จากดุสิตธานีถึงโรงเรียนประชาธิปไตย โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

การปกครองระบอบประชาธิปไตยเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2475 แต่แนวคิดความเป็นประชาธิปไตยได้เกิดมาก่อนนี้ กล่าวคือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ทรงดำเนินรัฐประศาสโนบายสร้างพื้นฐานการปกครองระบอบนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้แก่ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เพื่อถวายคำปรึกษาและความเห็นเกี่ยวกับการปกครอง มีการปฏิรูประบบราชการ และที่สำคัญ คือการเลิกทาส อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) กระแสความต้องการระบอบประชาธิปไตยทวีความรุนแรงขึ้น เกิดกบฏ ร.ศ.130 ซึ่งวางแผนให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดีพระองค์ทรงตระหนักถึงความรู้ความเข้าใจของพสกนิกรชาวสยามในด้านสิทธิและหน้าที่ตามรูปแบบการปกครองใหม่ จึงได้ทรงจัดตั้งเมืองสมมุติขึ้นมีชื่อว่า “ดุสิตธานี” โดยตั้งอยู่ภายในบริเวณพระราชวังดุสิต เพื่อทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีพระราชปณิธานจะพระราชทานประชาธิปไตยแก่ปวงชนชาวสยาม แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงมีแนวคิดสานต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน แต่เกิดปฏิวัติเสียก่อนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่คณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อจำเป็นต้องใช้การปกครองระบอบใหม่ ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย รัฐบาลสมัยนั้นจึงต้องเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชน และการปกครองระบอบประชาธิปไตยยังผลให้เกิดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เน้นการเรียนการสอนด้านนี้ คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) แต่ความรู้ความเข้าใจของประชาชนยังมีข้อจำกัด การเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน ไม่เกิดผลเท่าที่ควรจะเป็น เกิดปัญหาทางการเมือง การเลือกตั้ง และความขัดแย้งมากขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ใน พ.ศ.2551 องค์กรนี้มีภารกิจสำคัญคือการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมือง (civic education) โดยคณะกรรมการชุดต่างๆ ของสภาพัฒนาการเมืองมุ่งส่งเสริมความรู้แก่ประชาชน และขยายผลต่อมาเป็นโรงเรียนประชาธิปไตย

โรงเรียนประชาธิปไตย มีวัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองสำหรับเยาวชนจากการปฏิบัติจริง ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนตัวอย่างในระดับท้องถิ่นทุกภูมิภาค และส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนการสอนประชาธิปไตยในบริบทของโรงเรียนและชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่

เงื่อนไขสำคัญของโรงเรียนประชาธิปไตยจะเน้นไปตามข้อตกลงระหว่างสภาพัฒนาการเมือง และโรงเรียนโดยความเห็นชอบของชุมชนและหน่วยงานต้นสังกัด มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการพื้นฐาน 3 ประการ คือ การสอดแทรกสาระเรื่องประชาธิปไตยในการเรียนการสอน จัดทำกิจกรรมที่สร้างสำนึกความเป็นพลเมืองที่นักเรียนทั้งโรงเรียนได้มีส่วนร่วม และมีโครงการร่วมมือกับชุมชนไม่น้อยกว่า 3 โครงการ

Advertisement

การคัดเลือกโรงเรียนประชาธิปไตย ต้องเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีศักยภาพในการจัดทำโครงการส่งเสริมประชาธิปไตย มีผลงานดีเด่นในการทำกิจกรรม ผู้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนต้องให้ความเห็นชอบ และมีสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองประสานงานในพื้นที่ด้วย

การดำเนินงานใช้งบประมาณของสภาพัฒนาการเมืองในการจัดทำโครงการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือด้วยการทำบันทึกข้อตกลง มีการติดตามประเมินผลเพื่อเป็นตัวอย่างในการนำเสนอผลงานระดับประเทศ ปัจจุบันได้คัดเลือกโรงเรียนประชาธิปไตยรวม 5 พื้นที่ (จาก 5 ภูมิภาค) และจะดำเนินการสร้างโรงเรียนประชาธิปไตยต่อไป

หากโรงเรียนใดสนใจจะเข้าร่วมเป็นโรงเรียนประชาธิปไตยหรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อสภาพัฒนาการเมือง หมายเลขโทรศัพท์ 0-2141-9695 โทรสาร 0-2143-8205 หรือ www.pdc.go.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image