คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 มีรัฐธรรมนูญ 2560 รองรับ ปฏิบัติงานมาถึงขณะนี้ใกล้เวลาหนึ่งขวบปีแล้ว
ผลิตผลงานแรกที่เป็นรูปธรรม เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ….ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพการศึกษาในที่สุด
ส่วนผลงานอื่นๆ ที่กำลังขยับขับเคลื่อนผลักดันต่อไปได้แก่ โรงเรียนนิติบุคคล การบริหารจัดการอุดมศึกษาโดยออก พ.ร.บ.อุดมศึกษา การจัดการศึกษาปฐมวัย และปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยกเครื่องทั้งระบบ
เป็นไปตามแนวทางการแบ่งงานเป็นคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเด็กเล็ก ด้านกองทุน ด้านครูและอาจารย์ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านโครงสร้าง
ในบรรดาประเด็นที่ขับเคลื่อนผลักดันออกมาบ้างแล้วเหล่านี้ การปฏิรูปครูและการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนหลักสูตรคงย่ำอยู่กับที่ ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน ทั้งๆ ที่การปฏิรูปสามด้านที่ว่านี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจ เป็นจุดคานงัดการปฏิรูปการศึกษา ยิ่งกว่ามาตรการเสริมทั้งหลายทั้งปวง
โดยเฉพาะการปฏิรูปครูทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ระบบการผลิต ระบบการพัฒนา และระบบการใช้ครู ซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวข้องสัมพันธ์ มีผลกระทบถึงกันและกันอย่างแยกไม่ออก
ข้อเสนอแนวทาง มาตรการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาทั้งสามส่วนนี้ถูกผลิตขึ้นมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งกี่หน กี่คณะต่อกี่คณะ ตั้งแต่ก่อนจนถึงรัฐบาลแม่น้ำห้าสายเข้ามารับผิดชอบบริหารจัดการ แต่ไม่ได้รับการตัดสินใจนำไปสู่การปฏิบัติ ทำให้ผลผลิต คือรายงานของคณะกรรมการซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียน เป็นวังวนอยู่อย่างนี้
ประเด็นปัญหาในทางการบริหารจัดการ มิได้อยู่ที่ว่า ไม่มีแนวทางมาตรการปฏิบัติที่ชัดเจน แต่อยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงคณะผู้รับผิดชอบบริหารการศึกษาบ่อย กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า คนแล้วคนเล่า ทำให้ข้อเสนอ ผลการศึกษา มาตรการปฏิบัติไม่ถูกนำไปใช้เสียที
ตัวอย่างเป็นรูปธรรม ระบบการผลิตครู ซึ่งผู้ผลิตคือสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาด้านครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และคณะสาขาศาสตร์ด้านอื่นๆ ก็ตาม ขาดหน่วยงานหรือคณะกรรมการกลางวางแผน ประสานการผลิตร่วมกันในระดับชาติ ว่าในแต่ละปีการศึกษา ประเทศไทยขาดแคลนครูวิชา (Subject Teacher) สาขาต่างๆ กับครูระดับต่างๆ ครูประถม ครูมัธยม ครูอาชีวะ (Class Teacher) เป็นจำนวนเท่าไหร่ ควรจะผลิตออกมาเพื่อรองรับแต่ละสาขาเท่าไหร่ คุณภาพมาตรฐานระดับไหน
ระบบการผลิตยังคงเป็นระบบเปิดเสรี ใครใคร่ผลิตเท่าไหร่ก็ผลิตออกมา จนกลายเป็นปัญหา บางสาขาล้นตลาด บางสาขาขาดแคลน เกิดภาวะบัณฑิตครูเฟ้อจบมาไม่มีงานทำจำนวนมาก ขณะที่สายอื่นไม่ได้จบจากสายครูโดยตรง มีความชำนิชำนาญศาสตร์ด้านนั้นๆ อาทิ วิทยาศาสตร์ ลึกซึ้งกว่าสาขาครู มีโอกาสเข้ามาเป็นครูมากขึ้น ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าหลักสูตรครูควรเป็น 5 ปี หรือ 4 ปี
ขณะที่มีความพยายามผลักดันให้ระบบการผลิตครูเป็นระบบปิดเช่นเดียวกับวิชาชีพแพทย์ ตำรวจ ทหาร ผลิตเท่ากับจำนวนครูที่ออกจากระบบไปเพราะครบเกษียณ หรือเหตุผลอื่นก็ตาม เพื่อให้นักศึกษาครูมีหลักประกันการทำงาน มีระบบการศึกษา ฝึกอบรม หล่อหลอมวิถีชีวิต จิตวิญญาณความเป็นครูที่เข้มข้น แนวทางนี้ยังไม่ได้บทสรุปที่แน่นอนอีกเช่นกัน ควรเป็นระบบปิดหรือระบบเปิด หรือทั้งสองระบบ ทั้งปิดและเปิดไปด้วยกัน
โครงการที่ดำเนินมา อาทิ ครูคืนถิ่น หรือคุรุทายาทในอดีต ซึ่งเข้าข่ายผลิตครูระบบปิด ควรทำต่อเนื่องหรือไม่ แต่ละปีจำนวนเท่าไหร่ และถ้าจะมีการผลิตระบบเปิดด้วย ควรเป็นจำนวนเท่าไหร่ สาขาใดบ้าง
ประเด็นเหล่านี้ล้วนต้องการการตัดสินใจจากฝ่ายกำหนดนโยบายการศึกษาที่ชัดเจนโดยเร็วทั้งสิ้น
อีกทั้งระบบการพัฒนาครูประจำการที่สอนอยู่ในโรงเรียนประถม มัธยมถึงอาชีวะ มีจำนวนมากที่สุด จะดำเนินกระบวนการพัฒนาต่อไปอย่างไร หลังจากโครงการคูปองครูหัวละหมื่น สะดุดหยุดลงกลับไปใช้วิธีการเดิม หน่วยงานไหนมีงบประมาณเท่าไหร่ เคยทำมาอย่างไรก็ดำเนินการกันไป ไม่แยกออกมาเป็นโครงการพัฒนาเฉพาะเป็นพิเศษเพื่อทำอย่างต่อเนื่อง จนพบแนวทางพัฒนาที่เหมาะสม เกิดผลต่อนักเรียนจริง ยิ่งกว่าความก้าวหน้า วิทยฐานะของครู เป็นหลัก
ส่วนระบบการใช้ครู ซึ่งปัญหาหลักอยู่ที่ความเป็นธรรม ธรรมาภิบาลของการแต่งตั้ง โยกย้าย สอบบรรจุทั้งหลายแหล่ จนเป็นที่มาของการใช้คำสั่งมาตรา 44 ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ปรากฏว่าตามมาด้วยปัญหาความขัดแย้งในบทบาทระหว่างผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษากับศึกษาธิการจังหวัด ยังคุกรุ่นในอีกหลายพื้นที่ซึ่งกระทบถึงการทำหน้าที่ของครู และผู้บริหารสถานศึกษา
จะหาทางออกอย่างไรให้หลุดพ้นกับดักจากปัญหาบริหารบุคคล โยกย้าย แต่งตั้งครูและผู้บริหารการศึกษาจะได้เดินหน้าต่อไปอย่างมีคุณภาพ
สามเรื่อง ปฏิรูปการผลิต การพัฒนาและการใช้ครู นี่แหละครับ กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาต้องเร่งเครื่อง ผลิตข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำสู่การปฏิบัติโดยเร็ว ก่อนที่ทุกฝ่ายจะหมดหวัง เพราะมัวไปทำเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็สำคัญควรทำ แต่เรื่องที่ควรทำก่อนมากกว่า เกือบปีที่ผ่านมา กลับล่าช้ากว่าใครเพื่อน