ปลุกกระแสสุดโต่ง โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ลักษณะหนึ่งของสังคมที่ระดับการเมืองยังไม่พัฒนา สังเกตได้จากสถาบันการเมืองต่างๆ เช่น รัฐสภา พรรคการเมือง องค์กรต่างๆ จะได้รับความเชื่อถือหรือความมั่นใจจากประชาชนว่ามีความมั่นคงในจริยธรรม มีความมั่นคงในความเป็นอิสระ ในการอำนวยความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การยอมรับความแตกต่างในแนวความคิด ทั้งเรื่องลัทธิหรือศาสนา ความเห็นทางการเมือง ระบบโครงสร้างของสถาบันทางการเมือง

สังคมที่ระบบการเมืองยังล้าหลัง ยังไม่พัฒนา ย่อมเป็นโอกาสของกลุ่มคนที่ได้เปรียบสังคมทางเศรษฐกิจและการเมืองในอันที่จะสร้างกระแสความคิดที่สุดโต่ง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม ขณะเดียวกันก็สร้างกระแสความชอบธรรมให้กับการกระทำของตน จนกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายขั้นพื้นฐาน นโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม นโยบายการสร้างสรรค์และพัฒนาประชาธิปไตย

การสร้างกระแสต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจบางอย่าง เช่น นโยบายราคาสินค้าเกษตร ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนาว่าเป็นนโยบาย “ประชานิยม”

จนคำว่า “ประชานิยม” กลายเป็นศัพท์ที่แสลงใจของสังคมไป นโยบายประกันราคาหรือยกระดับราคาซึ่งมีความจำเป็นทางการเมืองกลายเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดสุดโต่ง แทนที่จะสามารถโต้เถียงกันได้ นโยบายเช่นว่านั้นสามารถทำได้ในกรอบการเงินการคลัง อยู่ในฐานะที่รับได้ ขณะเดียวกันกับประชาชนผู้เสียภาษียินยอม ผ่านทางขบวนการทางการเมือง

Advertisement

ในขณะเดียวกันผู้ดำเนินการนโยบายประกันราคาก็ทำกันอย่างสุดโต่ง เช่น การประกันราคาข้าวทุกเมล็ด โดยไม่มีการกำหนดปริมาณการผลิต ไม่ได้จำกัดเนื้อที่เพาะปลูก และไม่มีเครื่องมือป้องกันเพียงพอกับการลักลอบการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวมีราคาต่ำกว่า

การดำเนินการตามนโยบายก็ทำแบบสุดโต่ง ในขณะเดียวกันเมื่อเห็นความเสียหายจากนโยบายเช่นว่าก็ดำเนินนโยบายต่อต้านอย่างสุดโต่งเช่นกัน ลูกตุ้มก็แกว่งกลับมาอีกข้างอย่างสุดโต่ง จนทำอะไรไม่ได้เลยในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประคับประคองเกษตรกร หรือดำเนินการเพื่อผลทางการเมือง เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความพอใจของประชาชนทั้งที่เป็นเกษตรกรและที่ไม่ใช่เกษตรกร

ที่เห็นได้ชัดอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือโครงการสุขภาพดีถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ก็กลายเป็นโครงการรักษาพยาบาลฟรี สุดโต่งไปอีกข้างด้วยเหตุผลการเมือง ผลก็คือมีการสั่งยากันอย่างฟุ่มเฟือย มีการมาตรวจรักษาโดยไม่จำเป็น จนงบประมาณโป่งพอง ไม่สามารถรับได้ แทนที่จะดำเนินนโยบายอย่างกลางๆ ไม่สุดโต่ง ประชาชนผู้ที่มารับบริการรักษาพยาบาลต้องจ่ายเงินบ้าง การที่ต้องจ่าย 30 บาทต่อครั้งเมื่อมารับการรักษาพยาบาลก็ไม่ใช่ภาระหนักหนา แต่เป็นการป้องกันการมาขอบริการหรือขอยาโดยไม่จำเป็น และขณะเดียวกันก็ได้เงินมาแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐ อันเป็นเงินมาจากภาษีอากรที่ถูกที่ควรจะรักษาเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไปก็ควรจะเก็บเพิ่มขึ้นจาก 30 บาท เป็น 40 บาท เป็น 50 บาท แปรผันไปตามเวลา ผ่านไปตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คิดแบบสุดโต่งอย่างที่สังคมไทยมักจะเป็นเช่นนั้นอยู่เสมอ เพราะความที่ยังเป็นสังคมที่ยังไม่พัฒนาทางความคิด

ความอดทนและอดกลั้นต่อการแสดงความคิดหรือความเห็นที่แตกต่าง ที่สังคมไทยยังไม่สามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาได้ ความอดทนอดกลั้น ยั้งคิดต่อความเห็นที่แตกต่างเป็นพื้นฐานของความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งต่างกับอีกฝ่ายที่ไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างและแสดงออกด้วยการดูถูกเหยียดหยาม

การยอมรับต่อเสียงข้างมากก็เป็นคุณสมบัติอีกประการหนึ่งของความคิดความเห็นที่เป็นกลางๆ ไม่สุดโต่ง สามารถยอมรับความเห็นของฝ่ายข้างมากที่แตกต่างไปจากความคิดความเห็นของตนได้ ส่วนกระแสของความสุดโต่งที่ไม่มีความอดทนอดกลั้นพอก็มักจะเรียกร้องให้มีการใช้ความรุนแรงหรือใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ใช้มาตรฐานที่ต่างกัน ใช้ตรรกะที่แสดงความดูถูกเหยียดหยาม คิดว่าฝ่ายตนมีสติปัญญาดีกว่า มีระดับการศึกษา มีความรับผิดชอบที่สูงกว่า ทั้งๆ ที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่มีใครฉลาดกว่าใคร ไม่มีใครโง่กว่าใคร แม้ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคมที่แตกต่างกัน

หลายหนหลายคนที่ฟังมามีความเห็นว่า การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของเราล้มเหลวก็เพราะความสุดโต่ง รัฐธรรมนูญของเราที่ถูกร่างขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ความรู้สึกสุดโต่งหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองย่อมจะครอบงำความคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจึงมุ่งป้องกันปัญหาของกลุ่มคนกลุ่มน้อยและเป็นบทบัญญัติที่ไม่เป็นสากล

รัฐธรรมนูญฉบับถาวรทุกฉบับถูกครอบงำไปด้วยวาทกรรมของคณะรัฐประหาร ด้วยข้อกล่าวหาที่สำคัญคือปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาความไม่วางใจนักการเมือง การไม่ไว้วางใจประชาชนที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีผ่านทางตัวแทนของตนในสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของตัวแทนของประชาชน เช่น นายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งตัวเองจากการยึดอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง เป็นสิ่งที่ยอมรับได้สำหรับผู้ที่มีความคิดสุดโต่งที่รังเกียจนักการเมือง รังเกียจคนในต่างจังหวัดระดับรากหญ้า เชื่อกันไปได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งจะประกอบไปด้วยคนดี มีการศึกษา มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เชื่อว่าผู้คนในระดับนี้จะเป็นคนที่เก่ง มีประสิทธิภาพ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ต้องตรวจสอบก็ได้ ซึ่งก็เป็นความคิดสุดโต่งอีกแบบหนึ่ง รัฐบาลที่ไม่ต้องกังวลกับการต้องรายงาน ชี้แจง ต้องถูกตรวจสอบอยู่เสมอ ก็จะมีความคิดแบบสุดโต่งคืออยากทำอะไรก็ทำได้ ตราบใดที่ประชาชนยังไม่รู้ไม่เห็น ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง

เมื่อเวลาผ่านไป มักจะพบอยู่เสมอว่าความรู้สึกหรือความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องไม่จริง ก็จะเกิดความผิดหวัง เกิดกระแสก็ตีกลับและกลายเป็นกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงสุดโต่ง สามารถทำลายทุกสิ่งทุกอย่างได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต

ความรู้สึกหวาดหวั่นต่อการเกิดความรุนแรงของหลายๆ คนที่มีความรู้สึกหรือที่มีความคิดกลางๆ รักก็ไม่รักมากเกินไป เกลียดก็ไม่เกลียดมากเกินไป กำลังรู้สึกหวั่นใจในความสุดโต่งของสังคมไทยที่กำลังเป็นอยู่

ขณะนี้เป็นเวลาที่จะมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกประมุขของคณะสงฆ์ไทย ก็เริ่มมีความคิดแตกแยก จะเป็นเพราะเหตุปัจจัยใดก็ตาม ก็ดูจะเป็นความคิดที่

สุดโต่ง กำลังหวั่นใจอยู่ว่าเรื่องนี้อาจจะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะปัญหาถูกปลูกฝังหยั่งรากลึกมาเป็นเวลานาน รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยไม่อาจจะแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ ปัญหาจะหยุดยั้งลงด้วยดีหรือบานปลายกลายเป็นเรื่องการเมืองไม่ได้อยู่ที่พระสงฆ์ แต่อยู่ที่ลูกศิษย์ลูกหาฆราวาสที่มีความคิดสุดโต่งทางการเมืองกำลังใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการทำลายศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนมีต่อพระศาสนา ที่ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะก็ตาม เพราะต่างฝ่ายต่างเอาชนะกันด้วยความคิดสุดโต่ง ไม่ใช่ทาง “สายกลาง” ไม่ใช่ “มัชฌิมาปฏิปทา” ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ของพุทธศาสนา

เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยแน่ใจเสียแล้วว่า การไม่โอนอ่อนผ่อนตามกระแสความเชื่อ หรือการยึดมั่นในเหตุผล ข้อเท็จจริง และจริยธรรม จะกลายเป็นความสุดโต่งอีกชนิดหนึ่งหรือไม่ เพราะกระแสที่กำลังโหมให้สับสนอยู่นี้ ความเท็จกำลังกลายเป็นความจริง ความไม่มีเหตุผลกลายเป็นเหตุผล ความชั่วร้ายกลายเป็นจริยธรรม อธรรมกลายเป็นธรรม การใช้อำนาจเป็นธรรมเข้ามาแทนที่การใช้ธรรมเป็นอำนาจ ดูจะได้รับการยอมรับโดยดุษณีเสียด้วย

ที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ ความสุดโต่งนั้นมักจะไม่อยู่คงที่ มักจะแกว่งจากสุดโต่งด้านหนึ่งกลับไปเป็นความสุดโต่งอีกด้านหนึ่งเสมอ ส่วนคนที่เป็นกลางๆ ยึดธรรมะ “มัชฌิมาปฏิปทา” มักจะเป็นผู้ที่สงบนิ่ง ไม่แกว่งไปมา แม้ว่ากระแสลมที่เคยพัดจากทิศหนึ่งมาทิศหนึ่งจะเปลี่ยนทิศทาง พัดกลับจากอีกทิศหนึ่งมาอีกทิศหนึ่ง

ความสุดโต่งทางการเมืองของเราจะจบลงอย่างไร คงจะได้เห็นกันไม่ช้าก็เร็ว ไม่มีใครทำนายได้ การเมืองที่ไม่อยู่ในระบบ แต่เป็นการเมืองที่ขึ้นอยู่กับบุคคล ย่อมเป็นการเมืองที่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจไม่อาจจะพยากรณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร และเมื่อใด

คงจะเป็นเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image