ไม่ใช่ 10 มกรา โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีท่าทีอย่างไร ต่อการตั้งพรรคใหม่ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ 

สรุปจากคำให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ดังนี้

1) พรรคการเมืองใหม่ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งเป็นปกติธรรมดา

2) นายสุเทพให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่พรรค ปชป. ปกติจะสนับสนุนหัวหน้าพรรค ปชป.  เมื่อนายสุเทพมองว่าไม่มีพรรคการเมืองที่จะมารองรับแนวทางการสนับสนุนนี้ จึงสามารถจะไปตั้งพรรค เพื่อที่จะผลักดันเป้าหมายตรงนี้ได้

Advertisement

3) จุดยืนของพรรค ปชป.ยังเหมือนเดิม คือต่อต้านการคอร์รัปชั่น ต่อต้านระบอบเผด็จการที่แฝงตัวเข้ามาในประชาธิปไตย และต้องการเห็นการปฏิรูป (ที่แตกต่างจากรัฐบาลขณะนี้ทำ)

4) ฐานเสียงคงจะถูกแบ่งไปทางนายสุเทพ เป็นเรื่องธรรมดา มีพรรคการเมืองใหม่ เขาก็ต้องมาแสวงหาการสนับสนุน สมาชิกพรรค หรือว่าผู้สนับสนุนพรรค รวมทั้งผู้ที่เคยลงคะแนนให้พรรค ปชป. ต้องมีการทบทวนการตัดสินใจอยู่เป็นระยะๆ อยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องปกติ และพรรค ปชป.ก็เผชิญกับภาวะอย่างนี้มาหลายครั้ง

5) (หลังเลือกตั้ง) ถ้า ปชป.ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเยอะ ต้องเอาแนวทางของเราเป็นตัวตั้ง ใครจะมาทำงานกับเราก็ต้องสนับสนุนแนวทางเรา ถ้าไม่สนับสนุน จะ(ร่วม)ตั้งรัฐบาลไม่ได้

Advertisement

6) ถ้าหากว่า ปชป.ไม่ได้รับการสนับสนุนมาเยอะ คนอื่นได้รับการสนับสนุนมาเยอะกว่า ปชป.ต้องเจียมตัวรอดูว่าเงื่อนไขของเราจะมีบทบาทอย่างไร ก็ต้องมาว่ากันต่อไป

7) สมมุติว่าพรรคของนายสุเทพชนะมากกว่า แล้วหนุนคนนอกเป็นนายกฯ ปชป.จะร่วมไหม เรื่องนี้พรรคต้องมาประชุมกันว่า ตกลงเราจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ จะไปร่วมรัฐบาลหรือไม่ จะเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ ต้องดูจากทิศทางของการนำพาบ้านเมืองในขณะนั้นเป็นหลัก

พิจารณาจากคำพูดของนายอภิสิทธิ์แล้ว

ไม่ได้มีท่าทีเป็น “ลบ” กับนายสุเทพและพรรค กปปส.เท่าไหร่นัก

ดังนั้น ที่มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ปชป.ตอนนี้คือกรณี “10 มกราคม” ภาค 2 นั้นคงไม่ใช่

เพราะกรณี 10 มกราคม เป็นการแย่งชิงอำนาจในพรรค เมื่ออีกฝ่ายแพ้ ก็แตกตัวออกไป ถือเป็นภาวะ “แตกร้าว-แตกแยก”

แต่ในกรณี กปปส. ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้ง

ตรงกันข้าม “ปชป.กับ กปปส.” เป็นหน่อเนื้อเดียวกันและเกื้อหนุนกันมาโดยตลอด

จะ “แตกต่าง” ก็คือ “เป้าหมาย” ในอนาคต โดย กปปส.สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

แต่ ปชป.ในฐานะ “พรรค” คงประกาศเช่นนั้นไม่ได้ ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค

จึงแยกกันเดิน และเป็น “หลักการ” ตามคำพูดของนายอภิสิทธิ์ นั่นก็คือ หาก ปชป.ได้เสียงข้างมาก ก็ต้องยึดแนวทางของพรรคเป็นหลัก

แต่ถ้าไม่ใช่ นายอภิสิทธิ์ใช้คำว่าก็ต้อง “เจียมตัว”

และพูดกว้างๆ-มากด้วยความยืดหยุ่นว่า รอดูเงื่อนไข ว่าเราจะมีบทบาทอย่างไร

ไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่ร่วมกับนายสุเทพ 

ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาจุดยืนของ ปชป. แม้นายอภิสิทธิ์จะบอกว่าต่อต้านระบอบเผด็จการ แต่ก็มีเงื่อนไขพ่วงท้ายด้วยว่า “ที่แฝงตัวเข้ามาในประชาธิปไตย” ด้วย

ซึ่งตีความแล้ว น่าจะหมายถึงระบอบทักษิณมากกว่า

ส่วนเผด็จการที่เข้ามายึดอำนาจกันตรงๆ และวางระบบสืบทอดอำนาจแบบชัดเจนนั้น –ไม่ชัดเจนนักว่า นายอภิสิทธิ์ต่อต้านหรือไม่

แต่กระนั้น นายอภิสิทธิ์ดูเหมือนจะไม่ได้ปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ แบบปฏิเสธ นายทักษิณ ชินวัตร

เพราะเมื่อดูจากข้อ 7 ข้างต้น

นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ปิดประตูตาย

ตรงกันข้าม เปิดประตูอ้าซ่า พร้อม “ให้พรรคพิจารณาว่าจะเอาอย่างไร”

ซึ่งสรุปง่ายๆ ว่าเรามีโอกาสเห็น “มวลมหาประชาธิปัตย์” นะพี่น้องเอ้ย

……………

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image