ก่อนเปิดใช้ 5G ประเทศไทยต้องทำอะไร : โดย ประเทศ ตันกุรานันท์

“เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมี 5จี (5G) ใช้?” เป็นคำถามที่คนทำงานด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและเทคโนโลยีอย่างผมได้รับมากที่สุด ซึ่งความน่าตื่นเต้นของเทคโนโลยี 5จี คือสปีดที่เร็วในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และจะนำไปสู่นวัตกรรมที่เราเคยจินตนาการไว้ในโลกภาพยนตร์หรือแค่เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์

ซึ่งมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่จัดขึ้นที่เกาหลีใต้ระหว่างวันที่ 9-25 กุมภาพันธ์ นอกจากจะเป็นการจัดขึ้นในเอเชียในรอบ 20 ปี หลังจากครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1998 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ครั้งนี้ทั่วโลกยังประทับใจที่ได้เห็นความยิ่งใหญ่ในการเปิดตัวเทคโนโลยีเครือข่าย 5จี เป็นครั้งแรกในโลก โดยมีความเร็วมากกว่า 4จี ถึง 100 เท่า หรือ 1000 Mbps

เราได้เห็นการนำเอาเทคโนโลยี 5จี มาประยุกต์ใช้งานจริง ในพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 อย่างยิ่งใหญ่ด้วยการใช้โดรนมากกว่า 1,218 ตัว ที่ควบคุมผ่านสัญญาณ 5จี บินสู่ท้องฟ้าเมืองพยองชัง ประเทศเกาหลีใต้ แปรเป็นภาพสัญลักษณ์ต่างๆ อย่างงดงาม

เราจะได้เห็นการใช้โดรนบินติดตามนักกีฬา หรือนักสกีกระโดดขณะโชว์ลีลาการแข่งขัน พร้อมกับบินเพื่อเก็บภาพทิวทัศน์ของเนินเขาจากจุดต่างๆ การเปิดตัวของ 5จี จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในการนำเอาเทคโนโลยีอนาคตเข้ามาใช้ รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพของ 5จี ซึ่งปี 2018 จะเป็นปีเริ่มต้นของการเดินทางสู่อนาคตด้วยการสื่อสารของเทคโนโลยี 5จี

Advertisement

ขณะที่ประเทศจีนได้เริ่มทดสอบเทคโนโลยี 5จี กับการใช้งานความเร็วในการรับส่งข้อมูลต่อรายอยู่ที่ 10 Gb/s ในขณะที่มีผู้ใช้งานพร้อมกันมากกว่า 1 ล้านราย ปัจจุบันยังมีอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ยังมีการวางแผนในการทดลองใช้และเตรียมเปิดให้บริการ 5จี อย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมการให้บริการเทรนด์ใหม่ของ IoT, รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous vehicle) เชื่อว่าความพร้อมของอุปกรณ์หรือบริการต่างๆ แต่ละประเทศคงจะพัฒนาได้ไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่จะเป็นข้อกังวลใจให้พัฒนาได้เร็วหรือช้า คือ กฎเกณฑ์และการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ในหลายประเทศ โดยเฉพาะความพร้อมในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะมารองรับ 5จี ในย่านความถี่ต่ำกว่า 1 GHz, 1-6 GHz และสูงกว่า 6 GHz ขึ้นไปอย่างพอเพียง

ทำให้เราต้องมองกลับมาที่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรให้เปิดใช้ 5จี ได้ทันกับประเทศเพื่อนบ้าน และจะทำอย่างไรที่จะทำให้การประมูลที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญของการสร้างอนาคต 5จี ในประเทศไทย 4.0

คนไทยยังต้องการคลื่นความถี่อีกมาก วันนี้ประเทศไทยมีคลื่นความถี่ที่ถูกจัดสรรมาแค่ 450 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และใช้งานจริงได้เพียง 350 เมกะเฮิรตซ์ ในขณะที่ควรจะมีแผนการจัดสรรคลื่นที่ 1,000 เมกะเฮิรตซ์ ประเทศจะต้องมีการวางแผนอย่างชัดเจนเพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นแปลว่าเราต้องการคลื่นความถี่มาเพิ่มเพื่อรองรับการใช้งานอีกราว 600-700 เมกะเฮิรตซ์ ในยุค 5จี ที่กำลังมาอย่างรวดเร็ว

Advertisement

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาคลื่นความถี่ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับการเติบโตความต้องการใช้งานและเทคโนโลยี แต่หลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังจะจัดขึ้นกลับมีช่องว่างที่จะทำให้ปริมาณความถี่บางส่วนที่มีอยู่เดิม ซึ่งไม่เพียงพออยู่แล้วถูกนำไปเก็บไว้ไม่ได้ใช้งาน จากสถิติการใช้งานของลูกค้าดีแทค ตั้งแต่ปี 2015 พบว่ามีอัตราเติบโตใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 200-300% และยังมีแนวโน้มความต้องการใช้งานดาต้าเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี สวนทางกับเจตนารมณ์ของการสนับสนุนภาครัฐกับนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งจะต้องมีความพร้อมของโครงสร้างดิจิทัลเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา

สิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของยุคสมัย มักจะมาจากข้อบังคับทางกฎหมาย ทุกฝ่ายจะต้องได้รับการสนับสนุนและเป็นประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นประเทศ ประชาชน และผู้ประกอบการ รวมถึงความเท่าเทียมในการแข่งขันเพื่อก้าวสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ที่จะขับเคลื่อนพวกเราให้ก้าวสู่อนาคตด้วยกัน

ประเทศ ตันกุรานันท์
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image