อาศรมมิวสิก : โดยสุกรี เจริญสุข : ชวนไปเชียร์‘สัณห์ จิตตการ’ นักเปียโนรุ่นใหม่แสดงกับวงทีพีโอ

ชวนไปเชียร์‘สัณห์ จิตตการ’
นักเปียโนรุ่นใหม่แสดงกับวงทีพีโอ

ในวันที่ 9-10 มีนาคมนี้ วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ได้เชิญนักเปียโนรุ่นใหม่ สัณห์ จิตตการ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาแสดงที่อาคารมหิดลสิทธาคาร ซึ่งเป็นความภูมิใจอย่างมากที่สัณห์ จิตตการ เป็นเด็กไทยที่สร้างความสำเร็จในการศึกษาดนตรี (เปียโน) ในสถาบันชั้นนำของโลก

แม้ว่าสัณห์ จิตตการ จะไม่ได้เป็นดาราระดับโลกก็ตาม แต่อย่างน้อยเขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เรื่องการศึกษาดนตรีของไทย สถาบันดนตรีนานาชาติยอมรับว่าเด็กนักเรียนดนตรีที่จบการศึกษาจากประเทศไทยมีคุณภาพ

Advertisement

สัณห์ จิตตการ เป็นนักเปียโนรุ่นใหม่ บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดตาก พ่อที่มีอาชีพเป็นหมอก็พยายามส่งลูกให้เรียนดนตรีตั้งอายุยังน้อย พ่อตระหนักดีว่าการเป็นหมอนั้นเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก อาชีพหมอเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง ต้องรับผิดชอบความเป็นความตายของชีวิตคนอื่น ผิดพลาดไม่ได้ ความผิดพลาดของหมอนั้นหมายถึงชีวิตของคนไข้ พ่อจึงอยากให้ลูกได้เรียนอะไรก็ได้ที่ลูกชอบ โดยที่ลูกไม่ต้องไปเสี่ยงในอาชีพเหมือนอาชีพของพ่อ

เมื่อพ่อรู้ว่าลูกชอบเล่นเปียโน ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะสนับสนุนให้ลูกได้เรียนเปียโนกับครูที่ดีที่สุดในสังคมไทย
โดยอาศัยวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) พ่อจะขับรถจากเมืองตากส่งลูกให้ไปเรียนเปียโนกับอาจารย์ณัฐ ยนตรรักษ์ ที่กรุงเทพฯ เมื่อสัณห์เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ได้สอบเข้าเรียนในหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ต่อมาสัณห์ จิตตการ แสวงหาและขวนขวายที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ จนได้ทุนไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยดนตรี (เปียโน) ที่สถาบันดนตรีโอเบอร์ลิน (Oberlin College and Conservatory) เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ก็สมัครได้ทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท วิชาเปียโน ที่จูลิอาร์ด (Juilliard School) ซึ่งเป็นสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก

Advertisement

อาศัยฝีมือและความสามารถที่จะพัฒนาตนไปสู่ความสำเร็จ

เมื่อสัณห์ จิตตการ เรียนจบปริญญาโทด้านเปียโนแล้ว ได้สอบชิงทุนเพื่อไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเยล ระดับปริญญาโทซ้ำอีก 2 ปี (postmaster program, Yale University School of Music) เพราะว่าทุนมีเงื่อนไขของการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยเยลนั้น มหาวิทยาลัยไม่ยอมรับการศึกษาของสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น

หากจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเยล ก็ต้องเรียนปริญญาโทใหม่ก่อน แล้วจึงจะเข้าเรียนในระดับปริญญาเอกต่อได้ ทั้งนี้ที่มหาวิทยาลัยเยลให้การสนับสนุนทุนการศึกษาทั้งหมดจนจบการศึกษา ซึ่งคนที่เข้าเรียนได้จะต้องเป็นคนเก่ง และจำนวนโอกาสของคนที่ได้เรียนก็มีจำกัดมาก

สัณห์ จิตตการ เคยกล่าวว่า “ไม่อยากเรียนต่ออีกแล้ว เพราะรู้จักอาจารย์ (ฝีมือ) หมดแล้ว” ก็ได้ให้คำแนะนำไปว่า การเรียนจบกับการเรียนไม่จบนั้นมีความหมายต่างกัน แม้เราจะเก่งสักปานใด หากเราเรียนไม่จบก็คือเรียนไม่จบ ยิ่งการกลับมาประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยนั้น มีข้อจำกัดมาก มีความจำเป็นและมีความต้องการเรื่องใบปริญญาสูง รวมถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การทำงานด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราเป็นผู้ที่มีโอกาสมากยิ่งกว่าคนอื่นๆ ดังนั้น ต้องเรียนให้จบ

ความเป็นจริงนั้น การเรียนดนตรีและการเรียนศิลปะ การได้เรียนกับครูที่ดีและเก่ง เป็นหัวใจของการเรียน “ศิษย์มีครู” เพราะครูเป็นใบเบิกทางให้กับอนาคตของนักเรียน โอกาสที่นักเรียนจะเก่งกว่าครูและมีปัญหากับครูก็มีสูง เพราะถ้าครูใจแคบโอกาสที่นักเรียนจะไม่จบก็มีสูงเช่นกัน

สัณห์ จิตตการ ได้ครูที่ดี เขามีการวางแผนชีวิตการเป็นนักดนตรีเหมือนคนอื่นๆ กล่าวคือ ต้องตระเวนแข่งขัน ไต่ระดับหาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ที่ไหนมีการประกวดเปียโน สัณห์ก็จะลงสนามไปแข่งที่นั่น จนมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักฝีมือในวงการ ทั้งนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากครูสอนเปียโนอย่างดียิ่ง เพราะทุกสถาบันที่สัณห์เข้าไปเรียนนั้นสอบเข้ายาก ต้องเก่งและโดดเด่นจริงๆ จึงจะสอบผ่านเข้าเรียนได้ ทุกสถาบันก็มีครูเปียโนที่มีชื่อเสียงอยู่ในตำนานทั้งสิ้น

ครูเปียโนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ดนตรีในปัจจุบัน ครูเปียโนของสัณห์ก็สนับสนุนให้สัณห์ จิตตการ ออกตระเวนแข่งขันเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับชีวิต ซึ่งสัณห์เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาดนตรีให้กับเด็กไทยรุ่นต่อไปด้วย เพราะสถาบันที่สัณห์ผ่าน เป็นตำนานการศึกษาดนตรีของโลก

ในวันที่ 9-10 มีนาคมนี้ สัณห์ จิตตการ ได้รับเชิญแสดงเปียโนกับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย โดยจะเล่นเพลงเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 1 ของรัคมานินอฟ (Sergei Rachmaninoff) ถือเป็นรางวัลที่สำคัญในชีวิตสำหรับนักเปียโนไทย แม้จะผ่านการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมาหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่การปรากฏตัวในการแสดงเดี่ยวที่บ้านเกิดกับวงออเคสตรา ก็เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งของชีวิตด้วย

เสียงปรบมือในอาคารมหิดลสิทธาคาร ก็จะบอกให้สัณห์ได้รู้ว่า การเป็นนักเปียโนที่คนไทยภูมิใจนั้นสำคัญยิ่ง การเป็นพระเอกเดี่ยวเปียโน เป็นความประทับใจของคนไทยนั้นมีความหมายนัก เพราะเด็กไทยรุ่นหลังอีกจำนวนมาก กำลังมองหาคนต้นแบบ (Role Model) ซึ่งเป็นพระเอกในดวงใจของเด็กและเป็นเป้าหมายของชีวิต อย่างน้อยเด็กไทยรุ่นหลังจะได้ให้เหตุผลกับพ่อแม่ได้ว่าอยากเล่นเปียโนให้เก่งเหมือนอย่างสัณห์ จิตตการ

สัณห์ จิตตการ เป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของสังคมไทย ทั้งเป็นบุคคลตัวอย่างและเป็นต้นแบบให้คนอื่นเดินตาม เวทีที่แสดงกับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย แม้จะเป็นเวทีที่อยู่ในวงจำกัด แต่ก็เป็นประตูให้กับอาชีพดนตรีในอนาคตที่สำคัญได้ ยิ่งโลกปัจจุบันต้องอาศัยสื่อดิจิทัล (digital) ทำให้คนทั้งโลกค้นหาสิ่งมหัศจรรย์ที่ซ่อนเร้นได้ทั่วทุกมุมโลก อย่างน้อยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยก็เป็นวงดนตรีที่อยู่ในแผนที่โลกของดนตรีคลาสสิกแล้ว

การแสดงของสัณห์ จิตตการ ครั้งนี้ เชื่อว่านักเรียนเปียโนและนักเปียโนในเมืองไทยต้องจับตามอง เป็นก้าวสำคัญของสัณห์ จิตตการ นอกจากนี้ก็จะเป็นแรงบันดาลใจ เป็นสะพานให้คนต่อๆ ไปก้าวข้าม สิ่งที่เคยคิดว่าเด็กไทยทำไม่ได้หรือต้องใช้เวลาอีกนาน วันนี้เด็กไทยทำได้แล้ว และวันนั้นก็มาถึงแล้วด้วย

อยากเชิญชวนมิตรรักแฟนเพลงไปให้กำลังใจกับสัณห์ จิตตการ ไปให้กำลังใจวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย และไปให้กำลังใจประเทศไทยที่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยด้วย

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image