สะเทือน การเมือง มติ สนช. คว่ำ “7 กกต.” ต่อ ความเชื่อมั่น

พลันที่ที่ประชุม สนช.ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบต่อ 7 ว่าที่ กกต. ซึ่งผ่านจากคณะกรรมการสรรหาอันมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน

บทสรุปของ “สังคม” ดำเนินไปอย่างไร

1 เห็นว่ามติในที่ประชุม สนช.มิได้เป็นเรื่อง “ฟรีโหวต” หากแต่มีคำสั่งโดยตรงมาจาก “คสช.” จึงออกมาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นนี้

1 เกิดนัยประหวัดถึงกรณีเดือนกันยายน 2558

Advertisement

นั่นก็คือ มติของที่ประชุม สปช.ไม่ให้ความเห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญอันมาจากคณะกรรมาธิการ ซึ่งมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

บทสรุปอันรวบรัดที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” จึงก้องขึ้น

ทุกสายตาจึงมองไปยัง “โรดแมป” การเลือกตั้งด้วยความหวาดระแวงว่าที่เลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ไปยังเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อาจต้องทอดยาวออกไปอีก

Advertisement

เป็นความเชื่อมั่นบนฐานความไม่เชื่อมั่น

ทั้งๆ ที่ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ล้วนออกมาย้ำและยืนยันที่จะดำเนินการเลือกตั้งตาม “โรดแมป”

เหตุใดคนจึงไม่เชื่อ

ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. เป็นหัวหน้ารัฐบาลซึ่งก็คือ “นายกรัฐมนตรี” ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เหตุใดคนระดับนี้พูดคนจึงไม่เชื่อ หรือมีคนเชื่อถือเหลือน้อยลงเป็นลำดับ

เป็นความไม่เชื่อเหมือนกับเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมายืนยันว่า นาฬิกาหรูกว่า 20 เรือนในแขนไม่ใช่ของท่านเอง

หากแต่ “ยืมเพื่อน”

เป็นความไม่เชื่อต่อหัวหน้า คสช. เป็นความไม่เชื่อต่อหัวหน้ารัฐบาล และเป็นความไม่เชื่อต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นับเป็นเรื่องน่าใจหาย

อาจเป็นเพราะมีการกำหนดโรดแมปว่าด้วย “การเลือกตั้ง” มาแล้วหลายครั้งหลายหนจาก คสช. จากรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นคนยืนยัน

เห็นได้จากจำนวนของ “ปฏิญญา”

เริ่มจาก “ปฏิญญา โตเกียว” ตามมาด้วย “ปฏิญญา นิวยอร์ก” และตามมาด้วย “ปฏิญญา ทำเนียบขาว”

เลื่อนมาเรื่อยจากปี 2558 กระทั่งปี 2560

อย่าถามถึงการปลดล็อกพรรคการเมืองทั้งๆ ที่มี พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศและบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม

อย่าถามถึงการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ทั้งๆ ที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศและบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน

นี่คือความไม่ชัดเจน

กระทั่งแม้มี Start Up People แสดงความเรียกร้องต้องการ “อยากเลือกตั้ง” ก็ยังถูก คสช.แจ้งความกล่าวโทษว่ามีความผิดกระทั่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ความไม่ชัดเจน ความไม่แน่นอน นั้นเองที่ทุกปรากฏการณ์ในระยะหลังนำไปสู่นัยประหวัดเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นใน สปช.เมื่อเดือนกันยายน 2558

นั่นก็คือ “เขาอยากอยู่ยาว”

และเป็นความต้องการ “อยากอยู่ยาว” โดยทาง 1 ยื้อ ถ่วง หน่วง “การเลือกตั้ง” ออกไปเรื่อยๆ และ 1 ไม่ยอมให้มี “การเลือกตั้ง”

ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image