ควรเรียนภาษาบาลี : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มีผู้อ่านท่านหนึ่งส่งอีเมล์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงผม เขียนแนะให้คนไทยควรเรียนภาษาบาลี ด้วยเหตุผล 4 ข้อ ดังนี้ครับ

1.บรรพบุรุษของไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ คำสอนของพระพุทธศาสนา (ฝ่ายเถรวาท) บันทึกไว้ด้วยภาษาบาลี

2.ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ละม้ายคล้ายกับภาษาไทยมากกว่าภาษาอื่น (เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ภาษาจีน เป็นต้น) ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เรียนกันอยู่ขณะนี้

3.เมื่อคนไทยมีความรู้ภาษาบาลีอย่างกว้างขวางและแตกฉานแล้ว ผลพลอยได้ก็คือ เยาวชนของชาติจะสนใจค้นคว้าหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพิ่มเติมด้วยตนเองต่อไป เพราะหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามีเสน่ห์อยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อตั้งใจศึกษาแล้วจะแตกฉานและมีฉันทะในการปฏิบัติด้วยตนเองโดยอัตโนมัติ

Advertisement

4.กระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดวิชาภาษาบาลีในหลักสูตรภาคบังคับตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษา และต่อยอดไปจนถึงอุดมศึกษา โดยให้ค่อยๆ เรียนทีละเล็กละน้อยและลุ่มลึกขึ้นตามลำดับ

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอ และขอเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมเล็กน้อยเกี่ยวกับภาษาบาลีดังนี้ครับ

ภาษาอินเดียโบราณมีอยู่ 2 ตระกูล คือ ตระกูลพระเวท (ภาษาไวทิกะ ต่อมาเรียกว่า ภาษาสันตสกฤษ) กับตระกูลปรากฤต (ภาษาธรรมชาติ, ภาษาพื้นบ้าน หรือภาษาตลาด) ทั้งสองตระกูลนี้จัดอยู่ในสาย “อินโดยุโรเปียน”
หรือ “อินเดีย-ยุโรป”

Advertisement

พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธที่จะใช้ภาษาตระกูลพระเวทถ่ายทอดคำสอนของพระองค์ (เหตุผลนั้นไม่ชัดแจ้งว่าเพราะเหตุใด) ทรงอนุญาตให้ใช้ภาษาตระกูลปรากฤตถ่ายทอดแทน และเชื่อกันว่า แขนงของภาษาตระกูลปรากฤตที่ใช้บันทึกพุทธวจนะนั้นคือ มาคธี (ภาษาถิ่นแคว้นมคธ) และต่อมาเมื่อพุทธวจนะถูกบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บาลี หรือตันติภาษา

ปัจจุบันชาวพุทธเรียกภาษาที่บันทึกพระไตรปิฎกสามชื่อด้วยกัน คือ ภาษามคธ, ภาษาบาลี และตันติภาษา ซึ่งก็อันเดียวกันนั่นแหละครับ

ส่วนพระไตรปิฎกของฝ่ายมหายาน ใช้ภาษาสันสกฤตแทนภาษาบาลี (ยกเว้น
นิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นแขนงของนิกายเถรวาท ที่ใช้ภาษาสันสกฤต แต่เดี๋ยวนี้นิกายนี้ก็สูญไปแล้ว)

ทั้งภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต เป็นภาษา “ฝรั่ง” เพราะฉะนั้น จะละม้ายคล้ายภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส…มากกว่าภาษาไทย แต่ก่อนผมไม่เชื่อ ต่อเมื่อไปเรียนบาลี-สันสกฤต เพิ่มเติมที่เมืองฝรั่ง เห็นเพื่อนๆ ฝรั่งมันเรียนรู้ได้รวดเร็วมาก จึงชักอยากจะเชื่อขึ้นมาบ้าง ว่างๆ ผมลองเอาคำภาษาบาลีกับภาษาอังกฤษมาเทียบๆ กันดู ในที่สุดผมเชื่อโดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว

ลองดูมาเป็นแซมเปิ้ลสักสองสามคำซิครับ สิว (เย็บ) ภาษาฝรั่งเขียนเหมือนกัน (เพียงแต่อ่านออกเสียงแผกไป) ว่า sew พนฺธ (ความผูกพัน) ตรงกับฝรั่งว่า bond เอราวัณ (ช้างเอราวัณ) นั้นก็คือภาษาฝรั่งว่า elephant นั่นเอง ลองออกเสียงดูสิครับ

คนไทยนับถือพระพุทธศาสนามานาน ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตได้มีอิทธิพลต่อภาษาไทยมาก โดยผ่านทางหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาและวรรณคดีพระพุทธศาสนา คำไทยที่ใช้สื่อสารอยู่ในชีวิตประจำวันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีรากฐานมาจากสองภาษานั้นทั้งนั้น

ไม่เชื่อลองเอ่ยชื่อและนามสกุลใครสักคนที่ท่านรู้จักสิครับ หาที่เป็นคำไทยแท้ๆ ยาก จนเราไม่คิดว่ามันเป็นภาษาอื่นแล้ว คิดว่ามันเป็นภาษาไทยทั้งนี้และทั้งนั้น เพราะเรามิได้นำมาใช้ทั้งดุ้น นำมาดัดแปลงให้เป็นแบบไทยๆ ถ้าคำเดิมมันยาวไป ออกเสียงยากนักก็ใส่การันต์ตัวท้ายให้มันสั้นเข้า (เช่น อภิวฑฺฒน เขียนใหม่ว่า อภิวัฒน์) หรือออกเสียงให้เข้ากับลิ้นไทยๆ (เช่น กมล อ่านว่า “กะมน” แทนจะอ่านว่า “กะมะละ”)

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไวยากรณ์ไม่ยาก มีข้อยกเว้นน้อยมาก ถ้าใส่ใจเรียนสักพักเดียวก็จะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เมื่อรู้บาลีกว้างขวางถึงขั้นแตกฉานแล้ว จะกลายเป็นคนรู้ภาษาไทยอย่างแตกฉานด้วย

ผมจึงเห็นด้วยที่จะวางเป็นหลักสูตรให้เด็กเรียนบาลีตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไป โดยปูพื้นฐานจากง่ายไปหายากตามลำดับ เด็กเรียนแล้วจะได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีด้วย ดีกว่าให้เด็กมันท่อง เดอะบอย = เด็กผู้ชาย เดอะเกิน = เด็กผู้หญิง เทเลวิชั่น = โทรทัศน์ โตจนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วยัง “เทเลวิชั่น” อยู่ ฝรั่งฟังแล้วสั่นหัวดิกว่า มันพูดภาษาอะไรกัน (ฮิฮิ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image