหมาะสม

สุดท้ายแล้ว การจะให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ แข่งขันกับนานาอารยประเทศหรืออยู่ในระดับอินเตอร์ได้นั้น รัฐควรต้องย้อนกลับมามองสื่อกลางผู้ส่งผ่านความรู้ นั่นก็คือครู ให้ครูมีคุณภาพเพียบพร้อมด้วยความรู้ มีทักษะที่เท่าทันกับสังคมโลกปัจจุบันก่อนเป็นอันดับแรก หากกระบวนการผลิตครู สามารถผลิตครูให้ดีมีคุณภาพมากเท่าไร นักเรียนหรือกำลังคนในอนาคตของชาติย่อมมีคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น การพัฒนาศักยภาพของครูระหว่างทางที่รัฐกำลังกระทำอยู่นี้จึงได้ผลน้อยและไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

รัฐและสถาบันผลิตครูควรต้องจริงจังกับการผลิตและพัฒนาครูเสียที เพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว เสมือนกับการลงทุนเครื่องจักรที่ดีในโรงงาน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน

Advertisement

ดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image