ภาวะ ขาไก่ ไปต่อ ก็ติด คิดเลิก ก็ไม่ง่าย

เมื่อท่านสมุหนายก ตัดสินใจกรีฑาทัพจากแคว้นวุ่ยเข้าสู่แคว้นฮันต๋ง

เพื่อปราบปรามเล่าปี่ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ในแคว้นจ๊ก

แต่ต้องมาติดหล่มสงครามอยู่ในฮันต๋ง อันเป็นปากทาง

รหัสขานเข้าออกสำหรับกองทัพในคืนหนึ่งก็คือ “ขาไก่”

Advertisement

ซึ่งเอียวสิ้ว-ปลัดทัพ ตีความทะลุทะลวงกระจ่างแจ้ง

ว่าหมายถึงอาการละล้าละลัง จะรุกต่อก็ไม่ได้ จะถอยกลับก็ใช่ที่

และนำไปสู่การสั่งให้ทหารในสังกัดจัดข้าวของเตรียมถอนทัพ

จนถูกจับตัดหัวข้อหา “รู้ดี”-รู้ใจเจ้านายเกินไป

ก่อนที่สุดท้าย โจโฉจะตัดสินใจเลิกทัพกลับเมืองหลวงในที่สุด

ภาวะ “ขาไก่” โด่งดังทั้งในประวัติศาสตร์-นวนิยาย “สามก๊ก” มาเนิ่นนาน

แต่ถึงสถานการณ์จะผ่านไปแล้วร่วม 2,000 ปี

ก็ยังมีภาวะที่คล้ายคลึงกันเกิดแล้วเกิดอีก

ขาไก่ท่อนล่าสุด อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล

27 กุมภาพันธ์

หลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แถลงว่า

หลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส และที่มา สว. ผ่านความเห็นชอบและนำความขึ้นกราบบังคมทูลในราวเดือนมิถุนายนนี้

ตนจะได้เรียกแม่น้ำ 5 สาย และพรรคการเมืองหารือกำหนดวันเลือกตั้ง

ซึ่งจะมีขึ้นไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562

แต่ทั้งนี้อยู่ในสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้นด้วย

“ขอร้องให้เลิกถามเรื่องนี้ได้แล้ว รวมถึงเรื่อง กกต.ด้วย”

คำถามคือ-ทำไมต้องถาม

คำตอบก็คือ เพราะหมาดๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

1 ในแม่น้ำ 5 สายอย่าง สนช. เพิ่งลงมติคว่ำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็น กกต.ชุดใหม่ 7 คน

แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

ซึ่งถ้าจะต้องมีกระบวนการสรรหาใหม่ อาจต้องใช้เวลาล่าออกไปอีก 6 เดือน

อันหมายถึงการเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนตามไปด้วย

แล้วจะไม่ให้ใครสงสัยหรือตั้งคำถามได้หรือ?

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ไม่ใช่แต่เฉพาะกรณีกำหนดวันเลือกตั้ง

แต่ยังรวมไปถึงอนาคตทางการเมืองของ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ เองอีกด้วย

เมื่อยังไม่แสดงตัวให้ชัดเจนต่อสาธารณชนว่า จะเดินหน้าบนเส้นทางการเมืองต่อไปหรือไม่

แม้จะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้าง เรื่องคนใกล้ชิดในรัฐบาล ออกเดินสาย “กวาดต้อน-ชักชวน” นักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นอย่างถี่ยิบ

แม้จะมี “ผู้ปรารถนาดี” พร้อมจะตั้งพรรคการเมืองรองรับเส้นทางอนาคตให้อย่างคึกคัก

ไม่ว่าจะเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้พร้อมแตกหักกับต้นสังกัดเดิมอย่างพรรคประชาธิปัตย์

จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องออกปากกล่าวขอบคุณ

หรือจะเป็นขาประจำอย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน

ฯลฯ

ก็ล้วนมาในอีหรอบเดียวกัน

27 กุมภาพันธ์ เช่นกัน

นายสมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า

การพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จแล้ว

อาจมีการปรับปรุงแก้ไขบางส่วน

แต่ยืนยันว่า ทั้งกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้ง ส.ว. ในวันที่ 8 มีนาคม

จะผ่านไปอย่างราบรื่น

อันหมายถึงถ้าไม่มีเหตุขัดข้องใดๆ “เป็นพิเศษ” ขึ้นมาอีก

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

อย่างแน่นอน

แต่สำหรับประชาชนทั่วไป

นี่ก็เป็นขาไก่อีกประเภทหนึ่ง

เมื่อประกาศการเลือกตั้งเลื่อนมาแล้ว 4 ครั้ง

จะมีการเลื่อนอีกหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image