กับดัก การเมือง นายกรัฐมนตรี คนนอก กับดัก เลือกตั้ง

ปัญหาของ คสช.ในที่นี้มิได้อยู่ที่ว่า 1 จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ภายหลังการเลือกตั้งหรือไม่ ประการเดียว หากแต่ 1 ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือ

เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะ “บริหาร” ได้หรือไม่

การเลือกตั้งจึงเป็นปัจจัยสำคัญ กำหนดแต่ละจังหวะก้าวในทางการเมือง สำหรับ 2 เป้าหมายที่สำคัญหลังการเลือกตั้ง

ลำพังพรรคเพื่อไทยต้านอาจยังพอสู้ได้

Advertisement

อย่างน้อยยังสามารถฝากความหวังไว้กับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และ 1 พรรคอันถือได้ว่าเป็นลูกแหล่ง ตีนมือ

กวาดต้อนมา 100 ผนวกกับ ส.ส. 250 เสียง

แต่พลันที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีออกมาอย่างเด่นชัดว่า ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี “คนนอก” เท่ากับจบอย่างสิ้นเชิง

จึงได้มีข่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจต้องตั้งพรรค

 

ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย มีความแจ่มชัดเป็นอย่างมากว่าพรรคเพื่อไทยไม่เอานายกรัฐมนตรี “คนนอก” แน่ๆ

วางเป้าจะเป็น “ฝ่ายค้าน” สถานเดียว

ในเบื้องต้น พรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังไม่แจ่มชัด แต่ยิ่งสถานะของ คสช. “ขาลง” มากเพียงใด พรรคประชาธิปัตย์ยิ่งมีความแจ่มชัด

เท่ากับโจทย์ของ คสช.สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน สถานะ “ขาลง” ไม่เพียงแต่จะส่งผลสะเทือนให้กับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น หากแม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยที่ประเมินว่าอาจเป็น “ของตาย” ก็อาจเริ่มลังเล

“ขาลง” ของ คสช.จึงเป็นปัจจัยอันแหลมคมเป็นอย่างสูง

ความจริง สถานะของ คสช.ที่เรียกว่า “ขาลง” เริ่มเห็นตั้งแต่กลางปี 2560 มาแล้ว แต่เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ก็แจ่มชัด

ยิ่งเจอ “นาฬิกา” ในเดือนธันวาคม ยิ่งกระจ่าง

จากเดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา อาการทางการเมืองของ คสช.จึงเป็นอาการที่ฟ้องให้เห็นว่ายังไม่พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

จึงได้มอบให้ “ลูกแหล่ง ตีนมือ” ออกโรง

นั่นก็เห็นได้จากข้อเสนอแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจาก 1 กปปส.และจาก 1 กลุ่มประชาชนปฏิรูป

นำไปสู่คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 57/2560

อันกลายเป็นเหตุผลอย่างสำคัญในที่ประชุมคณะกรรมาธิการกระทั่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นำไปสู่การยืดเลือกตั้งออกไปเป็นปี 2562

ต่อเวลา “หายใจ” ออกไปอีก

เหมือนกับกรณี 7 กกต.ที่ถูกคว่ำในที่ประชุม สนช.อันเป็นกระบวนท่าเดียวกันกับที่เคยเกิดกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558

อันเป็นที่มาของวลี “เขาอยากอยู่ยาว”

ตราบใดที่ คสช.ยังไม่มั่นใจใน 2 ประเด็น คือ 1 ทำอย่างไรจึงจะเป็นหลักประกันการได้เป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” และ 1 ทำอย่างไรจึงจะเป็นหลักประกันว่านายกรัฐมนตรี “คนนอก” สามารถบริหารได้

ตราบนั้นความชัดเจนเรื่อง “การเลือกตั้ง” ก็ไม่บังเกิด

จึงไม่เพียงแต่จะยืนยันความต้องการเอาเปรียบโดยผ่าน 1 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เท่านั้น หากแต่ยังต้องการเอาเปรียบ 1 ทุกพรรคการเมืองที่ประเมินว่าอาจเข้ามาขัดแข้งขัดขา

เช่นนี้เองจึงต้องยื้อ ถ่วง หน่วง “การเลือกตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image