ภาพเก่าเล่าตำนาน เรื่องพระปรีชากลการ…ขุนนางสยามมีเมียฝรั่ง โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

แต่ครั้งโบราณนานโข ชาวตะวันตกผิวขาวแล่นเรืออ้อมโลก ข้ามน้ำ ข้ามทะเลเข้ามาติดต่อค้าขาย ทำราชการในรั้วในวังอยุธยา ชาวสยามเรียกคนเหล่านี้ว่า “ฝรั่ง” ซึ่งมีรูปร่าง สีผิว สีผม หน้าตาหนวดเคราแตกต่างจากชาวจีน แขกเปอร์เซีย ญี่ปุ่น

ฝรั่ง แขกเปอร์เซีย ญี่ปุ่น จีน ที่ทยอยกันเข้ามาติดต่อค้าขายแล้วบ้างก็เดินทางออกไปกับเรือ บ้างก็มาลงหลักปักฐานในแผ่นดินสยาม มีเมียเป็นชาวสยาม มีลูกหลานสืบตระกูลกันมาถึงปัจจุบันหลายตระกูล

ปุจฉา คือหนุ่มสยามที่ได้เมียเป็นแหม่มฝรั่งล่ะ มีบ้างมั้ย?

ความรักระหว่างหนุ่มสยามกับแหม่มฝรั่ง มีครับ

Advertisement

รักแท้ของหนุ่มสาวคู่นี้ ต่อมากลายเป็นตำนานรักแหวกม่านประเพณี เป็นหนังสือขายดีดังกระหึ่มอังกฤษและในยุโรป

โลกสีชมพูและการพลัดพรากอย่างไม่มีวันกลับของขุนนางหนุ่ม ชื่อพระปรีชากลการและแฟนสาว แฟนนี่ น็อกซ์ ถูกเรียบเรียงเป็นหนังสือนิยายเรื่อง Fanny & Regent of Siam (แฟนนี่และผู้สำเร็จราชการแห่งสยาม) โดย อาร์.เจ.มินนี่ ส่วนในประเทศไทยได้มีการแปลและตีพิมพ์หนังสือดังกล่าว มีความเห็นเชิงวิเคราะห์หลายสำนัก ซึ่งน่าติดตามยิ่งนัก….

ขอพาท่านผู้อ่านมาสืบเสาะเจาะหาความรักของขุนนางหนุ่มสยามกับแหม่มอังกฤษในรัชสมัยในหลวง ร.5 ครับ

ในปี พ.ศ.2414 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.4 ชาวบ้านหนองสังข์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ตื่นตระหนกในโชคลาภที่ฟ้าประทาน มีคนพบเกล็ดทองคำ จึงแห่กันไปใช้ “เลียง” ร่อนหาแร่ทองคำ นำมาขาย ข่าวเรื่องทองคำที่เกลื่อนกลาดจากกบินทร์บุรีแพร่กระจายออกไปยังพระมหานคร

พระปรีชากลการเป็นบุตรของพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) กับคุณหญิงพลอย ไกรฤกษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 8 คน เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2384 เป็นบุตรคนที่สอง ต่อมาบิดาได้นำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็ก

ในหลวง ร.4 ได้ทรงพระกรุณาฯส่งเด็กหนุ่มคนนี้ไปศึกษาวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ที่สกอตแลนด์ ประเทศอังกฤษ ในระหว่าง พ.ศ.2401-2404 ท่านสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมเมื่ออายุเพียง 20 ปี แล้วจึงเดินทางกลับมารับราชการ

นับว่าเป็นบัณฑิตวิศวกร รุ่นแรกๆ ของสยามที่ส่งไปศึกษาต่างประเทศ เพื่อกลับมาปฏิรูป สร้างสยามให้ทันสมัย

สยามประเทศกำลังเร่งปรับเปลี่ยน สะสางกิจการในประเทศในทุกมิติ เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการประการหนึ่งคือ การใช้เหรียญกษาปณ์แทนเงินพดด้วง

ในหลวง ร.4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยากระสาปน์กิจโกศลตั้งโรงกษาปณ์ผลิตเงินเหรียญขึ้นแทนเงินพดด้วง และโปรดเกล้าฯให้พระปรีชากลการ วิศวกรหนุ่ม ไปช่วยงานบิดาที่กรมกระษาปณ์สิทธิการ

พระปรีชากลการเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ หัวคิดทันสมัย ชอบประดิษฐ์คิดค้น ชอบคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศคล้ายบิดา จึงเป็นที่โปรดปรานของในหลวง ร.4 ท่านเป็นคนเก่ง มีผลงานแปลกใหม่เสมอ เช่น ประดิษฐ์ซุ้มจุดด้วยไฟแก๊สถวายในงานเฉลิมพระชนมพรรษา และเป็นนายงานสร้างตึกแถวบนถนนบำรุงเมือง

พระปรีชากลการถวายงานทั้งปวงในกิจการ ด้านเครื่องจักรกล เครื่องยนต์ และยังรับราชการต่อเนื่องไปในสมัยในหลวง ร.5

ในหลวง ร.5 ไว้วางพระทัย โปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระปรีชากลการเป็นสุปรินเทนเด็นอินยีเนีย (Superintendent Engineer – หัวหน้าช่างเครื่อง) ควบคุมเรือ รับผิดชอบเครื่องยนต์เรือพระที่นั่งบางกอก เสด็จประพาสต่างประเทศตั้งแต่ต้นรัชกาลเดินทางไป สิงคโปร์ ปีนัง มะละกา มะละแหม่ง ย่างกุ้ง กัลกัตตา อัครา มะริด และบอมเบย์ในอินเดีย เป็นข้าราชบริพารที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้าหลวง

ในสมัยในหลวง ร.5 เรื่องของการทำเหมืองแร่ทองคำ เป็นเรื่องที่ชาวสยามยังทำได้แต่เพียงเอาเลียงไปร่อนจากตะกอนดินในลำธาร ส่วนการทำเหมืองแบบขุด แบบเจาะลงไปใต้ดิน ชาวสยามยังทำได้แบบจำกัด ไม่มีเครื่องมือและความชำนาญ

เมื่อทั่วโลกยอมรับมูลค่าของทองคำเป็นมาตรฐานทางการเงิน การคลัง ใช้ทองคำกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา สยามก็เป็นดินแดนสุวรรณภูมิมาแต่เก่าก่อน จึงมุ่งหน้าแสวงหาทรัพย์ในดิน สินในน้ำ

ในปี พ.ศ.2416 ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯให้พระปรีชากลการไปดูแลการทำเหมืองแร่ทองคำที่เมืองกบินทร์บุรี เป็นการทำงานตรงกับวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ที่ศึกษามาจากต่างประเทศ และเพื่อให้การทำงานกระชับแน่น คล่องตัว ต่อมาโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี ในปี พ.ศ.2419

ชีวิตส่วนตัวของพระปรีชากลการเป็นคนกว้างขวาง ไฮโซในสังคมกรุงเทพฯ เนื่องจากมีพื้นฐานทางสังคม ครอบครัว และการศึกษาที่ไม่เป็นสองรองใคร ซึ่งต่อมาพระปรีชากลการก็ได้รู้จักกับแฟนนี่ น็อกซ์ (Fanny Knox) ลูกสาวแสนสวยของโทมัส ยอร์ช น็อกซ์
(Thomas Knox) กงสุลใหญ่อังกฤษประจำกรุงเทพฯ

สัมพันธภาพของขุนนางหนุ่มดีกรีวิศวกรรมเหมืองแร่จากสกอตแลนด์กับสาวอังกฤษพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งสองฝ่ายซึ่งนิยมกีฬาขี่ม้า ได้มีโอกาสขี่ม้าเล่นเพื่อออกกำลังกายในเวลาเช้า ฝ่ายชายอยู่ในกลุ่มข้าราชบริพารที่ขี่ม้าตามเสด็จในหลวง ร.5 ส่วนฝ่ายหญิงก็ขี่ม้าเล่นกับนายน็อกซ์ผู้เป็นบิดา

แม้ว่าฝ่ายชายจะมีครอบครัวอยู่แล้ว ในช่วงแรกพบกัน จึงอยู่ในฐานะมิตรสหาย แต่ต่อมาเมื่อภรรยาพระปรีชากลการถึงแก่กรรม การรู้จักกันฉันเพื่อนทำให้แฟนนี่ น็อกซ์ มีโอกาสได้เข้าไปแสดงความเห็นอกเห็นใจ และสานความสัมพันธ์จนพัฒนากลายเป็นความรักในที่สุด

การสมรสของขุนนางหนุ่มพ่อม่ายกับแหม่มลูกสาวกงสุล เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่ปลื้มของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ทั้งสองมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อ จำรัส อมาตยกุล หรือเฮนรี สเปนเซอร์ (Henry Spencer) ใช้ชีวิตบางส่วนที่กรุงเทพฯ และบางครั้งที่ปราจีนบุรี

ตัดฉากกลับไปที่การทำเหมืองแร่ทองคำที่พระปรีชากลการรับผิดชอบที่กบินทร์บุรี

พระปรีชากลการ เจ้าเมืองปราจีนบุรี สร้างโรงงานติดตั้งเครื่องจักรเพื่อถลุงแร่ทอง โครงการนี้น่าจะผลิดอกออกผลเป็นเงินมหาศาล มีการเชิญวิศวกรต่างชาติมาเป็นที่ปรึกษา เพื่อออกแบบสร้างโรงถลุงทอง และโรงจักรต่างๆ อย่างเต็มพิกัด

เมื่อโรงงานแล้วเสร็จ พระปรีชากลการสั่งให้คนงานถลุงแร่ทอง (ตรงบริเวณสถานที่ใกล้เรือนจำปัจจุบัน จะเห็นว่ามีปล่องไฟ เครื่องจักรอยู่ริมกำแพงเรือนจำ : ดูภาพประกอบ)

การถลุงแร่ทองคำมีขั้นตอน โดยต้องขนแร่จากบ่อทองเมืองกบินทร์บุรีด้วยเรือ แต่การขนส่งมีปัญหาเพราะแม่น้ำตื้นเขินเป็นช่วงๆ จึงต้องไปเกณฑ์แรงงานมาเพิ่มเติม

แรงงานบางส่วนทำงานได้ไม่ราบรื่นนัก การทำงานมีปัญหาไม่เป็นไปตามกรอบเวลา เริ่มมีคนงานล้มป่วย บ้างก็หนีหาย

เรื่องคอขาดบาดตายที่ทุกข์แสนสาหัสของพระปรีชากลการ คือเงินหลวงที่เบิกมา เริ่มร่อยหรอ ยังไม่มีผลกำไรคืนคลัง

พระปรีชากลการเลือกที่จะใช้มาตรการเด็ดขาดในการทำงาน มีการลงโทษคนงานขนแร่ ในเวลาต่อมามีคนงานเสียชีวิตจากการถูกลงโทษ พระปรีชากลการถูกกล่าวหาว่า “ฆ่าคนตายและทารุณกรรมแก่คนไทยที่เมืองกบินทร์บุรี”

ทางราชการเริ่มการสอบสวน เจ้าเมืองปราจีนบุรีที่กำลังทำงานถลุงแร่ทองคำถูกจับมาล่ามโซ่ตรวน

มร.น็อกซ์ ผู้เป็นพ่อตา ดำรงตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ จึงเข้ามาขอเจรจากับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และสมุหพระกลาโหมเพื่อขอให้ปล่อยลูกเขยของตนและให้ดำรงความยุติธรรม

มร.น็อกซ์ทราบดีว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นบุคคลสำคัญอยู่เบื้องหลังคดีนี้ “ข้อขัดแย้งเรื่องทองคำ” พัฒนาแปรผันไปเป็นการเมืองระหว่างประเทศระหว่างสยามกับอังกฤษ จึงเกิดเป็นข้ออ้างที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีพระประสงค์ที่จะรวบรัดตัดความเร่งรัดคดีให้มีข้อยุติเร็วที่สุด

มร.น็อกซ์ติดต่อกลับไปรัฐบาลอังกฤษ ขอให้นำเรือรบที่ชื่อ Foxhound เข้ามาพระนคร ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2422

ในหลวง ร.5 ทรงปรึกษาหารือกับขุนนางผู้ใหญ่ ในที่สุดเห็นพ้องว่าต้องส่งคณะทูตพิเศษมีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นหัวหน้านำเรื่องราวความเป็นจริงไปชี้แจงให้รัฐบาลอังกฤษเข้าใจ

ในระหว่างที่เหตุการณ์เริ่มบานปลาย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้กราบบังคมทูลอีกครั้งขอให้ในหลวง ร.5 ทรงใช้มาตรการเด็ดขาดโดยเร็ว

เรื่องราวที่ผู้เขียนสืบค้นมา มีเบื้องหลัง เงื่อนงำหลากหลายรูปแบบนะครับ มีการเปิดเผยถึงความไม่ลงรอยกัน ระหว่างผู้มีอำนาจในแผ่นดิน 2 ตระกูลที่ไม่ลงรอยกันมาก่อน มีการใส่ร้ายป้ายสี มีการแต่งโจทก์ ตั้งข้อหาฉกรรจ์พระปรีชากลการแบบดิ้นไม่หลุด และ 1 ข้อหาที่พระปรีชากลการต้องรับโทษ คือการสมรสกับชาวต่างชาติ

มีข้อมูล (จากบางสำนัก) ที่รับทราบเป็นการภายในว่า แท้ที่จริงแล้วสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีความประสงค์ที่จะให้แหม่มสาวแฟนนี่มาแต่งงานกับบุตรชายคนหนึ่งของท่าน เพื่อผูกพันสายสัมพันธ์ระหว่างสกุล บุนนาค และกงสุลอังกฤษ (ซึ่งผู้เขียนไม่ขอก้าวล่วงที่จะนำเสนอในรายละเอียด)

คดีพระปรีชากลการเป็นคดีที่ทุกคนในสยาม จับตามองอย่างจดจ่อถึงผลการตัดสิน เพราะรู้อยู่ว่า “ช้างสารชนกัน”

กระบวนการไต่สวนเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จรวดเร็ว พระปรีชากลการถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อ พ.ศ.2422 ที่ จ.ปราจีนบุรี

คุณจิราพร กิ่งทัพหลวง อ้างบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และความทรงจำของรองอำมาตย์โทหลวงบำรุงรักษ์นิกร หรือบุตร อเนกบุณย์ ว่าเช้าวันนั้นได้มีเรือนำตัวพระปรีชากลการมาจอดที่ทำเนียบหน้ากำแพงเมืองฝั่งตลาดปราจีนบุรี

ส่วนจดหมายเหตุโหรของจมื่นเก่งศิลป์ บันทึกเรื่องการประหารชีวิตพระปรีชากลการไว้ว่า

“วันเสาร์ขึ้น 9 ค่ำ เดือนอ้าย จ.ศ.1241 วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2422 เพลา 11 ทุ่ม เอานายสำอางลงเรือไฟไปเมืองประจิน วันจันทร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือนอ้าย (วันที่ 28 พฤศจิกายน) ถึงเมืองประจิน เพลาเช้า 4 โมง เพลาบ่าย 4 โมง สำเร็จโทษนายสำอาง”

นาทีสุดท้ายของชีวิตก่อนถูกประหาร พระปรีชากลการได้แสดงความเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องถูกตัดสินประหารชีวิต ดังที่รองอำมาตย์โทหลวงบำรุงรัฐนิกรได้บันทึกไว้เป็นความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนประหารชีวิตพระปรีชากลการ ความว่า

“พระปรีชาฯ เอาผ้าขึ้นเช็ดหน้า แล้วทิ้งลงดิน พูดออกมาอย่างน่าสงสารว่า โบสถ์สร้างขึ้นยังไม่ทันแล้ว เพราะได้เมียฝรั่ง ตัวจึงตาย”

จากคำพูดนี้ แสดงให้เห็นว่าพระปรีชากลการทราบสาเหตุของการประหารเป็นอย่างดีว่า เกิดจากการพิชิตหัวใจและแต่งงานกับแฟนนี่น็อกซ์ เป็นผลให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งมีอำนาจสูงส่งในแผ่นดินโกรธเคือง

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ยังทรงพระชนม์ชีพไม่มากนัก ไม่อาจทัดทานบารมีของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ พระปรีชากลการจึงต้องถูกประหาร (มีบันทึกจดหมายตอบโต้-แสดงความเห็น)

การทำเหมืองทองคำที่กบินทร์บุรียังคงดำเนินต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นบริษัทต่างชาติ 2 บริษัท มาดำเนินการคือ บริษัท The Kabin Syndicate of Sime และ Societedes Mine de Kabin แต่ภายหลังก็หยุดดำเนินการเพราะไม่คุ้มค่า

26 พฤศจิกายน หลังเหตุการณ์อันน่าระทึกใจในแผ่นดินสยามผ่านไปไม่นาน มร.น็อกซ์กงสุลใหญ่อังกฤษประจำกรุงเทพฯ ถูกเรียกตัวกลับอังกฤษ และได้พาครอบครัวเดินทางออกจากสยาม

แหม่มสาวแฟนนี่พาบุตรชายที่เกิดจากพระปรีชากลการ คือ จำรัส สเปนเซอร์ และบุตรชายหญิงของพระปรีชากลการ ซึ่งเกิดจากคุณลม้าย (ภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้ว) คือ ตระกูลและอรุณ เดินทางกลับไปอังกฤษด้วย

เมื่อเวลาผ่านไป ตระกูลและอรุณเติบโตขึ้นจึงได้เดินทางกลับสู่สยาม และเข้ารับราชการเป็นล่ามในพระราชสำนักฝ่ายใน ส่วนจำรัสเสียชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่มอายุเพียง 21 ปี

เพื่อเป็นการรำลึกถึงความดีงามของพระปรีชากลการ ประชาชนชาวปราจีนบุรีได้พร้อมใจกันสร้างศาลเจ้าพ่อสำอาง ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างของอุโบสถในวัดหลวงปรีชากูล ซึ่งเป็นวัดที่พระปรีชากลการได้สร้างขึ้น โดยในปัจจุบัน ศาลเจ้าพ่อสำอางจัดสร้างขึ้นใหม่บริเวณด้านหน้าของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี

ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรมของปราจีนบุรีในเว็บบันทึกไว้ว่า

“เจ้าพ่อสำอาง คือพระปรีชากลการ เดิมชื่อ สำอาง อมาตยกุล เมื่อปี พ.ศ.2419 ได้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรีอยู่ 4 ปี ได้ทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินจังหวัดปราจีนบุรี เช่น การสร้างถนน สถานที่ราชการ อาคารต่างๆ โรงงานเครื่องจักรสำหรับทำทอง บูรณะและสร้างอุโบสถวัดหลวงปรีชากูล และถึงแม้ว่าดวงชะตากรรมของท่านจะต้องโทษทัณฑ์ด้วยการถูกประหารชีวิต แต่ประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรีก็ยังเคารพบูชาจนถึงทุกวันนี้”

มีนักประวัติศาสตร์ติดตาม ให้ความเห็น หลักฐานเพิ่มเติม เปิดเผยเบื้องหลังคดีประวัติศาสตร์นี้อย่างหลากหลายที่เป็นประโยชน์ต่อในการศึกษา ท่านผู้อ่านกรุณาติดตามเพิ่มเติมตามอัธยาศัย

ผู้เขียนเดินทางไปหาข้อมูลในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี พบสิ่งก่อสร้าง สถานที่จริง ภาพถ่ายและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตำนานรักที่จบลงด้วยความเศร้าอาดูร ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image